สงกรานต์กัมพูชาสุดคึกคัก นักท่องเที่ยวทะลักกว่า 1.1 แสนคน

19 เม.ย. 2567 | 17:05 น.

ทัพนักท่องเที่ยวต่างชาติหลั่งไหลเยือนกัมพูชาในช่วง 4 วันของเทศกาลสงกรานต์ หรือ "เทศกาลสาดน้ำ" ในปีนี้ กว่า 110,000 คน จุดหมายยอดนิยมครอบคลุมหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ขณะที่รัฐบาลเตรียมยื่นยูเนสโกขอขึ้นทะเบียน"สงกรานต์กัมพูชา" เป็นมรดกโลกที่จับต้องไม่ได้ในปี 2025 

กระทรวงการท่องเที่ยวของกัมพูชา รายงานจำนวน นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ที่เดินทางเยือน กัมพูชา ในช่วงหยุดยาวปีใหม่ตามประเพณีดั้งเดิมหรือที่เรียกว่า “เทศกาลสาดน้ำ” (สงกรานต์กัมพูชา) รวมอยู่ที่ 110,322 คน โดยจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเหล่านี้ ได้แก่ จังหวัดไพลิน จังหวัดพระสีหนุ กรุงพนมเปญ จังหวัดเสียมราฐ และจังหวัดสวายเรียง

สำนักข่าวซินหัว สื่อใหญ่ของจีนรายงานระบุว่า ปีใหม่ตามประเพณีดั้งเดิม หรือ เทศกาลสาดน้ำ ระยะ 4 วัน (13-16 เม.ย.) ถือเป็นช่วงหยุดยาวประจำปีครั้งสำคัญที่สุดของกัมพูชา โดยประชาชนจะเข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนา เยี่ยมเยียนครอบครัวที่จังหวัดบ้านเกิด และเดินทางท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ

ทั้งนี้ กัมพูชามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักจากอุทยานโบราณคดี “อังกอร์” หรือหมู่ปราสาทนครวัดในจังหวัดเสียมราฐ รวมถึงแนวชายฝั่งยาว 450 กิโลเมตร ซึ่งทอดตัวผ่าน 4 จังหวัดทางตะวันตกเฉียงใต้ ได้แก่ พระสีหนุ กำปอต แกบ และเกาะกง

ทำความรู้จักสงกรานต์กัมพูชา

เทศกาลสงกรานต์ในกัมพูชา หรือ เทศกาล “โจล ชนัม ทะเมย” (Chaul Chnam Thmey) ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวกัมพูชา โดยปกติจะจัดขึ้น 3 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 14-16 เมษายน ซึ่งเป็นช่วงเสร็จสิ้นฤดูเก็บเกี่ยว และเกษตรกรก็มีความสุขกับการเตรียมการฉลองเทศกาลสงกรานต์ที่จะมาถึง จะมีการจัดเตรียมอาหาร และทำความสะอาดบ้านเรือน แต่งตัวด้วยดอกไม้และเครื่องหอม จัดโต๊ะบูชาก่อนวันขึ้นปีใหม่ อย่างไรก็ตาม ในปีนี้การเฉลิมฉลองเริ่มตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 

ประชาชนร่วมเทศกาลสาดน้ำ หรือ วันขึ้นปีใหม่ของกัมพูชาในกรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 13 เม.ย. 2024 (แฟ้มภาพซินหัว)

 

การจัดงาน 3 วัน ประกอบด้วย

“วันมหาสงกรานต์” 14 เม.ย. ถือเป็นวันส่งท้ายปีเก่าหรือวันสิ้นปี โดยในตอนเช้าก็จะล้างหน้า นำอาหารไปถวายพระ ตอนบ่ายล้างตัว และพอตกเย็นก็ล้างเท้าด้วยน้ำศักดิ์สิทธิ์หรือน้ำมนต์ ช่วยกันขนทรายเข้าวัด หัวค่ำจะมีการช่วยกันก่อเจดีย์ทราย เติมน้ำในตุ่มที่วัดให้เต็ม และจะมีการจุดธูปเทียนบูชากราบไหว้เพื่อขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้สิ่งไม่ดีไปกับปีเก่า

15 เม.ย. เรียกว่า "วันเนา" หมายถึงความว่างเปล่า และเป็นวันแห่งการให้ มีการให้ของขวัญแก่ลูกจ้าง ผู้เฒ่าผู้แก่และคนในครอบครัว วันนี้จึงถือเป็น “วันครอบครัว” ด้วย พ่อแม่ลูกและญาติพี่น้องจะมารวมตัวกัน อาจจะมีการให้ของขวัญกันเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ด้วย มีการไปบริจาคสิ่งของให้แก่คนยากคนจนและผู้ด้อยโอกาส ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว และในตอนเย็นก็จะไปรวมตัวกันก่อเจดีย์ทรายที่วัดเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

ส่วนวันที่ 16 เม.ย. เรียกว่า “วันเริ่มต้นศกใหม่” ถือเป็นวันเปิดศักราชใหม่ ช่วงเช้าจะนิมนต์พระมาสวดให้พร นอกจากนั้นยังมีการสรงน้ำพระพุทธรูปโดยใช้น้ำอบมาชำระล้างพระพุทธรูป รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่โดยจะใช้น้ำที่ผสมน้ำหอมหรือน้ำอบ เป็นช่วงเวลาที่คนทุกเพศทุกวัยได้ใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกันด้วยความชื่นมื่น นอกจากนี้ ยังมีการละเล่นต่างๆ บริเวณวัดด้วย เช่น วิ่งกระสอบ เล่นลูกช่วง สะบ้า มอญซ่อนผ้า ฯลฯ

นางสงกรานต์กัมพูชา

เทศกาล “โจล ชนัม ทะเมย” ถือเป็นวันหยุดยาวของชาวกัมพูชาเช่นกัน  อย่างไรก็ตาม ในอดีตชาวกัมพูชาไม่ได้เล่นสาดน้ำกันเอิกเกริกอย่างในประเทศไทยหรือลาว ถ้าไปเที่ยวกัมพูชาในช่วงเทศกาลสงกรานต์ อาจจะได้เห็นการเล่นสาดน้ำเพียงประปรายตามท้องถนน โดยการเล่นสาดน้ำของชาวกัมพูชาจะมีการประแป้งกันด้วยแป้งสีขาว สีแดง หรือสีชมพู ที่นำมาผสมกับน้ำ ส่วนที่ขาดไม่ได้อีกอย่างของเทศกาลโจล ชนัม ทะเมย ก็คือ ขนมหวานที่มีส่วนผสมจากมะพร้าว น้ำกะทิ ข้าว และถั่ว นำมาคลุกเคล้าเข้าด้วยกันก่อนจะนำมาเสียบไม้ย่างไฟ

ในปี 2567 นี้ จะเห็นได้ว่ารัฐบาลกัมพูชามีนโยบายเพิ่มสีสันเติมความสำคัญเชิงส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับเทศกาลดังกล่าว หลายจังหวัดจัดกิจกรรมดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่นที่จังหวัดพระตะบอง เสียมราฐ และในเมืองหลวง จะเห็นการเล่นสาดน้ำอย่างจัดเต็มเช่นเดียวกับในประเทศไทย

ทั้งชาวกัมพูชาและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ร่วมเล่นสาดน้ำสงกรานต์อย่างสนุกสนานในกรุงพนมเปญ (ภาพข่าวซินหัว 13 เม.ย.2567)

สงกรานต์กัมพูชา (ภาพข่าวซินหัว)

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายฮุน มาแนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเปิดเผยว่า กัมพูชาจะยื่นเอกสารเพื่อขอขึ้นทะเบียน "สงกรานต์กัมพูชา" ลงในรายการมรดกโลกที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโกในปี 2025 และคาดว่าจะได้รับการจดทะเบียนอย่างเป็นทางการในปี 2026

ส่วน “เทศกาลน้ำ” (Water Festival) ที่ชาวกัมพูชาฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่ทั่วประเทศและจะมีในช่วงปลายปี นั่นก็คือ เทศกาล "บุญอมตูก" (Bon Om Touk) เป็นประเพณีที่จัดขึ้นทุกปีในเดือนพฤศจิกายน ทุกจังหวัดและทุกเมืองทั่วประเทศจะจัดงานเฉลิมฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่ โดยมีงานฉลองใหญ่สุดในกรุงพนมเปญ เมืองหลวง กินระยะเวลาสามวัน

ประเพณี"บุญอมตูก"นี้ จัดขึ้นเพื่อระลึกถึงการสิ้นสุดของฤดูฝน เช่นเดียวกับการเปลี่ยนทิศทางการไหลของแม่น้ำตนเลสาบ นอกจากนี้ ยังมีการจัดการแข่งเรือและคอนเสิร์ต ซึ่งดึงดูดผู้คนหลายล้านคนให้เข้าร่วมเฉลิมฉลอง