"สงกรานต์อาเซียน" สาดที่ประเทศไหนบ้าง เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

24 มี.ค. 2566 | 23:08 น.
อัปเดตล่าสุด :24 มี.ค. 2566 | 23:08 น.

การฉลองสงกรานต์ ซึ่งถือเป็นการขึ้นศักราชใหม่ในเดือน 5 (เมษายน) นั้น ไม่ได้มีเฉพาะในประเทศไทย แต่หลายประเทศอาเซียนและเอเชียใต้ ก็มีการเฉลิมฉลองเช่นกัน “สงกรานต์” ในแต่ละประเทศ เหมือนหรือต่างกันอย่างไร?

“สงกรานต์” เป็นคำสันสกฤต หมายถึงการเคลื่อนย้าย ซึ่งเป็นการอุปมาถึงการเคลื่อนย้ายของการประทับในจักรราศี หรือคือการเคลื่อนขึ้นปีใหม่ในเดือน 5 (เมษายน) ตามความเชื่อของ ไทย และบางประเทศใน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ลาว กัมพูชา และเมียนมา รวมทั้งชนกลุ่มน้อยชาวไตแถบเวียดนามและมณฑลยูนนานของจีน ศรีลังกา และทางตะวันออกของประเทศอินเดีย

ในสมัยโบราณได้ถือ วันสงกรานต์ เป็น วันขึ้นปีใหม่ เนื่องจากประเทศที่อยู่ในแถบภูมิอากาศเขตร้อนถือว่า ช่วงเวลาเริ่มต้นฤดูร้อนนั้นเป็นช่วงเวลา “ที่ดีที่สุด” ของปี เพราะว่างเว้นจากการทำการเกษตร อีกทั้งอากาศที่หนาวเย็นก็ผ่านพ้นไปแล้ว วันสงกรานต์จึงเป็นประเพณีการขึ้นปีใหม่ในประเทศแถบร้อน ซึ่งแตกต่างจากปีใหม่ของประเทศแถบหนาว

ประเพณีสงกรานต์ในประเทศเพื่อนบ้านของไทย นั้นมีวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน แม้ว่าจะมีพิธีกรรมที่แตกต่างกันออกไป เรามาดูกันในแต่ละประเทศว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

สงกรานต์เมียนมา

เทศกาลสงกรานต์ในเมียนมา เป็นประเพณีที่มีชื่อว่า "ตะจาน” (Thingyan) มาจากภาษาบาลีคำว่า “สงกรานต์” ซึ่งหมายถึงการโคจรของดวงอาทิตย์จากราศีมีนสู่ราศีเมษ ถือเป็นเทศกาลปีใหม่ โดยทั่วไปแล้วจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 12 เม.ย. ถึง 16 เม.ย. ช่วงนี้จะเป็นการเล่นสาดน้ำต้อนรับปีใหม่ โดยวันที่ 17 เม.ย.ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ เดิมทีทางการเมียนมากำหนดให้ระหว่างวันที่ 12 -16 เม.ย.เป็นวันหยุดราชการ แต่ปัจจุบันได้ขยายวันหยุดราชการออกไปอีกจนถึงวันที่ 22 เม.ย. รวมเป็นวันหยุดติดต่อกันนานถึง 10 วัน

ขนมประจำเทศกาลสงกรานต์ของเมียนมา คือ ขนมต้ม หรือ ม่งโลงเหย่บ่อ และมีดอกประดู่ หรือปะเด้าก์ เป็นดอกไม้ประจำเทศกาล

สงกรานต์เมียนมา

ในสมัยก่อน ชาวเมียนมาเล่นน้ำกันอย่างนุ่มนวลมีเพียงการประพรมน้ำจากขันเงินด้วยใบหว้าซึ่งเป็นไม้มงคล เท่านั้น ต่อมาในระยะหลังจึงได้เริ่มมีการสาดน้ำ เล่นน้ำตลอดทั้ง 5 วันก่อนวันขึ้นปีใหม่ แต่ทางการเมียนมาสั่งห้ามเด็ดขาดเรื่องการเล่นน้ำที่รุนแรง มีการกำหนดโทษหนักถึงจำคุก และเคยพบว่ามีผู้ทำผิดถูกประจานทางหนังสือพิมพ์บอกถึงชื่อพ่อแม่ของผู้กระทำผิดให้รับรู้ทั่วประเทศด้วย

รดน้ำดำหัวแบบเมียนมา

อย่างไรก็ตาม เทศกาลนี้ถือเป็นเทศกาลอันเป็นมงคล มีการเข้าวัดทำบุญ ถือศีล สรงน้ำพระพุทธรูป สรงน้ำพระเจดีย์ และมีการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ มีงานฉลองรื่นเริงในโอกาสขึ้นปีใหม่ตามประเพณีอันดีงาม

สงกรานต์ลาว

เทศกาลสงกรานต์ในลาว หรือ งานบุญปีใหม่ (Boun Pimai Festival) ลักษณะพิธีกรรมคล้ายปีใหม่เมืองทางภาคเหนือของไทยเรา จัดขึ้น 3 วัน คือวันที่ 14-16 เม.ย. ประกอบด้วย

  • “วันสังขารล่วง” 14 เม.ย. เป็นวันทำความสะอาดบ้านเรือนเพื่อปัดเป่าสิ่งที่ไม่ดีออกไปและรับสิ่งใหม่เข้ามา
  • “วันเนา” 15 เม.ย. เป็นวันครอบครัว ญาติพี่น้องมารวมตัวกันเพื่อบายศรีสู่ขวัญให้ผู้ใหญ่
  • “วันสังขารขึ้น” หรือ วันปีใหม่ของลาว ตรงกับวันที่ 16 เม.ย. จะมีการบายศรีสู่ขวัญ อวยพรซึ่งกันและกัน รวมถึงมีการสรงน้ำพระ และการแห่นางสังขาร ซึ่งก็คือ “นางสงกรานต์” ของลาวนั่นเอง

ลาวมีการเล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนานเช่นเดียวกับในประเทศไทย

เล่นสาดน้ำสงกรานต์ในลาวก็สนุกไม่แพ้ที่ไหนๆ

สงกรานต์กัมพูชา

สำหรับเทศกาลสงกรานต์ในกัมพูชา หรือ เทศกาล “โจล ชนัม ทะเมย” (Chaul Chnam Thmey) ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวกัมพูชา จัดขึ้น 3 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 14-16 เมษายน ซึ่งเป็นช่วงเสร็จสิ้นฤดูเก็บเกี่ยว และเกษตรกรก็มีความสุขกับการเตรียมการฉลองเทศกาลสงกรานต์ที่จะมาถึง จะมีการจัดเตรียมอาหาร และทำความสะอาดบ้านเรือน แต่งตัวด้วยดอกไม้และเครื่องหอม จัดโต๊ะบูชาก่อนวันขึ้นปีใหม่

การจัดงาน 3 วัน ประกอบด้วย

  • “วันมหาสงกรานต์” 14 เม.ย. ถือเป็นวันส่งท้ายปีเก่าหรือวันสิ้นปี โดยในตอนเช้าก็จะล้างหน้า นำอาหารไปถวายพระ ตอนบ่ายล้างตัว และพอตกเย็นก็ล้างเท้าด้วยน้ำศักดิ์สิทธิ์หรือน้ำมนต์ ช่วยกันขนทรายเข้าวัด หัวค่ำจะมีการช่วยกันก่อเจดีย์ทราย เติมน้ำในตุ่มที่วัดให้เต็ม และจะมีการจุดธูปเทียนบูชากราบไหว้เพื่อขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้สิ่งไม่ดีไปกับปีเก่า
  • 15 เม.ย. เรียกว่า "วันเนา" หมายถึงความว่างเปล่า และเป็นวันแห่งการให้ มีการให้ของขวัญแก่ลูกจ้าง ผู้เฒ่าผู้แก่และคนในครอบครัว วันนี้จึงถือเป็น “วันครอบครัว” ด้วย พ่อแม่ลูกและญาติพี่น้องจะมารวมตัวกัน อาจจะมีการให้ของขวัญกันเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ด้วย มีการไปบริจาคสิ่งของให้แก่คนยากคนจนและผู้ด้อยโอกาส ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว และในตอนเย็นก็จะไปรวมตัวกันก่อเจดีย์ทรายที่วัดเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
  •  “วันเริ่มต้นศกใหม่” 16 เม.ย. ถือเป็นวันเปิดศักราชใหม่ ช่วงเช้าจะนิมนต์พระมาสวดให้พร นอกจากนั้นยังมีการสรงน้ำพระพุทธรูปโดยใช้น้ำอบมาชำระล้างพระพุทธรูป รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่โดยจะใช้น้ำที่ผสมน้ำหอมหรือน้ำอบ เป็นช่วงเวลาที่คนทุกเพศทุกวัยได้ใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกันด้วยความชื่นมื่น นอกจากนี้ ยังมีการละเล่นต่างๆ บริเวณวัดด้วย เช่น วิ่งกระสอบ เล่นลูกช่วง สะบ้า มอญซ่อนผ้า ฯลฯ

นางสงกรานต์กัมพูชา

เทศกาล “โจล ชนัม ทะเมย” ถือเป็นวันหยุดยาวของชาวกัมพูชาเช่นกัน  อย่างไรก็ตาม ชาวกัมพูชาไม่ได้เล่นสาดน้ำกันเอิกเกริกอย่างในประเทศไทยหรือลาว ถ้าไปเที่ยวกัมพูชาในช่วงเทศกาลสงกรานต์ อาจจะได้เห็นการเล่นสาดน้ำเพียงประปรายตามท้องถนน โดยการเล่นสาดน้ำของชาวกัมพูชาจะมีการประแป้งกันด้วยแป้งสีขาว สีแดง หรือสีชมพู ที่นำมาผสมกับน้ำ

ส่วนที่ขาดไม่ได้อีกอย่างของเทศกาลโจล ชนัม ทะเมย ก็คือขนมหวานที่มีส่วนผสมจากมะพร้าว น้ำกะทิ ข้าว และถั่ว นำมาคลุกเคล้าเข้าด้วยกันก่อนจะนำมาเสียบไม้ย่างไฟ

ส่วน “เทศกาลน้ำ” ที่ชาวกัมพูชาฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่ทั่วประเทศนั้น จะมีในช่วงปลายปี นั่นก็คือ เทศกาล "บุญอมตูก" เป็นประเพณีที่จัดขึ้นทุกปีในเดือนพฤศจิกายน ทุกจังหวัดและทุกเมืองทั่วประเทศจะจัดงานเฉลิมฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่ โดยมีงานฉลองใหญ่สุดในกรุงพนมเปญ เมืองหลวง กินระยะเวลาสามวัน

ประเพณี"บุญอมตูก"นี้ จัดขึ้นเพื่อระลึกถึงการสิ้นสุดของฤดูฝน เช่นเดียวกับการเปลี่ยนทิศทางการไหลของแม่น้ำตนเลสาบ นอกจากนี้ ยังมีการจัดการแข่งเรือและคอนเสิร์ต ซึ่งดึงดูดผู้คนหลายล้านคนให้เข้าร่วมเฉลิมฉลอง

สงกรานต์ชาวไทลื้อ-สงกรานต์สิบสองปันนา

ชาวสิบสองปันนานั้นอาศัยอยู่ในมณฑลยูนนาน ทางตอนใต้ของประเทศจีน ที่นี่จัดงานสงกรานต์ประมาณวันที่ 13-15 เมษายน จุดเด่นของสงกรานต์ที่นี่คือการแข่งขันเรือมังกร และขบวนเต้นรำนกยูง ทุกๆ ปีจะมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากหลั่งไหลเข้าร่วมงาน เพราะยังคงอนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณี และสิ่งแวดล้อมไว้ได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญบางบ้านยังพูดภาษาไทยได้ด้วย

ส่วน ชนเผ่าไทในเวียดนาม เชื่อว่าโลกมีเทพเจ้าหลายองค์และมีประเพณีการบูชาบรรพบุรุษ เนื่องจากชีวิตมีความผูกพันธุ์กับเกษตรกรรมจึงมีประเพณีการไปเอาน้ำในคืนส่งท้ายปีเก่า และเทศกาลรับเสียงฟ้าร้องต้อนรับปีใหม่ รวมทั้งเทศกาลขอพรขอฝนฉลองความอุดมสมบูรณ์อีกหลายเทศกาล

ข้อมูลอ้างอิง