ส่องเทรนด์ "เครื่องดื่มดับร้อน" ยอดฮิตของคนไทยสายเฮลท์ตี้

21 ธ.ค. 2566 | 23:00 น.

จากผลสำรวจของ Mintel พบคนไทย 70% พยายามดูแลสุขภาพด้วยการดื่มน้ำให้เพียงพอ พร้อมเผชิญสภาพอากาศร้อน และให้ความสำคัญกับคุณค่าต่อสุขภาพมากกว่ารสชาติ

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงทุบสถิติในฤดูร้อนปี 2566 โดยมีรายงานว่า อากาศร้อนทะลุปรอทถึง 45.5 องศาเซลเซียส ทำให้ผู้บริโภคมักหันมาดื่มน้ำเพื่อดับกระหายในช่วงที่อากาศร้อน โดยผลการศึกษาล่าสุดจาก มินเทล (Mintel) บริษัทวิจัยตลาดเอกชนระดับโลกในลอนดอน สหราชอาณาจักร เผยให้เห็นว่า คนไทย 70% พยายามดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อดูแลสุขภาพของตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ อันสะท้อนให้เห็นว่าคนไทยพยายามเพิ่มน้ำให้กับร่างกาย เมื่อเผชิญกับสภาพอากาศที่ท้าทาย

ในฤดูร้อน ผู้บริโภคไทยนิยมใช้วิธีคลายร้อนด้วยการดื่มน้ำ

คลื่นความร้อนที่ไม่เคยมีมาก่อนในไทยปีนี้ยังจุดประกายให้เกิดการพูดคุยเรื่องเครื่องดื่มมากขึ้น โดยเครื่องมือโซเชียลลิสเทนนิงอย่างอินเฟจี แอตลาส (Infegy Atlas) พบว่า เครื่องดื่มมีอิมเพรสชัน (impression) ประมาณ 780,000 ครั้ง นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 จึงมีการพูดคุยที่เพิ่มขึ้นในขณะที่ไทยเริ่มเข้าฤดูร้อนและมีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น นั่นแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคชาวไทยพยายามมองหาวิธีคลายร้อน และแสดงความรู้สึกเชิงบวกเกี่ยวกับเครื่องดื่ม

มินเทล เผย "เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์" มีบทบาทที่น่าจับตามอง

รัชมีกา คานีโย (Rashmika Khanijou) นักวิเคราะห์อาวุโส แผนกอาหารและเครื่องดื่ม มินเทล รีพอร์ท ประเทศไทย เปิดเผยถึงรายงานวิเคราะห์เทรนด์วงการอาหารและเครื่องดื่มทั่วโลก (Global Food and Drink Trend Weatherproofed Provisions) ประจำปี 2566 ของมินเทล ที่มอบข้อมูลให้แบรนด์ต่างๆ นำไปปรับใช้ เพื่อช่วยให้ผู้บริโภครับมือกับสภาพอากาศที่รุนแรงมากขึ้นได้ โดยเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์น่าจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการให้ความสดชื่นและฟื้นฟูร่างกาย ทั้งนี้ ส่วนผสมที่มีมูลค่าเพิ่มบางส่วนที่ควรจับตามองนั้น มีทั้งอิเล็กโทรไลต์และสมุนไพรคลายร้อน ซึ่งต้านทานผลกระทบที่ความร้อนมีต่อร่างกายได้

"คุณภาพอากาศที่ย่ำแย่ก็กำลังกลายเป็นเรื่องน่ากังวล เนื่องด้วยอุณหภูมิร้อนจัดอย่างที่ไทยกำลังเผชิญ ส่วนผสมที่น่าจับตามองคือ ส่วนผสมที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งช่วยให้ร่างกายรับมือกับสภาวะเช่นนี้ได้" รัชมีกา กล่าว

ผู้บริโภค 47% สนใจทดลองดื่มเครื่องดื่มไฮบริด 

ในปี 2566 นั้น เครื่องดื่มอัดลม (70%) น้ำดื่มบรรจุขวด (67%) และกาแฟพร้อมดื่ม (60%) เป็นเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์อันดับต้นๆ ในใจผู้บริโภค นอกจากนี้ ผลสำรวจยังเผยให้เห็นโอกาสที่เป็นไปได้สำหรับเครื่องดื่มไฮบริด (เครื่องดื่มแบบผสม) โดยผู้บริโภค 47% แสดงความสนใจที่จะลองดื่ม

"แบรนด์ต่างๆ มีโอกาสที่จะดึงดูดความสนใจด้วยการนำกาแฟและน้ำผลไม้มาผสมกัน หรือที่เรียกว่า 'จอฟฟี' (joffee) ซึ่งเป็นการผสมผสานกันอย่างลงตัว เพื่อดึงดูดผู้บริโภคชาวไทย และจากผลการศึกษาของมินเทลระบุว่า ชาวกรุงเทพฯ 58% (เทียบกับ 47% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด) รู้จักและสนใจลองเครื่องดื่มไฮบริด ซึ่งสำหรับแบรนด์แล้ว นี่เป็นโอกาสในการพัฒนาเครื่องดื่มน้ำผลไม้ผสมกาแฟที่มีรสชาติที่โดนใจผู้บริโภค" รัชมีกา กล่าวเสริม

ผู้บริโภคไทยให้ความสำคัญกับคุณค่าต่อสุขภาพมากกว่ารสชาติ

รัชมีกาเผย ปัจจุบันไม่มีรสชาติกลุ่มใดที่ถูกมองว่า 'มีประโยชน์' และเมื่อคุณประโยชน์ต่อสุขภาพเข้ามามีความสำคัญมากกว่ารสชาติแล้ว การผสมผสานรสชาติและประโยชน์เข้าด้วยกันจึงกลายเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้เครื่องดื่มสามารถดึงดูดผู้บริโภคและสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวได้ โดยคนไทยกลุ่มที่มีอายุสูงกว่า(Gen X) มีแนวโน้มเลือกเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพมากกว่าคนรุ่นอื่นๆ อาทิ Gen Z 

ยกตัวอย่างในกลุ่มผู้บริโภคที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป มี 43% ชอบเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่มีน้ำตาลต่ำ / ไม่มีน้ำตาล / ลดน้ำตาล เมื่อเทียบกับ 33% ในกลุ่มผู้บริโภค Gen Z พร้อมให้คำแนะนำว่า การที่แบรนด์จะดึงดูดคนกลุ่ม Gen X ได้ ต้องนำเสนอตัวเลือกที่เน้นเรื่องสุขภาพ พร้อมสรรพคุณที่มีประโยชน์และเป็นที่ยอมรับ

โดยในภาพรวมนั้น คนไทยเกือบครึ่งชอบเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมที่ทราบกันว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น คอลลาเจนและโปรไบโอติก สิ่งนี้ตอกย้ำว่าผู้บริโภคชาวไทยอ่านรายการส่วนผสมเครื่องดื่มอย่างจริงจัง และมองหาตัวเลือกที่ดีต่อสุขภาพของตนเอง

ผลสำรวจการบริโภคเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ - Non-alcoholic beverage trends by Mintel กลุ่ม Gen Z นิยมบริโภคเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์มากที่สุดในไทย แต่ยังตามหลังในเครื่องดื่มบางหมวดหมู่

แม้ Gen Z จะเป็นกลุ่มที่นิยมบริโภคเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์มากที่สุดในไทย แต่ยังนับว่าตามหลังกลุ่มอายุอื่นๆ ในบางหมวดหมู่ เช่น น้ำดื่มบรรจุขวด กาแฟพร้อมดื่ม(RTD) น้ำวิตามิน และเครื่องดื่มทดแทนมื้ออาหาร (อาทิ โปรตีนเชค) โดยจากผลการศึกษาของมินเทล สะท้อนให้เห็นโอกาสที่ยังไม่ได้มีการสำรวจอย่างจริงจังสำหรับแบรนด์ต่างๆ ในตลาด Gen Z 

โอกาสสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ มัดใจผู้บริโภค Gen Z สำหรับแบรนด์เครื่องดื่ม

แบรนด์เครื่องดื่มมีโอกาสในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ด้วยการใช้รสชาติความหวานเจาะกลุ่ม Gen Z โดยผลการศึกษาของมินเทลแสดงให้เห็นว่า คนไทยกลุ่ม Gen Z มากกว่าหนึ่งในสาม (37%) ชอบเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่มีรสหวาน (เช่น ช็อกโกแลต) มากกว่ากลุ่มอื่นๆ (เทียบกับ 30% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด) ดังนั้น Gen Z จึงจัดได้ว่าเป็น 'ผู้ทำอะไรตามอารมณ์ตัวเอง' โดยเน้นไปที่รสชาติที่ตนเองชอบมากกว่า 

แต่อย่างไรก็ตาม รสหวานในเครื่องดื่มมีความสัมพันธ์อย่างมากกับการเป็น 'สิ่งที่ไม่ดีต่อสุขภาพ' ดังนั้น การที่แบรนด์จะเอาชนะความคิดเช่นนี้ได้ จำเป็นต้องนำส่วนผสมที่มีประโยชน์เพิ่มเข้ามา เพื่อนำเสนอเครื่องดื่มที่สมดุลและน่าดึงดูดสำหรับผู้บริโภค Gen Z รัชมีกา กล่าวทิ้งท้าย

 

ขอบคุณที่มา : Mintel