เปิดเบื้องลึกข่าวบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นย้ายหนีไทย โอดบาทแข็ง-ส่งออกได้กำไรลดลง คาดเป็นกลยุทธ์ปล่อยกระแสทิ่มรัฐบาลไทยให้ช่วยดูแล หลังบ่นมาทั้งปีไม่ได้รับการแก้ไข และเพื่อเป้าหมายสื่อสารสถานการณ์ธุรกิจซบเซากับสหภาพแรงงาน เตรียมรับมือการเจรจาโบนัส-ผลตอบแทนพิเศษ
จากกระแสข่าวช่วงปลายปี 2562 ที่ต้นเรื่องมาจากสำนักข่าว “นิกเคอิ” ว่า บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นได้รับผลกระทบหนักจากค่าเงินบาทแข็ง ทำให้รายได้จากการส่งออกลดลง และมีโอกาสย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศไทย พร้อมยกตัวอย่าง มาสด้าเตรียมโยกรุ่น CX-3 กลับไปผลิตที่ประเทศแม่
ตลอดปี 2562 เงินบาทเป็นสกุลเงินที่แข็งค่าที่สุดในเอเชีย เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ลงไปแตะ 29.92 บาท แข็งค่าที่สุดในรอบกว่า 6 ปี
ด้วยสถานการณ์นี้ บวกกับสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา และเศรษฐกิจโลกซบเซามีโอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอย ล้วนกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก ส่งผลให้ทุกค่ายต้องวางยุทธศาสตร์การผลิตในประเทศต่างๆอย่างรอบคอบ
ขณะที่มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) ออกมายอมรับว่า โควตา CX-3 ที่ผลิตในไทยเพื่อส่งออกไปออสเตรเลีย ถูกโยกกลับไปที่ญี่ปุ่นจริง แต่สาเหตุไม่ได้มาจากค่าเงินบาทแข็ง ขณะที่เอสยูวีรุ่นใหม่ CX-30 จะเริ่มผลิตที่โรงงานออโต อัลลาย แอนซ์ (เอเอที) จ.ระยอง ต้นปีหน้า พร้อมขายรถยนต์ 2 รุ่นนี้คู่กันไป
“ค่าเงินบาทไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้รถรุ่นดังกล่าวต้องย้ายฐานการผลิต ทั้งนี้เพราะโมเดล CX-3 ไม่ใช่โปรดักต์แชมเปี้ยนและไม่ได้เป็นโมเดลที่มีปริมาณการผลิตมาก ซึ่งการโยกย้ายไลน์การผลิตนั้นเป็นไปตามนโยบายของบริษัทที่ต้องบริหารจัดการในแต่ละตลาด ดังนั้นการยกเลิกการประกอบรถอเนกประสงค์ CX -3 ในไทยจึงไม่ได้มีนัยสำคัญ และมาสด้ายืนยันว่ารถยนต์รุ่นนี้ยังมีจำหน่ายอยู่ ส่วน CX-30 ไม่ได้มาทดแทน แต่มาเพิ่มไลน์โปรดักต์ให้มาสด้า” แหล่งข่าวจาก มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) กล่าว
ปัจจุบันมาสด้าใช้ “เอเอที” โรงงานที่ร่วมทุนกับฟอร์ดเป็นฐานผลิตรุ่น มาสด้า 2 มาสด้า 3 และ CX -3 ในไทย ซึ่งโรงงานแห่งนี้มีกำลังการผลิตรวม 2.75 แสนคัน/ปี ถูกแบ่งสัดส่วนผลิตระหว่าง มาสด้ากับ ฟอร์ด เท่ากัน 50: 50 (ปัจจุบันผลิตไม่เต็มกำลัง) ส่วนปิกอัพโมเดลใหม่ของมาสด้า ที่เตรียมเปิดตัวปลายปี 2563 เป็นการจ้าง “อีซูซุ มอเตอร์” ผลิตให้
มาสด้ายังลงทุน 7,200 ล้านบาท สร้างโรงงานผลิตเครื่องยนต์ ภายใต้ชื่อ มาสด้า พาวเวอร์เทรน แมนูแฟคเจอริ่ง ล่าสุดในโครงการรถยนต์ไฟฟ้ามาสด้าได้รับการอนุมัติจากบีโอไอ เพื่อขอรับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตรถยนต์แบบไฮบริด รวมไปถึงชิ้นส่วนสำคัญ ระบบจัดการแบตเตอรี่ ด้วยมูลค่าประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ ประเทศไทยผลิตรถยนต์ประมาณ 2 ล้านคันต่อปี (ขายในประเทศและส่งออกสัดส่วน 50:50) ในจำนวนนี้เกือบ 90% เป็นของบริษัทญี่ปุ่น ขณะที่ประธานใหญ่ของโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย และมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศญี่ปุ่น เคยออกมาส่งสัญญาณเรียกร้องรัฐบาลไทยหลายครั้งให้เข้ามาดูแลค่าเงินบาท
“ถ้ามีโอกาสได้เข้าไปคุยกับรัฐบาล มิตซูบิชิ มอเตอร์ส อยากให้ช่วยดูแลค่าเงินบาท หรือถ้าเป็นไปได้อยากให้ค่าเงินบาทอ่อนลงกว่าอัตราปัจจุบันประมาณ 10% ซึ่งเป็นการสะท้อนจากภาคอุตสาหกรรมที่พึ่งพาการส่งออกทั้งระบบ ไม่ใช่ความต้องการของมิตซูบิชิเพียงรายเดียว” นายโอซามุ มาสุโกะ ประธานคณะกรรมการ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น กล่าว
นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า มิตซูบิชิ มอเตอร์ส มีรายรับลดลงกว่า 2 หมื่นล้านเยน(ประมาณ 5,600 ล้านบาท) ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาของปี 2562 โดย นายโคจิ อิเกยะ หัวหน้าการเงินของ มิซูบิชิ มอเตอร์ส กล่าวว่า ยอดผลิตรถยนต์ในประเทศไทยของมิตซูบิชิ เดิมเป็นการผลิตเพื่อส่งออก 80% แต่ตอนนี้ต้องพยายามขายในประเทศไทยให้มากขึ้น เพื่อชดเชยกับยอดคำสั่งซื้อที่ลดลงจากค่าเงินบาท
นายมิจิโนบุ ซึงาตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า เงินบาทที่แข็งค่าไม่ได้กระทบกับโตโยต้าค่ายเดียว เพราะอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ส่งออกได้รับผลเช่นเดียวกันหมด ซึ่งกำไรของเราอาจลดลงบ้าง โดยการส่งออกปี 2562 คาดว่าจะทำได้ 2.7 แสนคันลดลง 8%
นั่นเป็นความเห็นแม่ทัพใหญ่ของ 2 บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่มียอดส่งออกรวมกันเกิน 6 แสนคันต่อปี แม้ยอมรับว่าเงินบาทแข็งค่าระดับนี้ มีผลโดยตรงต่อกำไร-ขาดทุนของบริษัท แต่ไม่มีค่ายไหนบอกเตรียมย้ายฐานผลิตหนีจากเมืองไทย และยืนยันว่าจะต้องลงทุนเพิ่มเพื่อปรับสายการผลิตให้รองรับกับรถยนต์และเทคโนโลยีใหม่ในอนาคต
จากข่าวที่เกิดขึ้น คาดว่าส่วนหนึ่งเป็นความตั้งใจเพื่อสื่อสารสถานการณ์ในวงกว้างผ่านสื่อท้องถิ่นชื่อดัง แล้วส่งต่อ(แปล)มายังสื่อในไทย เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือของข่าว แต่ด้วยช่องว่างและการเดินทางของข่าวอาจจะถูกใช้เป็นข้ออ้างในความเข้าใจผิดในเจตนา และที่มาของแหล่งข่าว ทว่าข่าวนั้นถูกตีพิมพ์ส่งต่อการรับรู้ไปแล้ว
ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาห กรรมยานยนต์ วิเคราะห์ว่า ข่าวญี่ปุ่นเตรียมย้ายฐานผลิตหนีไทย นอกจากจะเป็นการขู่เบาๆไปถึงรัฐบาลไทยแล้ว ยังเป็นการส่งสัญญาณไปถึงพนักงานในสายการผลิตและสำนักงานใหญ่(บริษัทขาย) ถึงสถานการณ์ที่ต้องเผชิญในปี 2563 จากปัจจัยลบในประเทศและต่างประเทศ
“ภาพรวมเศรษฐกิจปี 2563 และค่าเงินบาทแข็ง ปัญหาภัยแล้ง การปรับขึ้นค่าแรงขั้นตํ่า จะกระทบภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมเป็นห่วงโซ่ อาจมีผลให้กำลังการผลิตรถยนต์ลดลงเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ดังนั้นจึงต้องเตรียมปรับกำลังการผลิตและจำนวนคนงาน ที่สำคัญหลายบริษัทต้องเปิดการเจรจากับสหภาพแรงงานถึงโบนัสตั้งแต่ต้นปี 2563 ซึ่งค่ายรถญี่ปุ่นได้ผลตอบแทนสูงเป็นลำดับต้นๆของธุรกิจในไทย แต่ด้วยสถานการณ์เป็นแบบนี้การเจรจาจะยากขึ้น” แหล่งข่าวกล่าว
หน้า28-29 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,537 วันที่ 5 - 8 มกราคม พ.ศ. 2563