ปัจจุบันการเดินทางจากไทยเข้าไปเที่ยวเวียงจันทน์ ที่ผ่านมาเราสามารถนั่งรถไฟหนองคายเข้าไปลงที่สถานีท่านาแล้ง (ลาว) ได้อยู่แล้ว แต่ล่าสุดการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งชาติลาว เตรียมจะเปิดเดินรถ จากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ กรุงเทพไปยังเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ในเดือนกรกฎาคมนี้
เวียงจันทน์ เป็นอีกหนึ่งเมืองท่องเที่ยวของประเทศลาวที่น่าสนใจ สามารถเดินทางไปเที่ยวได้ง่ายๆ ไม่ยุ่งยากซับซ้อน อีกทั้งภาษาลาว ก็มีความคล้ายกับภาษาไทย
ทำให้คนไทยที่เดินทางไปเที่ยวจึงรู้สึกคุ้นเคยและเข้าถึงที่เที่ยวต่างๆในเวียงจันทน์ได้เป็นอย่างดี ที่เที่ยวหลักที่คนชอบไปเที่ยวคงหนีไม่พ้น ประตูชัย พระธาตุหลวง หอพระแก้ว วัดสีสะเกด เป็นต้น
ก่อนหน้านี้การรถไฟไทย-ลาว ได้ร่วมมือกันทดสอบการเดินขบวนรถไฟระหว่างสถานีอุดรธานี-สถานีหนองคาย-สถานีท่านาแล้ง-สถานีเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) แล้วเสร็จตั้งแต่ไปเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567
โดยผลการทดสอบเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีปัญหาอุปสรรคในการเดินรถใดๆ ทำให้เราสามารถนั่งเครื่องบินมาลงที่สนามอุดรธานี นั่งรถไฟต่อไปยังหลวงเวียงจันทน์ได้เลย โดยไม่ต้องต่อรถโดยสารอื่นอีก
ขณะเดียวกันยังได้ขยายความร่วมมือ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดเดินขบวนรถระหว่างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ในเส้นทางสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-อุดรธานี-หนองคาย-เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ซึ่งจะเริ่มทดลองเดินรถเสมือนจริง ระหว่างวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 นี้
ขบวนรถเที่ยวปฐมฤกษ์ จะเดินทางด้วยขบวนรถเร็วที่ 133 กรุงเทพอภิวัฒน์ - เวียงจันทน์ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 11 ชั่วโมง ในการเดินทางและผ่านกระบวนการพิธีศุลกากรผ่านแดน (ขาออก) ณ สถานีหนองคาย ก่อนจะถึงสถานีปลายทางเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) และผ่านกระบวนการพิธีศุลกากร (ขาเข้า) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
แนวเส้นทางให้บริการรถไฟ สายกรุงเทพอภิวัฒน์ - เวียงจันทน์ จะใช้เส้นทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ โดยแยกออกจากทางรถไฟสายเหนือที่สถานีรถไฟชุมทางบ้านภาชี ผ่านจังหวัดสระบุรี เข้าสถานีรถไฟชุมทางถนนจิระ จังหวัดนครราชสีมา ผ่านจังหวัดขอนแก่น จังหวัดอุดรธานี จังหวัดหนองคาย ก่อนจะข้ามสะพานมิตรไทย-ลาวแห่งที่ 1 เข้าสถานีรถไฟท่านาแล้ง และสิ้นสุดที่สถานีเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
โดยขบวนรถไฟจากกรุงเทพสู่เวียงจันทน์จะเปิดให้บริการไป-กลับ จำนวน 2 ขบวน ประกอบด้วย รถธรรมดา ชั้น 3 (พัดลม) 152 ที่ รถนั่งปรับอากาศ ชั้น 2 จำนวน 64 ที่นั่ง และรถนั่งและนอนปรับอากาศ ชั้น 2 จำนวน 30 ที่นั่ง พ่วงไปกับขบวนรถเร็วที่ 133
นอกจากนี้ ยังได้เปิดให้บริการเส้นทางอุดรธานี - เวียงจันทน์(คำสะหวาด) – อุดรธานี ไป-กลับ อีก 2 ขบวน รวมเป็น 4 ขบวน/วัน
ผู้ที่ประสงค์เดินทาง สามารถติดต่อซื้อตั๋วโดยสารและสำรองที่นั่งล่วงหน้า (สูงสุด 180 วัน) ที่สถานีรถไฟทุกแห่งทั่วประเทศ ซึ่งผู้โดยสารจะต้องมีหนังสือเดินทาง (Passport) หรือ หนังสือผ่านแดน (Border Pass)
ทั้งนี้เพื่อใช้ในการทำพิธีการทางศุลกากร และตรวจคนเข้าเมืองที่สถานีหนองคาย และเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ก่อนการเดินทางข้ามประเทศ
ขณะเดียวกันการรถไฟฯ ยังได้รับความร่วมมือจาก สมาคมผู้ประกอบการขนส่งที่เวียงจันทน์ ในการจัดรถโดยสารรับ-ส่ง อำนวยความสะดวกในการเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ อีกด้วย
การเดินท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างกรุงเทพฯ-เวียงจันทน์ มีความสะดวกมาก โดยเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เราไม่ต้องบินจากกรุงเทพฯไปเวียงจันทน์ แต่การนั่งรถไฟไปเที่ยวก็เป็นอีกหนึ่งรูปแบบในการเดินทางท่องเที่ยวที่น่าจะโดนใจใครอีกหลายๆ คน
หน้า 1 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,003 วันที่ 23 - 26 มิถุนายน พ.ศ. 2567