เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ฮอนด้าจัดงานเปิดตัว “แจ๊ซ ไมเนอร์เชนจ์” แบบออนไลน์สายตรงถึงผู้บริโภคนำเสนอผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊กและเว็บไซด้วยโปรดักชันแบบจัดเต็มทั้งสด ทั้งแห้ง(ทำเอาไว้แล้ว)ได้เนื้อ ถึงนํ้า เรียกว่าถ้าขายก๋วยเตี๋ยวก็ลูกค้าแน่นร้าน เพราะเลือกโปรโมตช่วง 6 โมงเย็นซึ่งเป็นเวลาที่คนส่วนใหญ่เลิกงานแล้ว
ผมชื่นชมความกล้าของฮอนด้าสำหรับแผนสื่อสารการตลาด-ประชาสัมพันธ์แบบตัดท่อถึงกลุ่มเป้าหมายโดยตรง และเชื่อว่าจะเป็นต้นแบบของอีเวนต์อื่นๆต่อไป ขณะเดียวกันยังทำให้ผมย้อนคิดถึงความเด็ดเดี่ยวของฮอนด้าที่จัดงานเปิดตัวแจ๊ซ โฉมนี้ (โมเดลเชนจ์) เมื่อ 3 ปีก่อนที่ไบเทค บางนา ในช่วงสถานการณ์บ้านเมืองกำลังคุกรุ่นและมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก
สุดท้ายหลังจากฮอนด้าจัดงานเปิดตัว “แจ๊ซ โมเดลเชนจ์” ต่อสื่อมวลชนช่วงบ่ายวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ตกเย็นก็เกิดรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง
ดังนั้นแจ๊ซ เจเนอเรชันที่ 3 จึงเป็นรถยนต์รุ่นที่สร้างปรากฏการณ์ใหม่ และอยู่เคียงคู่กับประวัติศาสตร์ประเทศไทยในแบบที่ลืมได้ยากครับ
ส่วนรุ่นไมเนอร์เชนจ์ นอกจากการเปิดตัวผ่านสื่อออนไลน์ก็ไม่มีความตื่นเต้นแปลกใจอื่นๆ เพราะ ฮอนด้าแต่งหน้าทาปากให้ดูสดใหม่ไปตามเรื่อง พร้อมยันราคาขายเดิม 5.55-7.54 แสนบาท และเปลี่ยนชื่อรุ่นย่อยของตัวท็อปเป็น RS แทน SV ส่วนเครื่องยนต์ไม่ได้ปรับปรุงอะไร(ขณะที่มาเลเซียมีรุ่นไฮบริดแล้ว)
สิ่งที่เปลี่ยนไปคือการออกแบบกระจังหน้าและกันชนหน้า-หลังใหม่ ไฟหน้าพร้อมไฟส่องสว่างสำหรับการขับขี่ในเวลากลางวันแบบ LED ล้ออัลลอยลายใหม่ ภายในห้องโดยสารใช้เบาะนั่งสีดำลายใหม่ ส่วนรุ่น RS ที่ผมได้ลองขับรูปลักษณ์ดูเข้มโดดเด่นกว่ารุ่นย่อยอื่นๆด้วย กระจังหน้าพร้อมสัญลักษณ์ RS กันชนหน้า-หลังมีลายคาร์บอนแต้มแต่ง กระจกมองข้างสีดำ ส่วนล้ออัลลอย 16 นิ้ว ประกบยาง บริดจสโตน ทูรันซา อีอาร์370 ขนาด 185/55 R16
ภายในห้องโดยสาร ใช้เบาะผ้าสีดำเดินตะเข็บด้ายสีส้ม ตัวเบาะนั่งสบายสามารถปรับตำแหน่งได้หลายระดับ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมชอบครับ เพราะกลุ่มคนใช้แจ๊ซเป็นผู้หญิงก็มาก ผู้ชายก็เยอะ แต่เบาะนั่งและพวงมาลัยสามารถยืด-หด ดันขึ้น-ลง ปรับระยะให้เหมาะสมกับทุกสรีระได้ ส่วนพวกหน้าจอสัมผัสขนาด 6.8 นิ้ว แอร์อัตโนมัติพร้อมแผงควบคุมแบบสัมผัส ปุ่มสตาร์ต-ดับเครื่องยนต์ ออพชันเหล่านี้ใช้งานง่ายและส่งให้รถดูมีมูลค่า
เหนืออื่นใดผมประทับใจความอเนกประสงค์ อย่างการนั่งโดยสารกันไป 5 คน พร้อมสัมภาระยังไม่อึดอัด ขณะที่การพับเบาะนั่งแถวสองลงมายังเพิ่มพื้นที่เก็บสัมภาระได้อีกโข เช่นผมลองวางจักรยานคันโตในแนวนอนได้สบายโดยไม่ต้องถอดล้อ(แน่นอนว่าเหลือพื้นที่ด้านบนอีกเพียบ)
ช่วงล่างและการควบคุมของแจ๊ซ ยังออกแนวตุ๋มติ๋มเน้นขับขี่สบาย ขณะที่รถทดสอบสภาพยางยังใหม่รับรองนิ่มและเสียงรบกวนน้อยเมื่อเข้าโค้งหนักๆยังเกาะถนนแน่น เพียงแต่พวงมาลัยแบบผ่อนแรงด้วยไฟฟ้าอาจจะเบามือไปนิดในลักษณะการขับแบบนี้
เรื่องช่วงล่างและการควบคุมของแจ๊ซอาจจะไม่ถึงกับ Best in class แต่ผมว่าเพียงพอต่อการใช้งาน และเหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย ขณะที่เครื่องยนต์เบนซิน i-VTEC 4 สูบ ขนาด 1.5 ลิตร รองรับแก๊สโซฮอล์ อี85 ให้กำลังสูงสุด 117 แรงม้า ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 146 นิวตัน-เมตรที่ 4,700 รอบ/นาที ประกบเกียร์อัตโนมัติ CVT ตอบสนองการขับขี่ได้เนียนๆ ความเร็วปลายไหลได้ยาวๆ ด้านเกียร์ CVT ยุคใหม่รู้สึกว่าส่งกำลังนิ่งแน่นมากขึ้น แต่ยังต้องจับจังหวะยกหรือกดเร่งคันเร่งให้เหมาะสมหากหวังสมรรถนะเต็มที่และอัตราบริโภคนํ้ามันที่ดีขึ้น
รวบรัดตัดความ...แม้ “แจ๊ซ ไมเนอร์เชนจ์” จะยันราคาเดิม (โครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ทำให้โดนเก็บเพิ่มจาก 22% เป็น 25% และถ้าไม่รองรับ E85 จะโดนถึง 30%) แต่ตัว RS ราคาก็ทะลุ 7 แสนบาท หรือวีออส ตัวท็อปค่าตัวเกือบ 8 แสนบาทเข้าไปแล้ว ทว่าใครชอบเก๋งแฮตช์แบ็กด้วยรูปทรงและความอเนกประสงค์ ขุมพลังแรงดีกว่าพวกอีโคคาร์เบนซิน 1.2-1.3 ลิตร แจ๊ซรุ่นย่อย อื่นๆยังให้ออพชันสมเหตุสมผลและเพียงพอต่อการใช้งานครับ
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,279 วันที่ 16 - 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2560