เมืองโบราณศรีเทพ หรือในอีกนามเรียกขานว่า อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ มีประวัติศาสตร์ยาวนานย้อนไปได้ถึงสมัยทวารวดี ที่มีอายุเมื่อราว 1,200 ปีที่แล้ว นักโบราณคดีไทยเรียกยุคประวัติศาสตร์ช่วงสมัยนี้ว่า “สมัยทวา” สันนิษฐานว่า ศูนย์กลางความเจริญของยุคนี้น่าจะอยู่บริเวณด้านตะวันตกของลุ่มนํ้าเจ้าพระยา แถวเมืองอู่ทองและนครปฐม จากการที่พบหลักฐานทางโบราณคดีเป็นจํานวนมาก และขนาดของเมืองที่มีขนาดใหญ่ โดยเมืองเหล่านี้ทําหน้าที่เป็นเมืองท่าทางทะเลด้วย
อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นเพียงสองเมืองหลักของสมัยทวารวดี นักโบราณคดียังค้นพบ “กลุ่มเมือง” วัฒนธรรมทวารวดี ทั้งทางภาคเหนือ อีสาน ตะวันออก และภาคใต้ของไทยด้วย โดยเฉพาะ “กลุ่มเมืองทวา” ลุ่มน้ำป่าสัก-ลพบุรี อาทิ ลพบุรี จันเสน และศรีเทพ
แหล่งชุมชนโบราณศรีเทพ
โดย“ศรีเทพ” นั้น เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่นํ้าป่าสัก อันเป็นลุ่มน้ำที่พบ “แหล่งชุมชนโบราณ” ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์มากมาย ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่จังหวัดเพชรบูรณ์ ลพบุรี ไปจนถึงสระบุรี นอกจากนี้ ป่าสักยังถูกใช้เป็นเส้นทางในการติดต่อระหว่างพื้นที่ทางเหนือ อีสาน และภาคกลาง โดยมีทรัพยากรธรรมชาติเป็นตัวเชื่อมโยงคือ แร่ทองแดง อันเป็นแร่ตั้งต้นของการผลิตสําริด ในยุคสําริดลงมาถึงยุคเหล็ก เมื่อราว 1,800 ปีก่อน ดังพบหลักฐานจากหลุมขุดค้นทางโบราณคดีที่บ่งบอกถึงการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์โบราณในพื้นที่บริเวณนี้มานานแล้ว
ชุมชนโบราณศรีเทพมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องจากการติดต่อสัมพันธ์กับโลกภายนอกโดยเฉพาะจากอินเดีย และเริ่มเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ของไทยเมื่อประมาณ 1,200 ปีที่ผ่านมา เมื่อเริ่มมีการสร้างเมืองเป็นรูปแบบอันเป็นเอกลักษณ์ของทวา ซึ่งเอกลักษณ์ดังกล่าวนั้นก็คือ “คูน้ำคันดิน” มีสองเมือง คือ เมืองในและเมืองนอก ภายในเมืองใน ปรากฏโบราณสถานที่สร้างขึ้นในวัฒนธรรมทวารวดีจำนวนมาก อาทิ เขาคลังใน เป็นพุทธสถานในศาสนาพุทธหินยาน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 ต่อมาเปลี่ยนการใช้งานมาเป็นพุทธศาสนามหายาน เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 14 ปัจจุบันอยู่ในสภาพพังทลายแต่ยังคงหลงเหลือหลักฐานที่สมบูรณ์ คือ ฐานอาคารแบบทวารวดีที่เรียกว่า “ฐานบัววลัย” และ “ฐานยกเก็จ”
สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลรูปแบบการก่อสร้างมาจากศิลปะอินเดียใต้ มีประติมากรรมปูนปั้นคนแคระแบก มีทั้งศีรษะที่เป็นสิงห์ช้าง และลิง สื่อความหมายถึงผู้ปกป้องดูแล โดยการแบกโบราณสถานเอาไว้ นอกจากนี้ ยังมีลายปูนปั้นที่เรียกว่า “ลายกระหนกผักกูด” ซึ่งเป็นอิทธิพลของงานศิลปะอินเดียสมัยคุปตะและสมัยหลังคุปตะ ลายดอกกลมสลับสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน อีกทั้งยังมีการขุดค้นพบพระพุทธรูปซึ่งมีอิทธิพลมาจากศิลปะอินเดียสมัยคุปตะอันเป็นยุคทองของศิลปะอินเดียและพบพระโพธิสัตว์หลายองค์ในบริเวณเขาคลังใน
ส่วน เขาคลังนอก เป็นโบราณสถานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของเมืองโบราณศรีเทพ และเป็นสถาปัตยกรรมที่ใหญ่ที่สุดในวัฒนธรรมทวารวดีในเวลานี้ ตั้งอยู่ในเขตเมืองนอกศรีเทพ จากการขุดแต่งโดยกรมศิลปากรเมื่อปี พ.ศ. 2551 พบหลักฐานเป็นพระพุทธรูปปางแสดงธรรม 1 องค์ ตัวโบราณสถานมีขนาด 64x64 เมตร สูง 20 เมตร ฐานอาคารมีการประดับปราสาทหรืออาคารจำลองไว้ทุกมุมทุกด้าน ด้านบนมีลานประทักษิณ และมีเจดีย์ประธานสันนิษฐานว่า เป็นเจดีย์ทรงโอคว่ำ อิทธิพลจากศิลปะอินเดีย ทางขึ้นหันหน้าไปทางทิศตะวันตกซึ่งมีเขาศักดิ์สิทธิ์ตั้งอยู่ คือ "เขาถมอรัตน์" มีถ้ำซึ่งประดิษฐานประติมากรรมพระพุทธรูป พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และสถูป จากหลักฐานที่ปรากฏที่เขาคลังนอก สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 14
นอกจากสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะอินเดียและชวาแล้ว เรายังพบปราสาทตามแบบศิลปะเขมรที่เมืองโบราณศรีเทพด้วย คือ “ปรางค์ศรีเทพ” สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 16 ในศิลปะเขมรแบบบาปวนและมีการสร้างเพิ่มเติมในสมัยบายน ตัวปราสาทสร้างอยู่บนฐานอาคารสมัยทวารวดี ตัวปราสาทก่อด้วยอิฐศิลาแลง มีอาคารประกอบทั้งมณฑป บรรณาลัย โคปุระ และสะพานนาค
อีกแห่งคือ ปรางค์สองพี่น้อง ปรางค์องค์พี่สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 17 ในสมัยนครวัด สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้กับพระศิวะ ส่วนปรางค์องค์น้องมีการปรับเปลี่ยนหน้าที่การใช้งานเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนามหายานในสมัยบายนของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีทับหลังที่สวยงามติดอยู่คือ อุมามเหศวร ที่เป็นศิลปะแบบบาปวน
ความหลากหลายทางศาสนาและศิลปะ ที่หลอมรวมอย่างงดงาม
กล่าวได้ว่า เมืองศรีเทพ หรือ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ นั้น มีจุดเด่นคือความหลากหลายของการนับถือศาสนาตั้งแต่พุทธศาสนาหินยาน มหายาน จนถึงพราหมณ์-ฮินดู มาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12-18 ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่บ่งบอกวัฒนธรรมทวารวดี-วัฒนธรรมเขมร มีการติดต่อค้าขายกับชุมชนทั้งภายในและภายนอกโดยเฉพาะจากอินเดีย เนื่องด้วยศรีเทพเมื่อ 1,200 ปีก่อนนั้นเป็นดินแดนที่ไม่ไกลจากทะเล จึงได้รับอิทธิพลทางด้านงานศิลปะ และสถาปัตยกรรมมาจากอินเดีย และที่อื่นๆ ผสมผสานกับแนวความเชื่อ งานศิลปะของช่างท้องถิ่น กลายมาเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมทวารวดีทีแบบศรีเทพที่ไม่เหมือนใคร
ทั้งนี้ การพิจารณาขึ้นทะเบียนเมืองโบราณศรีเทพเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมโดยองค์การยูเนสโก จะอยู่ในวาระการพิจารณาที่ 31 จากทั้งหมด 53 วาระ ในช่วงบ่ายของวันนี้ (19 ก.ย.) ซึ่งหากเมืองศรีเทพได้รับการประกาศเป็นมรดกโลก ก็จะเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีสำหรับประเทศไทย เพราะว่างเว้นการประกาศขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมมานานถึง 31 ปีแล้ว โดยครั้งหลังสุดเป็นการประกาศขึ้นทะเบียนแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี เป็นมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ.2535
นอกจากนี้ หากเมืองโบราณศรีเทพได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกอย่างเป็นทางการ ประเทศไทยก็จะมีแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่ได้รับการประกาศโดยยูเนสโก จำนวนรวม 4 แห่ง โดยสามแห่งก่อนหน้านี้คือ
หลังประกาศจะมีกระบวนการทำงานทั้งการพัฒนาพื้นที่ แหล่งโบราณสถาน การจัดทำศูนย์ข้อมูลและการขุดค้นทางโบราณคดีเพิ่มเติม รวมถึงการรักษาดูแลให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของยูเนสโกต่อไป
เครดิตภาพ กอบภัค พรหมเรขา (Korbphuk Phromrekha) สำนักข่าวเนชั่น