IMF ฉีดเงิน 1.4 แสนล้าน ตุนทุนสำรอง ฟื้นเศรษฐกิจไทย

08 ก.ย. 2564 | 09:20 น.

IMF ร่วมแก้วิกฤติ จัดสรร 6.5 แสนล้านดอลลาร์ให้สมาชิก ไทยเฮรับ 1.4 แสนล้านบาท ตุนทุนสำรอง รับรัฐเดินหน้าฟื้นเศรษฐกิจ หลังโควิด-19 คลี่คลาย พุ่งเป้า 3 กลุ่มหลัก “ท่องเที่ยว-อสังหา-บริการ” เหตุจ้างงานสูงใช้เงินไอเอ็มเอฟหรือไม่ ต้องดูเงื่อนไข

การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเผชิญความไม่แน่นอนสูงมาก และยังทำให้ช่องว่างระหว่างประเทศที่ร่ำรวยกับประเทศยากจนกว้างขึ้น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF จึงมีมติจัดสรรเงินจากกองทุน SDRs จำนวนมากถึง 6.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯให้กับประเทศสมาชิก สามารถกู้ไปใช้ตามสัดส่วนโควตาที่ประเทศตนมีอยู่ในกองทุน IMF

 

เป็นที่คาดหมายว่า ราว 2.75 แสนล้านดอลลาร์ จะถูกจัดสรรให้กับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งรวมถึงประเทศรายได้ต่ำ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ซึ่งนับเป็นวิกฤติรุนแรงที่สุดอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

IMF ฉีดเงิน 1.4 แสนล้าน ตุนทุนสำรอง ฟื้นเศรษฐกิจไทย

IMFแจกไทย 1.4แสนล้าน

การจัดสรรเงินจากกองทุน SDRs เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2564 ดังปรากฏในตัวเลขของทุนสำรองทางการระหว่างประเทศของไทย ณ วันที่ 27 สิงหาคมที่พบว่า เพิ่มขึ้น 7,555.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหลักๆมาจากบัญชีสิทธิพิเศษถอนเงิน (SDRs) ที่เพิ่มขึ้น 4,384.54 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากสัปดาห์ก่อนหน้า หรือประมาณ 1.4 แสนล้านบาท 

 

ขณะเดียวกันยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศที่เริ่มทรงตัว ส่งผลให้ศบค.ผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน และมีกระแสข่าวว่าในการประชุมศบค.วันที่ 10 กันยายน ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จะมีีการพิจารณาทบทวนการใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั้งมาตรา 5 การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร จะให้สิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายนนี้ และรวมถึงมาตรา 9 ซึ่งใช้ออกข้อกำหนดต่างๆ โดยจะกลับไปใช้กฎหมายพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 แทน

เงินกู้5แสนล้านไม่พอ

ดังนั้นภาพจากนี้ไป จะเป็นการเดินหน้าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี ซึ่งมีรายงานข่าวจากกระทรวงการคลังว่า เป้าหมายหลักของการกระตุ้นเศรษฐกิจจะอยู่ในภาคเศรษฐกิจสำคัญ 3 กลุ่มคือ ภาคท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์และภาคบริการ เพราะแม้สัดส่วนรายได้ต่อจีดีพีจะเพียงประมาณ 13% แต่สัดส่วนการจ้างงานสูงมาก

 

“การทำงานจะเป็นการรับฟังจากภาคเอกชนในระดับจังหวัด(กรอ.)ผ่านคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.)เพื่อให้กระตุ้นได้ตรงเป้าหมายที่สุด โดยจะเริ่มจากโครงการ เพื่อดูว่า จะต้องใช้เม็ดเงินเท่าไหร่ ซึ่งเบื้องต้นคาดว่า เงินกู้ 5 แสนล้านบาทนั้นไม่พอ ต้องดูว่าจะสามารถดึงเงินจากส่วนไหนออกมาใช้อีก หรือจะต้องออกเป็นพระราชบัญญัติ (พรบ.) กู้เงินอีกครั้ง"แหล่งข่าวกล่าว

 

ขณะที่เงินไอเอ็มเอฟจัดสรรมานั้น แม้จะมาปรากฏอยู่ในทุนสำรองทางการระหว่างประเทศแล้วก็ตาม แต่ธปท.ยังไม่สามารถบอกได้ว่า จะจัดสรรเงินก้อนนี้ไปใช้ทำอะไร ซึ่งจะต้องรายงานให้รัฐบาลทราบก่อน และหลังจากนั้นต้องมาหารือว่า มีความจำเป็นต้องนำเงินก้อนนี้ไปใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหรือไม่

 

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า  เงิน SDRs ที่โอนเข้ามา เข้าใจว่า ไม่ใช่เงินให้เปล่า ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้มีการถอนออกมาใช้แต่อย่างใด เพราะหากจะถอนมาใช้ จะต้องเสียดอกเบี้ยด้วย ซึ่งรายละเอียดต้องไปสอบถามจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)

กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)

แนะกระตุ้น3ระยะ

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน)กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น จำเป็นต้องมี 3 ระยะคือ ระยะแรกยังจำเป็นต้องเดินหน้ามาตรการเยียวยา เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นเท่าที่ควร ขณะที่ประชาชนมีรายได้น้อย ไม่มีงานทำและผู้ประกอบการยังขายได้น้อย โดยเฉพาะภาคบริการ

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา

ระยะที่สอง เมื่อเศรษฐกิรเริ่มฟื้น จึงดำเนินมาตรการฟื้นฟูเพื่อช่วยผู้ผลิตและกระตุ้นฝั่งผู้ซื้อในกลุ่มที่มีกำลังซื้อ โดยเน้นกระตุ้นในภาคบริการ ทั้งมาตรการคนละครึ่งหรือการใช้จ่ายเพื่อเคลมเงินภาษี เป็นต้น ที่สำคัญต้องให้เยอะและยาว เหตุสถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูง

 

ระยะที่สาม มาตรการเพื่อเป็นเครื่องมือในการปรับตัว เนื่องจากโลกหลังโควิด-19 ไม่เหมือนเดิม เช่น ความต้องการสินค้าและบริการจะเปลี่ยนไป ซึ่งเห็นได้จากการประชุมออนไลน์มากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีกลไกช่วยให้ภาคธุรกิจปรับตัว โดยภาครัฐจะต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้รองรับกับโลกยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็น Digital Connectivity และผู้ประกอบการเองก็ต้องสามารถเข้าถึงสินเชื่อด้วย

 

“มาตรการระยะ 2 และ 3 สามารถทำพร้อมกันได้ เพื่อรองรับความไม่แน่นอน” ดร.สมประวิณกล่าว

 

เร่งฟื้นสาธารณสุข

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคาร กรุงไทย จำกัด(มหาชน)กล่าวว่า ไทยจะได้รับเงินจาก IMF ราว 4.4 พันล้านดอลลาร์ หรือ ประมาณกว่า 1.4 แสนล้านบาท โดย IMF หวังว่า ประเทศสมาชิกจะนำเงิน SDR ดังกล่าว มาบริหารจัดการปัญหาการระบาดโควิด-19  อาทิ จัดซื้อวัคซีนประสิทธิภาพสูง รวมถึงนำเงินมาพัฒนาระบบสาธารณสุข และสำรองเงินบางส่วนไว้เสริมความแข็งแกร่งของเงินทุนสำรอง ซึ่งต้องติดตามว่า ทางรัฐบาลและธปท.จะมีแนวทางการใช้เงินดังกล่าว เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจอย่างไร

  พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคาร กรุงไทย จำกัด(มหาชน)

“ในระยะถัดไป จะเริ่มเห็นรัฐบาลและธนาคารกลางแต่ละประเทศทยอยเบิกจ่ายเงิน SDR เพื่อนำเงินมากอบกู้วิกฤติการระบาด ซึ่งประเด็นสำคัญ ต้องฟื้นระบบสาธารณสุขก่อน ด้วยการจัดหาวัคซีนประสิทธิภาพสูง รวมถึง อุปกรณ์ทางการแพทย์และยา” นายพูนกล่าว

 

นำเงินมาเพิ่มค้ำประกัน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า เงินที่ไทยได้จาก IMF หากสามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ ได้ นอกจากจัดซื้อวัคซีนและยา อยากให้รัฐบาลนำเงินมาใช้ในหลายด้านที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ที่สำคัญคือ มาใช้ในการเพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันความเสียหายจากเงินกู้ภาคธุรกิจผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็น 60% ขึ้นไป เพราะบางธุรกิจอาจต้องค้ำประกันถึง 100% เช่นธุรกิจบริการ เพื่อให้สามารถกลับมาเดินหน้าต่อได้ ตรงนี้อยากเห็นเป็นรูปธรรมมากที่สุด

สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)

ต่อมาคือ การชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ที่ผิดนัดชำระสถาบันการเงิน ที่ช่วงนี้ มีหลายรายต้องหยุดพักชำระหนี้ รวมถึงขอให้หยุดในเรื่องการชำระดอกเบี้ยด้วยเนื่องจากธุรกิจยังไปต่อไม่ได้ และควรใช้ในการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจเพิ่ม เช่น ในโครงการคนละครึ่ง และโครงการอื่น ๆ การเยียวยาประชาชนและแรงงานในภาคธุรกิจ การกระตุ้นการจ้างงาน

 

หน้า 1  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,712 วันที่ 9 - 11 กันยายน พ.ศ. 2564