โครงการอีโคคาร์เฟสแรก ฮอนด้า ออโตโมบิล พัฒนารถราคาประหยัดขึ้นมาใหม่ วางเครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ ขนาด 1.2 ลิตร ภายใต้ชื่อ “บริโอ้” และโมเดลนี้ยังใช้ทำตลาดในบางประเทศในอาเซียนและอินเดีย
บริโอ้ ตัวถังแฮตช์แบ็ก และบริโอ้ อเมซ ตัวถังซีดาน เปิดตัวปี 2554 และ 2555 ตามลำดับ แต่ที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จด้านยอดขายนัก โดยตัวเลขสะสมนับตั้งแต่เปิดตัวจนถึงเดือนมิถุนายน 2562 บริโอ้ ทำได้ 30,604 คัน ส่วน บริโอ้ อเมซ 31,396 คัน รวมแล้ว 6.2 หมื่นคันกลมๆ
หากพิจารณาตามเงื่อนไขอีโคคาร์เฟส 1 ที่ต้องผลิตรถให้ได้ 1 แสนคันต่อปีตั้งแต่ปีที่ 5 - 8 นั้นหมายความว่า “บริโอ้” ไม่สามารถผ่านกฎเหล็กนี้ได้ โดยฮอนด้ายอมรับว่า ได้พูดคุยกับภาครัฐและปิดโครงการอีโคคาร์เฟสแรกไปเรียบร้อยแล้ว (มีผลกับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล) และขอตั้งหน้าตั้งตาลุยกับเฟส 2 ด้วย “ซิตี้ โฉมใหม่”
“เราพูดคุยและสรุปผลกับภาครัฐเกี่ยวกับการปิดโครงการอีโคคาร์เฟส 1 ซึ่งเราไม่เคยบอกว่าเราประสบความสำเร็จ คือรถจะขายได้หรือไม่ได้ขึ้นอยู่กับลูกค้ายอมรับหรือไม่ ตลาดตรงนี้มันเสรี รถบริโอ้ ในตอนนี้ก็ยังมีอยู่ เรายังขาย แต่อาจจะขายยากเพราะ ซิตี้ ใหม่ สเปกดีมาก เป็นรถที่ดีเกินคลาสไปแล้ว ส่วนเรื่องสิทธิประโยชน์ต่างๆ เมื่อเราทำไม่ได้ตามที่รัฐบาลวางเงื่อนไขไว้ ก็จะถูกลดทอนไป” นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว
ที่ผ่านมา ฮอนด้า ซิตี้ เป็นรถยอดนิยมที่ทำยอดขายอยู่ในกลุ่มผู้นำของตลาดซับ-คอมแพ็กต์ วางเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร แต่การกระโดดเข้ามาเล่นในอีโคคาร์ เฟส 2 ถือเป็นความท้าทายเพราะต้องพัฒนารถยนต์ให้เข้าเงื่อนไข ทั้งผ่านมาตรฐานยูโร 5 (เดิมยูโร 4), การปล่อย CO2 ไม่เกิน 100 กรัม/กม.(เดิม 120 กรัม/กม.) อัตราสิ้นเปลืองนํ้ามัน 23.25 กิโลเมตรต่อลิตร (เดิม 20 กิโลเมตรต่อลิตร) และต้องผลิตให้ได้ 1 แสนคันต่อปี ตั้งแต่ปีที่ 4
ฮอนด้า ซิตี้ โฉมใหม่ เจเนอเรชันที่ 5 เปิดตัวครั้งแรกในโลกที่เมืองไทย ใช้เครื่องยนต์เบนซิน 3 สูบ 1.0 ลิตร เทอร์โบ 122 แรงม้า ตัวถังขนาดยาวกว่าเดิม เคลมอัตราบริโภคนํ้ามันไว้ 23.8 กิโลเมตร/ลิตร ปล่อยCO2 ที่ 99 กรัม/กม. และสามารถรองรับนํ้ามัน E20 ได้
จากการพัฒนารถให้เข้าเงื่อนไขอีโคคาร์เฟส 2 ทำให้รถรุ่นใหม่นี้เสียภาษีสรรพสามิต 12% (จากเดิมเสีย 20%) แน่นอนว่าอัตราภาษีที่ลดลงมีผลด้านราคา โดยรุ่นใหม่ถูกลงเมื่อเทียบกับโฉมเก่า 9,500 - 71,000 บาท แล้วแต่รุ่น
“ฮอนด้า ซิตี้ โฉมใหม่ ปรับอัตราการสิ้นเปลือง รวมถึงส่วนต่างๆเพื่อให้เข้าเงื่อนไขอีโคคาร์เฟส 2 โดยเราจะเริ่มทยอยส่งรถเข้าโชว์รูมกลางเดือนธันวาคมนี้ และส่งมอบรถให้ลูกค้าในช่วงเดียวกัน แต่หากลูกค้าต้องการสัมผัสรถรุ่นนี้ สามารถชมได้ที่งานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2019 โดยฮอนด้าตั้งเป้าหมายการขายไว้ 3,500 คันต่อเดือน” นายพิทักษ์ กล่าว
นอกจาก ซิตี้ โฉมใหม่ ขุมพลัง 1.0 ลิตร เทอร์โบ ที่เปิดตัวในช่วงเวลาใกล้เคียงกับ “นิสสัน อัลเมร่า โฉมใหม่” ที่วางเครื่องยนต์พิกัดเดียวกันแล้ว ฮอนด้ายังมีทีเด็ดกับขุมพลังไฮบริด ที่คาดว่าจะทำตลาดปี 2563 ในช่วงไตรมาส 3 หรืออย่างช้าไม่เกินปลายปี
“ตามวิชัน 2030 ที่บริษัทแม่วางแผนไว้ เราจะมีรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ใน 3 ของยอดขายรถทั้งหมด ซึ่งหมายรวมถึง ไฮบริด, ปลั๊ก-อิน ไฮบริด, บีอีวี, ฟิวเซลล์ ตรงนี้ถือเป็นแผนระดับโลก ที่ไทยจะต้องเดินตามและเพิ่มสัดส่วนรถไฮบริดเข้าไป” นายพิทักษ์ กล่าวสรุป
อย่างไรก็ตาม ซิตี้ โฉมใหม่ ซึ่งเป็นรถตัวถังซีดานที่ฮอนด้าตั้งความหวังไว้สูง จากการพัฒนาใหม่ให้ดีขึ้นไปในหลายๆด้าน แต่ราคากลับลดลง ซึ่งฮอนด้ามั่นใจถึงขนาดที่ว่าในช่วงเปิดตัวไม่มีแคมเปญพิเศษ หรือไม่แถมฟรีประกันภัยชั้น 1 แบบที่ค่ายรถยนต์อื่นๆจัดเป็นธรรมเนียม จะมีเพียงนาฬิกาสมาร์ทวอตช์ “ฟิตบิต” มูลค่า 6,490 บาท แถมให้เมื่อจองและรับรถภายในวันที่ 31 มกราคม 2563 เท่านั้น
ส่วนรถซับคอมแพ็กต์ ที่พัฒนาบนพื้นฐานเดียวกันในหลายเจเนอเรชันที่ผ่านมาอย่าง “แจ๊ซ” หรือ “ฟิต” ที่ “โฉมใหม่” เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการในงานโตเกียวมอเตอร์โชว์ 2019 ฮอนด้ายัง ไม่มีแผนขึ้นไลน์ผลิตในเมืองไทย (แต่โฉมปัจจุบันยังทำตลาดอยู่)
หน้า 28-29 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,527 วันที่ 1 - 4 ธันวาคม พ.ศ. 2562