เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เป็น ผืนป่า ที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ขึ้นทะเบียนเป็น มรดกโลกทางธรรมชาติ โดยองค์การยูเนสโกเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2534
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มีลักษณะเป็นผืนป่าที่มีความยาวจากเหนือจรดใต้วัดเป็นเส้นทางตรงมากกว่า 100 กิโลเมตร มีพื้นที่กว่า 1,737,587 ไร่ แต่ได้ผนวกรวมเพิ่มขึ้นอีก 2 ครั้ง จนขยายเป็นประมาณ 1,800,000 ไร่ หรือ 2,880 ตารางกิโลเมตร ในปัจจุบัน ทางทิศเหนือของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งติดกับอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางรวมถึงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ในจังหวัดตากและกาญจนบุรี
ส่วนทิศใต้ติดกับอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี รวมถึงอุทยานแห่งชาติพุเตย จังหวัดสุพรรณบุรี มีเพียงพื้นที่ด้านทิศตะวันออกเท่านั้นที่อยู่ติดกับชุมชน 3 อำเภอ คือ อำเภอบ้านไร่, อำเภอลานสัก และอำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี
เดิมทีผืนป่าแห่งนี้ เป็นพื้นที่ที่ได้รับสัมปทานให้ตัดไม้ แต่กลับไม่เคยถูกบุกรุก จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2508 จึงเริ่มมีการสำรวจทางวิชาการอย่างจริงจัง และได้รับการประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเมื่อปี พ.ศ. 2515 เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลำดับที่ 5 ของไทย
ลักษณะภูมิประเทศมีทั้งทิวเขาและที่ราบ โดยเป็นแนวเขาของทิวเขาถนนธงชัยและตอนเหนือของทิวเขาตะนาวศรี มีความหลากหลายทั้งภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และความชื้น อันเป็นที่มาของความหลากหลายทางชีวภาพ จนกล่าวได้ว่าที่นี่มีป่าเกือบทุกประเภท ยกเว้นป่าชายเลนและป่าชายหาด หรือป่าพรุน้ำจืด เท่านั้น
โดยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งถือเป็นพื้นที่เงาฝน เนื่องจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรที่อยู่ทางทิศตะวันตกเป็นพื้นที่ ๆ สูงกว่าระดับน้ำทะเล ดังนั้น เมื่อฝนมาปะทะที่ด้านทิศตะวันตกรวมถึงตะวันตกเฉียงใต้ก็จะตกที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรโดยข้ามเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งไป จึงทำให้ป่าที่นี่ส่วนใหญ่ไม่ใช่ป่าดิบ แต่เป็นป่าเบญจพรรณ โดยเฉพาะป่าไผ่
เมื่อมี “ป่า” ก็มี “น้ำ” และน้ำคือ “ชีวิต”
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เป็นต้นน้ำของแหล่งน้ำสำคัญ 3 สาย คือ
ความหลากหลายทางชีวภาพของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยสำคัญของสัตว์ป่าหายากหลายชนิด บางชนิดอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ เช่น สมเสร็จ เก้งหม้อ เลียงผา กระทิง วัวแดง ควายป่า ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่ทางธรรมชาติแห่งสุดท้ายแล้วในประเทศไทย
ผืนป่าแห่งนี้ ยังเป็นแหล่งอาศัยของเสือโคร่งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และได้แพร่ขยายไปยังพื้นที่ป่าใกล้เคียงกันด้วย จากการศึกษาพบว่ามีเสือโคร่งประมาณ 70–80 ตัว จากปริมาณทั้งหมดที่มีในธรรมชาติในประเทศไทย 250–300 ตัว โดยเฉพาะที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งนี้จะมีสัตว์ป่าที่เป็นจุดสนใจของนักท่องเที่ยวที่นิยมการเที่ยวแบบผจญภัยหรือนักถ่ายภาพธรรมชาติอยู่ทั้งสิ้น 7 ชนิด เรียกกันว่า "ผู้ยิ่งใหญ่ทั้ง 7" หรือ Big 7 ได้แก่ ช้าง เสือโคร่ง เสือดาว ควายป่า วัวแดง กระทิง และสมเสร็จ
ด้วยความที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีความเป็นป่าไม้ที่หลากหลาย 5 ใน 7 ชนิดที่พบในเขตร้อนชื้น ได้แก่ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าทุ่งหญ้า ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง จากสภาพป่าที่สมบูรณ์จึงเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ ที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ในปีพ.ศ.2545 จึงได้มีการจัดตั้ง ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ขึ้นในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ที่ ต.คอกควาย อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี เพื่อให้ศูนย์ศึกษาธรรมชาติฯ แห่งนี้ เป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ในพื้นที่ผืนป่าสำคัญแห่งนี้
นอกจากกิจกรรมค่ายเยาวชนอนุรักษ์ธรรมชาติ กิจกรรมเดินป่าศึกษาธรรมชาติ และกิจกรรมดูนกแล้ว ที่นี่ยังมีหลักสูตรการอนุรักษ์เสือโคร่งให้ความรู้กับผู้ที่สนใจอีกด้วย
เนื่องจากวันที่ 1 กันยายน 2566 นี้ เป็นการครบรอบ 33 ปีการจากไป ของคุณ สืบ นาคะเสถียร อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ผู้ซึ่งทำงานทุ่มอุทิศแม้กระทั่งชีวิตของตนเองให้กับการแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายป่า วีรบุรุษป่าไม้ผู้นี้เป็นบุคคลสำคัญในการผลักดันป่าห้วยขาแข้งให้เป็นมรดกโลก โดยได้มีการทุ่มเทเขียนรายงานนำเสนอยูเนสโก (UNESCO) เพื่อพิจารณาให้ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลก เพื่อให้พื้นที่ป่าแห่งนี้ได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่ ซึ่งหมายถึงการลดปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การล่าสัตว์ของบุคคลที่มีอิทธิพล การถูกคุกคามชีวิตของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า รวมทั้งปัญหาความยากจนของชาวบ้านรอบผืนป่าแห่งนี้ด้วย
“มูลนิธิสืบนาคะเสถียร” ร่วมกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) และเครือข่ายอนุรักษ์ จึงได้จัด กิจกรรมรำลึก 33 ปี สืบนาคะเสถียร ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม ถึง 1 กันยายน 2566 โดยกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นนี้ มุ่งหมายสร้างความตระหนักให้ผู้คนหันมาสัมผัสกับธรรมชาติของป่าเขาด้วยตัวเองซึ่งจะทำให้เกิดความรัก ความหวงแหน และปลูกจิตสำนึกการร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างแท้จริงและยั่งยืน
ขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเดีย สารนุกรมเสรี / มูลนิธิ สืบ นาคะเสถียร/ สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช/ เพจเฟซบุ๊กเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง: Huai Kha Khaeng Wildlife Sanctuary