นายสุธัช เรืองสุทธิภาพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เงินเทอร์โบ จำกัด ผู้ให้บริการทางการเงินภายใต้แบรนด์ "เงินเทอร์โบ" เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนที่จะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ช่วงกลางปี 65 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินมาใช้ในการขยายธุรกิจ ซึ่งบริษัทมีแผนจะขยายสาขาให้ได้ 3,000 สาขาในปี 68 เพื่อให้สามารถบริการลูกค้าได้ครอบคลุมทั่วประเทศ จากปัจจุบันที่บริษัทมีสาขาเปิดให้บริการอยู่กว่า 550 สาขา โดยที่สิ้นปีนี้จะเปิดให้บริการเพิ่มเป็น 650 สาขา รวมถึงการนำเงินไปลงทุนขยายทีมเทคโนโลยี ซึ่งบริษัทมองว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการทำธุรกิจในอนาคต
นอกจากนี้ ก็จะนำเงินส่วนหนึ่งมาใช้เพื่อการปล่อยสินเชื่อ หรือเป็นเงินหมุนเวียนของธุรกิจ เพราะธุรกิจของบริษัทต้องใช้เงินทุนเป็นจำนวนมากในการให้บริการ ซึ่งขั้นตอนในปัจจุบันบริษัทเตรียมยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ หรือไฟลิ่ง (Filing) ให้กับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยมีหลักทรัพย์กสิกรไทยเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน (Financial Advisor : FA) ซึ่งเชื่อว่าขั้นตอนทุกอย่างจะผ่านไปได้ด้วยดี เนื่องจากบริษัทมีการวางโครงสร้างพื้นฐาน และระบบบริหารจัดการที่ดีมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัทวันแรก
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของบริษัทที่ผ่านมานั้น มีอัตราการเติบโตทั้งด้านรายได้ รวมถึงฐานลูกค้า และจำนวนสาขาอย่างต่อเนื่องตลอด 3 ปี โดยปี 63 บริษัทมีรายได้โตขึ้น 3 เท่าจากปี 62 ส่วนปี 64 คาดว่าจะมีรายได้โตเกือบเท่าตัวจากปีก่อน ขณะที่ปี 65 น่าจะมีรายได้โตอีกเกือบเท่าตัว ซึ่งการเติบโตดังกล่าวมาจากปัจจัยสำคัญในเรื่องของการให้บริการที่มีความรวดเร็ว จริงใจ ให้เกียรติ ตรงไปตรงมา สามารถตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าได้อย่างตรงจุด รวมถึงการเปิดให้บริการ 7 วันต่อสัปดาห์ทุกสาขา สามารถรับเงินได้ทันที โดยมองว่าเป็นสิ่งที่บริษัทมีมากกว่าผู้ให้บริการรายอื่น ซึ่งมีผลทำให้บริษัทมีอัตราการเติบโตของธุรกิจสูงที่สุดในอุตสาหกรรมนี้
อย่างไรก็ดี จากรูปแบบการให้บริการดังกล่าวได้กลายเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่สำคัญของบริษัท เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ที่เพิ่มมากขึ้นมาจากการแนะนำกันแบบปากต่อปากของลูกค้าที่เคยใช้บริการสินเชื่อของบริษัท โดยบริษัทจะปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรให้กับพนักงาน ซึ่งจะมุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นลำดับแรก อีกทั้งยังมีความเข้าใจสภาพคล่องทางการเงินของลูกค้าที่อาจจะไม่สม่ำเสมอ ซึ่งเมื่อลูกค้ามีปัญหาก็พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ ทำให้เกิดความผูกพันระหว่างบริษัทกับลูกค้า โดยบริษัทจะมีทีมสำรวจที่คอยสอบถามความพึงพอใจอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่เฉพาะวันแรกที่ได้รับการอนุมัติเงินกู้ ซึ่งบริษัทจะได้คะแนนเกือบเต็มมาโดยตลอด
“บริษัทจะให้เกียรติลูกค้าทุกคนอย่างเท่าเทียม โดยมีความเข้าใจลูกค้าอย่างแท้จริงในเรื่องของรายได้ที่อาจจะไม่แน่นอน ดังนั้น บริษัทจึงมีความยืดหยุ่นให้กับลูกค้าเสมอ มุ่งเน้นการเข้าไปให้ความช่วยเหลือลูกค้าในยามที่เกิดปัญหา ซึ่งบริษัทจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับนโยบายการยึดทรัพย์สินของลูกค้ามาขายทำกำไร"
สำหรับผลิตภัณฑ์ของเงินเทอร์โบที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน ประกอบด้วย สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เป็นหลัก และยังมีสินเชื่อโฉนดที่ดินเพื่อสนองต่อความต้องการของลูกค้า โดยในอนาคตบริษัทมีแผนที่จะเปิดให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล หรือนาโนไฟแนนซ์ ซึ่งบริษัทมีใบอนุญาตอยู่พร้อมเปิดให้บริการ เพียงแต่ต้องรอให้ถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมเท่านั้น เนื่องจากการให้บริการสินเชื่อดังกล่าวทำกำไรได้ค่อนข้างยาก แม้ว่าจะมีอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 33% แต่หนี้สูญเยอะมาก โดยบริษัทมองตนเองเป็นผู้ให้บริการทางการเงินของคนกลุ่มที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงิน ดังนั้น หน้าที่ของบริษัทก็คือการคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับลูกค้าของเราให้ได้มากที่สุด
นายสุธัช กล่าวต่อไปอีกว่า แนวโน้มของตลาดไมโครไฟแนนซ์นั้น เชื่อว่ายังเป็นตลาดที่มีการแข่งขันกันอย่างหนักต่อไป ซึ่งจะส่งผลทำให้อัตราดอกเบี้ยมีโอกาสลดลงอยู่ต่อเนื่อง แต่ผู้ให้บริการจะมีกำไรโตมากขึ้นจากการแย่งชิงพื้นที่ส่วนแบ่งมาจากาหนี้นอกระบบ กำไรต่อลูกค้าอาจจะลดลงแต่จำนวนลูกค้าที่มากขึ้นนั้นทำให้ภาพรวมแล้วยังเติบโตได้ดี เชื่อว่าอุตสาหกรรมนี้ยังเติบโตได้อีกในระยะยาว ซึ่งเงินเทอร์โบก็พร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งของตลาด เพื่อให้บริการกับลูกค้า
“การมีคู่แข่งเพิ่มมากขึ้นเป็นเรื่องปกติของการทำธุรกิจ โดยตนถือว่าเป็นเรื่องที่ดีตราบใดที่อยู่ในกรอบของกติกา เพราะสุดท้ายแล้วการแข่งขันในตลาดจะทำให้ลูกค้าได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง และการให้บริการที่ตอบโจทย์มากขึ้น ขณะที่ทุกบริษัทก็จะแข็งแกร่งขึ้นจากการปรับตัว"
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (Covid-19) บริษัทได้ดำเนินการช่วยเหลือลูกค้าหลากหลายแนวทาง เช่น ลูกค้าที่ขาดเงินหมุนแต่กิจการยังไปต่อได้ บริษัทก็จะให้เงินเพิ่มเพื่อเติมสภาพคล่องให้กับธุรกิจ หรือลูกค้าที่รายได้ลดลง แต่ยังมีความตั้งใจที่จะชำระหนี้ขอผ่อนน้อยลง บริษัทก็จะยืดหนี้ให้ เป็นต้น โดยเรียกว่าเป็นการปรับตามความต้องการของลูกค้าแต่ละราย
บริษัทฯเคยปรับตัวมาครั้งหนึ่่งในปีที่ผ่านมาจากการปรับลดเพดานดอกเบี้ย โดยเลี่ยงการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าบางกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ส่วนในสถานการณ์ปัจจุบันก็คงต้องปรับตัวต่อไป ซึ่งอาจจะต้องระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น โดยเชื่อว่าเป็นแนวทางที่ผู้ประกอบการทุกรายปฏิบัติ ซึ่งบริษัทจะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบไม่มาก และให้ความใกล้ชิดกับลูกค้ามากขึ้น เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที ขณะที่การขยายสาขาในการให้บริการก็ยังเติบโตอยู่ แต่การเติบโตอาจต้องชะลอตัวตามสถานการณ์ เพื่อรอช่วงเวลาที่เหมาะสม
“บริษัทมีการปรับกลยุทธ์การปล่อยสินเชื่อให้รัดกุมมากขึ้นตั้งแต่โควิดระบาดรอบแรก โดยผ่านมาแล้ว 1 ปีครึ่งมั่นใจมากว่าสามารถบริหารจัดการได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังทำให้สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) เพิ่มขึ้น แต่ก็ดีกว่าที่คาดกาณ์ไว้ โดยปัจจุบันหนี้เสียของบริษัทในภาพรวมอยู่ที่ประมาณ 1% กว่า ซึ่งเชื่อว่ากรณีเลวร้ายสุดก็น่าจะไม่เกิน 2%”