วันออกพรรษา 2566 ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม 2566 และเป็นประจำในทุกปีหลังจากวันออกพรรษา จะต้องมีประเพณีตักบาตรเทโว วันนี้ "ฐานเศรษฐกิจ"ได้รวบรวมวัดในกรุงเทพมหานคร ที่ได้จัดงานบุญเชิญชวนเหล่าพุทธศาสนิกชนมาร่วม "ตักบาตรเทโวโรหณะ"เนื่องในวันออกพรรษา ซึ่งจะมีวัดไหนบ้างนั้น สายบุญทั้งหลายเช็คด่วน
เกร็ดความรู้ประเพณีตักบาตรเทโว
กระทรวงวัฒนธรรม ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ ประเพณีตักบาตรเทโว โดยระบุว่าหลังวันออกพรรษามี “ประเพณีตักบาตรเทโว” คำว่า “เทโว” ย่อมาจาก "เทโวโรหนะ” แปลว่า หยั่งลงมาจากเทวโลก หมายถึงการเสด็จลงมาจากเทวโลกของพระพุทธเจ้า
ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว พระองค์ได้ประกาศศาสนาในแคว้นต่างๆในมัธยมประเทศ คือ อินเดียตอนเหนือ ตั้งแต่เมืองราชคฤห์ เมืองพาราณสี และเมืองสาวัตถี ตลอดจนถึงเมืองกบิลพัสดุ์ ซึ่งเป็นปิตุภูมิของพระองค์ ทรงเทศนาโปรดพระเจ้าสุทโธทนะ พระนางมหาปชาบดี พระนางพิมพาและราหุลราชกุมาร ตลอดจนพระประยูรญาติทั้งหลายทั้งชายหญิงให้ได้บรรลุมรรคผลตามสมควรแก่อุปนิสัยของแต่ละพระองค์
พระพุทธเจ้าทรงรำลึกถึงพระนางสิริมหามายา พระพุทธมารดาซึ่งได้สิ้นพระชนม์หลังจากพระองค์ประสูติแล้ว 7 วัน และได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต พระองค์ทรงดำริที่จะสนองคุณพระพุทธมารดา ทรงพิจารณาว่ามีพระคุณมากมายอย่างยิ่ง จะหาอะไรเปรียบมิได้ ทรงวินิจฉัยโดยรอบคอบแล้วเห็นแต่สิ่งเดียวเท่านั้นคือ พระอภิธรรมที่จะสนองคุณพระพุทธมารดาได้คู่ควรกัน ฉะนั้น ในพรรษา(ปี)ที่ 7 นับแต่ปีที่ตรัสรู้ พระพุทธองค์จึงเสด็จขึ้นไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อทรงแสดงพระธรรมเทศนา "พระอภิธรรมปิฎก” โปรดพระพุทธมารดาตลอด 3 เดือน
ครั้นออกพรรษาแล้ว วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 พระพุทธองค์จึงเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งได้เกิดเหตุอัศจรรย์ คือ เทวดา มนุษย์ และสัตว์นรก ต่างมองเห็นซึ่งกันและกัน จึงเรียกวันนี้อีกชื่อหนึ่งว่า วันพระเจ้าเปิดโลก คือ เปิดให้เห็นกันทั้ง 3 โลก พระองค์เสด็จมาประทับที่เมืองสังกัสสะ พุทธบริษัทที่ทราบข่าวต่างพากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อทำบุญตักบาตร ฉะนั้น เมื่อถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 พุทธศาสนิกชนจึงนิยมทำบุญตักบาตรเทโว และเป็นประเพณีนิยมที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน