ขบวนรถ SRT ROYAL BLOSSOM เป็นรถไฟท่องเที่ยวขบวนใหม่ ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ได้ดำเนินการปรับปรุง หลังจากได้รับมอบจากบริษัท Hokkaido Railway Company (JR Hokkaido) ประเทศญี่ปุ่น ในราวปี 2561 ปัจจุบันปรับปรุงเสร็จสิ้นแล้ว 5 คัน จากจำนวนทั้งหมด 10 คัน ประกอบด้วย รถรุ่น SUHAFU (มีเครื่องยนต์ปั่นไฟ) 5 คัน รถรุ่น OHA (ไม่มีเครื่องยนต์ปั่นไฟ) 5 คัน มีกำหนดเปิดให้บริการนำร่องช่วงแรกเดือนสิงหาคม 2567 นี้ ส่วนรถโดยสารที่เหลืออีก 5 คัน การรถไฟฯ อยู่ระหว่างเร่งการปรับปรุง คาดจะนำมาให้บริการเพิ่มเติมได้ภายในปลายปี 2567 นี้
โดยการรถไฟฯ มีแผนเปิดให้บริการขบวนรถท่องเที่ยว SRT Royal Blossom เต็มรูปแบบครั้งแรก นำร่องในเส้นทางกรุงเทพ (หัวลำโพง)-กาญจนบุรี(น้ำตกไทรโยคน้อย) เส้นทางท่องเที่ยวสายประวัติศาสตร์ ช่วงเดือนสิงหาคม 2567 ให้บริการแบบวันเดย์ทริป
เปิดให้บริการวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้ สร้างอาชีพ ให้กับชุมชน และพื้นที่ใกล้เคียงทางรถไฟ ซึ่งจะเป็นการขานรับนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมการท่องเที่ยวช่วงนอกฤดูกาล และส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองน่าเที่ยว ที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ เดินทางท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก
หลังจากล่าสุดเมื่อวันที่ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมา ร.ฟ.ท.ได้เปิดทดสอบเดินขบวนรถไฟท่องเที่ยวพิเศษ SRT Royal Blossom จากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ถึงสถานีหัวหิน นำทีมโดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ร่วมเยี่ยมชมขบวนรถที่สถานีปลายทาง สถานีหัวหิน (เดิม) ก่อนเตรียมเปิดให้บริการประชาชนในช่วงกลางเดือน ส.ค.นี้
ความโดดเด่นของ SRT ROYAL BLOSSOM เป็นขบวนรถไฟที่ถูกออกแบบสำหรับใช้เดินทางท่องเที่ยวโดยเฉพาะ มีการดีไซน์ด้วยความพิถีพิถันจากฝีมือช่างคนไทย ทำสีใหม่ภายนอกดีไซน์สไตล์หรูหรา เฉดสีสะดุดตาด้วยสีแดงของกลีบดอกไม้คาดทอง
ตัวรถมีสัญลักษณ์เป็นโลโก้ STATE RAILWAY OF THAILAND ROYAL BLOSSOM SINCE- 2022 คู่กับดอกชัยพฤกษ์ ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำรัชกาลที่ 10 ถูกวางบนหน้าปัดนาฬิกา ตัวเลขโรมัน และเข็มนาฬิกาชี้ไปที่ตัวเลข 13 (XIII)
เปรียบเทียบถึงการเดินทางครั้งใหม่ของ Hamanasu จนเป็น SRT Royal Blossom ซึ่งจะสร้างช่วงเวลาแห่งความสุขและความพิเศษที่จะเกิดขึ้นกับการเดินทางท่องเที่ยวด้วยรถไฟในประเทศไทย
ภายในขบวนรถไฟ ประกอบด้วย สันทนาการครบครัน ออกแบบบานหน้าต่างด้วยกระจกขอบทองกว้างพิเศษ ชมวิวทิวทัศน์ได้กว้างกว่ารถโดยสารทั่วไป พร้อมมุมคาเฟ่ เพื่อให้ผู้โดยสารสัมผัสบรรยากาศวิวสองข้างทางอย่างเต็มที่ เบาะหุ้มที่นั่งเป็นกำมะหยี่ เปลี่ยนผ้าม่านที่สามารถปรับระดับได้ เปลี่ยนหลอดไฟให้เป็นหลอด LED งานตกแต่งหลักทำจากไม้สนซีดาร์ซึ่งมีความคงทนสวยงาม ติดตั้งบันไดทางขึ้น-ลงสำหรับรองรับชานชาลาสูงและต่ำ โดยใช้วัสดุจากไม้สักและคลิบด้วยทองเหลืองแท้ที่พับเก็บได้ สามารถรองรับรถวีลแชร์ของผู้พิการตามมาตรฐาน Universal ตลอดจนมีเครื่องฟอกอากาศทุกคัน
สำหรับตู้โดยสารทั้ง 5 คันก็มีความเก๋มากมาย ตู้ที่ 1 Group Car จำนวน 1 คัน โดยดัดแปลงให้เป็นห้องโดยสารแบบกลุ่มส่วนตัว จำนวน 4 ห้อง แต่ละห้องสามารถรองรับได้ 4-6 คน สามารถชมวิวทิวทัศน์ได้กว่า 180 องศา ประตูเซนเซอร์ มีทางเดินที่กว้างขวาง สะดวกสบายรองรับรถวีลแชร์ นอกจากนี้ ยังมีมีลิฟต์ขนาดใหญ่ จำนวน 2 ตัว และห้องน้ำสำหรับรองรับผู้พิการด้วย
ตามมาด้วยรถโดยสาร Passenger Car จำนวน3 คัน โดยดัดแปลงเป็นห้องโดยสารแบบรวม มีทั้งหมด 48 ที่นั่ง/คัน ที่นั่งมีทั้งแบบหันหน้าเข้าหาหน้าต่างเพื่อชมวิว หรือปรับเบาะหันหน้าเข้าหากันเพื่อทำกิจกรรมในกลุ่มเพื่อนได้ พร้อมทั้งช่องเสียบสาย USB ทุกที่นั่ง ซึ่งแต่ละตู้จะมีเบาะที่นั่งที่มีสีสันต่างกัน สื่อถึงการเดินทางในแต่ละครั้ง ผู้โดยสารจะได้รับความประทับใจที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา เปรียบเหมือนการเบ่งบานของดอกไม้ในแต่ละฤดูกาล นอกจากนี้ ยังมีอีก 8 ที่นั่งที่แยกออกมาสำหรับผู้ที่ต้องการความเป็นส่วนตัว
ขณะที่รถโดยสาร Leisure Car จำนวน 1 คัน ดัดแปลงให้เป็นรถเสบียง สำหรับให้บริการอาหารและเครื่องดื่มที่ผู้โดยสารสามารถมาใช้บริการหรือซื้อกลับไปรับประทานที่ตู้โดยสารได้ ภายในออกแบบเคาน์เตอร์บาร์ให้อยู่ตรงกลาง
ทำให้ผู้โดยสารสามารถเดินด้านข้างได้ทั้ง 2 ด้าน มีพื้นที่กว้างขวางสามารถทำกิจกรรมร่วมกันได้ และกระจกมีขนาดใหญ่เป็นพิเศษสามารถนั่งชมวิวทิวทัศน์ได้อย่างสบาย นอกจากนี้ บริเวณด้านท้ายตู้มีพื้นที่โล่งที่ให้นักท่องเที่ยวสามารถมายืดเส้นยืดสายพักผ่อนอริยาบถ ได้อีกด้วย
ขณะที่งานด้านเทคนิค มีการปรับปรุงระบบห้ามล้อ และปรับปรุงแคร่และความกว้างของเพลาล้อใหม่ จากเดิม 1.067 เมตร ให้เป็นขนาด 1 เมตร ตามมาตรฐานทางรถไฟไทย การปรับปรุงระบบปรับอากาศ การปรับปรุงระบบไฟฟ้าโดยใช้เครื่องยนต์จากรถ Power Car ในการจ่ายกระแสไฟฟ้า ซึ่งช่วยลดมลภาวะทางเสียงและอากาศ เปลี่ยน
ปลั๊กไฟจาก 110 โวลต์ ที่ใช้ในประเทศญี่ปุ่น ให้เป็น 220 โวลต์ โดยได้ติดตั้งปลั๊กแบบมาตรฐาน และ USB Port เพื่อความสะดวกสบายในการใช้งาน นอกจากนี้เปลี่ยนห้องสุขาให้เป็นระบบสุญญากาศระบบเดียวกับเครื่องบิน เปลี่ยนถังเก็บน้ำให้มีขนาดใหญ่กว่าเดิม รวมถึงเปลี่ยนชุดหัวสูบถ่ายจากถังเก็บสิ่งปฏิกูลที่สามารถใช้ร่วมกับรถโดยสารอื่นได้
หรูหราฉีกกฎรถไฟไทยในแบบเดิมๆไปมาก ทำเอาหลายคนเฝ้ารออยากจะใช้บริการ SRT ROYAL BLOSSOM กันเพียบแน่ๆ
หน้า 1 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,003 วันที่ 23 - 26 มิถุนายน พ.ศ. 2567