น.ส.ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่ร่วมกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อตรวจราชการ ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ หรือ ครม.สัญจร จังหวัดระนอง โดยททท. พร้อมหาทางส่งเสริมการท่องเที่ยวเชื่อมโยงจังหวัดระนอง ให้กลายเป็นจุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ
โดยในปี 2567 นี้ ตั้งเป้าหมายผลักดันนักท่องเที่ยวเดินทางไม่ต่ำกว่าปี 2566 คือมีรายได้อย่างน้อย 7,000 ล้านบาท ภายใต้นักท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 1.45 - 1.5 ล้านคน-ครั้ง
ทั้งนี้ ททท. ได้หาทางส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดระนอง ตามแคมเปญ “สุขทันทีที่เที่ยวระนอง” โดยมุ่งกระตุ้นการใช้จ่ายด้วยการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าสู่พื้นที่ ผ่านการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในภูมิภาค (ใต้เที่ยวใต้) และเที่ยวข้ามภูมิภาค รวมถึงการกระจายนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าพื้นที่ ทั้งช่วง High Season และ Low Season ควบคู่กับกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว
โดยนำเสนอการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และความเป็น “ระนองมหานครแห่งน้ำแร่” ซึ่งเป็นเอกลักษณ์สำคัญของจังหวัด ผ่าน 13 แหล่ง แช่น้ำร้อน จังหวัดระนอง ได้แก่ บ่อน้ำร้อนรักษะวาริน บ่อน้ำแร่ร้อนพรรั้ง น้ำนอง ฮอทสปา ธาริน ฮอทสปริง ราชาวดีสปาและน้ำแร่ ทินิดี ฮอทสปริง น้ำใสเขาสวย รีสอร์ท บ้านในหมง โรงแรมกาญจน์ญาภา ฮอทสปริง Wellness Sports Club Ranong รัก ระนอง ฮอทสปริง สปา บ่อน้ำร้อนพรุหลุมพี และบ่อน้ำร้อนบ้านหาดยาย อ.ละอุ่น
รวมทั้งผสมผสานการเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยว City Tour ,ชุมชน และเกาะแก่งต่างๆ เพื่อส่งมอบประสบการณ์ท่องเที่ยวที่หลากหลายให้แก่นักท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นอีกมิติหนึ่งที่ทำให้การท่องเที่ยวจังหวัดระนอง เป็นเอกลักษณ์และแตกต่างไม่เหมือนใคร
ททท.มีกิจกรรมส่งเสริมการตลาดและประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวจังหวัดระนอง ปี 2567
1. กิจกรรม “ระนองสดชื่น” ร่วมกับพันธมิตรจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้สินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวผ่าน Influencer เผยแพร่ทางสื่อ Online / Offline ตามกลุ่มเป้าหมาย และทำกิจกรรมส่งเสริมการขายร่วมกับผู้ประกอบการสถานบริการบ่อน้ำแร่ร้อน มอบที่ระลึกสเปรย์น้ำแร่ แก่นักท่องเที่โยวและผู้เข้าใช้บริการ ระหว่างวันที่1 พฤศจิกายน 2566 – 31 มกราคม 2567
2. กิจกรรม “โปรเปิดเกาะ” (เกาะกำ เกาะค้างคาว เกาะญี่ปุ่น อุทยานแห่งชาติแหลมสน) มอบส่วนลดให้แก่นักท่องเที่ยวที่ซื้อแพ็กเกจท่องเที่ยว One Day trip ราคาเพียง 999 บาทต่อท่าน จากราคาปกติ 1,250 บาทต่อท่าน ตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2566 – 30 เมษายน 2567
3. จัดกิจกรรม Khao Ya Fest 2024 ณ ภูเขาหญ้า อีกหนึ่งแลนด์มาร์กสำคัญของระนอง ซึ่งมีการจัดกิจกรรมนี้ 2 ครั้ง ในปี 2565 และ 2566 ได้รับความสนใจ มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเข้าร่วมกว่า 90,000 คน สร้างรายได้กว่า 13 ล้านบาท โดยกิจกรรมหลักประกอบด้วย การแสดงดนตรี Workshop ซุ้มจุดถ่ายภาพ การออกบูธอาหารท้องถิ่น และของที่ระลึก
4. ส่งเสริมเทศกาลงานประเพณีในพื้นที่ สะท้อนอัตลักษณ์ของท้องถิ่น เช่น งานประเพณีถือศีลกินผัก งานประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ
5. การจัดงาน สงกรานต์ระนอง มหานครน้ำแร่ 2567 ร่วมกับพันธมิตรนำเสนอกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวช่วงวันหยุดยาวและขยายวันพักค้าง สร้างอัตลักษณ์เฉพาะตัวของจังหวัดเป็นหนึ่งเดียวในประเทศที่เล่นสงกรานต์โดยใช้น้ำแร่ร้อนธรรมชาติ
ททท. มีแนวคิดนำเสนอเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยง ดังนี้
1. เส้นทางชุมพร-ระนอง (บ้านน้อยกลางป่าใหญ่-จุดชมวิวเขาออง-ป่าต้นน้ำบ้านคลองเรือ-น้ำตกหงาว-น้ำตกเหวโหลม-ภูเขาหญ้า-บ่อน้ำแร่ร้อนพระรั้ง-ธาริน ฮอทสปา-พระราชวังรัตนรังสรรค์-บ่อน้ำร้อนรักษะวาริน) จากโครงการขยายช่องจราจร (หมายเลข 4006) ซึ่งทำให้การเดินทางระหว่างอ.หลังสวน จ.ชุมพร และ อ.เมือง จ.ระนอง ลดเวลาการเดินทางเหลือเพียง 30-40 นาที จาก 1 ชั่วโมง
2. เส้นทาง ระนอง-พังงา (เขาพ่อตาโชงโดง-คลองลัดโนด-อุทยานแห่งชาติแหลมสน-บ้านไร่ไออรุณ-ชุมชนบ้านแหลมนาว-ชุมชนทะเลนอก-ชุมชนบ้านไร่ใน) จากโครงการขยายช่องจราจร ถนนเพชรเกษม (หมายเลข 4) ซึ่งทำให้การเดินทางระหว่างจ.ระนองและพังงา ลดเวลาการเดินทางเหลือเพียง 1-1.30 ชั่วโมง จาก 3.30-3.45 ชั่วโมง
3. การเดินทางเชื่อมโยงระหว่างไทย - เมียนมา จากโครงการท่าเทียบเรือ เพื่อการท่องเที่ยว (ท่าเรือประภาคาร) เพื่อเป็นศูนย์กลางการรับส่งนักท่องเที่ยวชาวไทย เมียนมา และต่างชาติที่ต้องการเดินทางข้ามแดนไปท่องเที่ยว 2 ฝั่ง ไทย – เมียนมา
แนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เกิดผลสำเร็จตามเป้าหมายนั้น จำเป็นต้องร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการแก้ปัญหาพื้นฐานในการดึงนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาอย่างสะดวก โดยผู้ว่าฯ ททท. ระบุว่า ททท.เตรียมหารือกับกระทรวงคมนาคม และสายการบิน เพื่อเพิ่มเที่ยวบินมากขึ้น ให้เทียบเท่าก่อนช่วงเกิดโควิด-19
พร้อมทั้งประสานงานรถทัวร์โดยสารและรถตู้โดยสาร กรุงเทพฯ-ระนอง รวมทั้งเส้นทางจังหวัดใกล้เคียงกับระนอง ช่วยเพิ่มเที่ยวขนส่งคนเข้ามาในจังหวัดมากขึ้น ทั้ง ภูเก็ต กระบี่ พังงา ทางด้านใต้ และ ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ ทางด้านเหนือ ตามเส้นทางไทยแลนด์ริเวียร่าด้วย
น.ส.ฐาปนีย์ กล่าวว่า จังหวัดระนอง ถือเป็นตัวเลือกที่ดีในการพัฒนาให้เป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติ เนื่องจากประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 15 ของโลก สำหรับจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาใช้จ่ายเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะมีการใช้จ่ายสูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป
สอดรับกับจังหวัดระนองที่มีทรัพยากรทางการท่องเที่ยวครบทุกมิติ และมีสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวที่เป็นเอกลักษณ์ และตอบโจทย์เทรนด์การท่องเที่ยวยุคใหม่โดยเฉพาะน้ำแร่ธรรมชาติ
โดยเมืองระนอง มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของประเทศไทยและสามารถจะผลักดันเป็น Wellness City ชั้นนำของโลกต่อไป ตลอดจนอานิสงส์ของการพัฒนาโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (Landbridge ) ชุมพร-ระนอง ของรัฐบาล จะยิ่งทำให้จังหวัดระนองเติบโตอย่างรวดเร็วในอนาคต
ปัจจุบันจังหวัดระนองมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 5 อันดับแรกที่นิยมมาเที่ยวระนอง ได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ จีน และสวิสเซอร์แลนด์ โดยขณะนี้ ททท.ยังเตรียมเจาะตลาดนึกท่องเที่ยวตะวันออกกลาง เพื่อดึงมาเที่ยวระนองมากขึ้น โดยเฉพาะซาอุดิอาระเบีย ที่กำลังเป็นตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะเมื่อพิจารณาพฤติกรรมนักท่องเที่ยวชาวซาอุฯ แล้ว พบว่า ชื่นชอบบรรยากาศแบบระนอง โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และกรีนซีซั่น ที่ชื่นชอบความเขียวสดใสสดชื่น
"นักท่องเที่ยวชาวซาอุฯ เป็นกลุมที่มีกำลังซื้อสูง และระยะเวลาพำนักนาน 19-20 วัน มีค่าใช้จ่ายต่อทริปสูงที่สุด 99,000 บาทต่อคนต่อทริป และมีแนวโน้มการเติบโต ซึ่ง ททท. กำลังหาทางส่งเสริมการท่องเที่ยวเชื่อมโยงเส้นทางจากภูเก็ต มาระนองได้ โดยมีเส้นทางภูเก็ต พังงา กระบี่ ขึ้นมาระนองได้"