ในอนาคตเราอาจจะเรียกรถยนต์ว่าเป็น “อุปกรณ์ IT ที่สามารถเคลื่อนที่ได้” ด้วยระบบขับเคลื่อนจากพลังงานไฟฟ้า ที่ต้องชาร์จแล้วใช้เหมือนมือถือ และตัวรถสามารถอัพโหลดโปรแกรมเพื่อการสื่อสารและการอำนวยความสะดวกผ่านเทคโนโลยีระดับ 5G มากไปกว่านั้นถึงขั้นสุดคือ สามารถควบคุมและสั่งงานการขับขี่ได้เอง หรือออโตโนมัส ไดรฟ์
เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนโลก บริษัทผู้ผลิตรถยนต์จำเป็นต้องปรับตัวครั้งใหญ่ เพราะนิยามของรถยนต์ในอนาคตกำลังจะถูกเขียนขึ้นใหม่ ขณะที่โฉมหน้าของการแข่งขัน และสภาพแวดล้อมของตลาดก็เปลี่ยนไป
“โซนี่” บริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าชื่อดังของญี่ปุ่น กำลังท้าทายการเปลี่ยนแปลงนี้ ด้วยการเผยโฉมรถพลังงานไฟฟ้า 100% รุ่น “วิชัน เอส” (Vision S)
ในงานแสดงนวัตกรรม เทคโนโลยี และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพื่อผู้บริโภค (Consumer Electronics Show - CES) ที่ลาสเวกัส, สหรัฐอเมริกา ปีนี้จัดระหว่างวันที่ 7-10 มกราคม “โซนี่” สร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการนำต้นแบบอีวีสุดลํ้ามาเปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกในโลก
“วิชัน เอส” อีวีตัวถังซีดานที่มีรูปทรงคล้ายๆ “เทสลา โมเดล เอส” แต่ขนาดสั้นกว่าด้วยความยาว 4,895 มม. ระยะฐานล้อ 3,000 มม. กว้าง 1,900 มม. สูง 1,450 มม. พร้อมหลังคาแก้วพาโนรามิกซันรูฟยาวเต็มหลังคารถ
ด้านช่วงล่างหน้า-หลังเป็นปีกนก 2 ชั้น พร้อมแอร์สปริง รองรับด้วยล้อวงโตขนาด 21 นิ้วประกบยาง 245/40R21 คู่หน้า และ 275/35R21 ในคู่หลัง กับนํ้าหนักตัวรถ 2,350 กิโลกรัม
“วิชัน เอส” เป็นรถขับเคลื่อน 4 ล้อ วางมอเตอร์หนึ่งกำลัง 200 กิโลวัตต์ตัวขับเคลื่อนล้อหน้า และอีกหนึ่งตัวขับเคลื่อนล้อหลังกำลัง 200 กิโลวัตต์เท่ากัน อัตราเร่ง 0-100 กม. ทำได้ 4.8 วินาที และความเร็วสูงสุด 240 กม./ชม. ส่วนรายละเอียดทางวิศวกรรมอื่นๆ เช่น สเปกแบตเตอรี่ยังไม่เปิดเผย
เทคโนโลยีอัจฉริยะถูกนำมาใช้เพื่อความปลอดภัย และตอบสนองความสะดวกสบาย ด้วยความสามารถในการตรวจจับและสั่งงานจากเซ็นเซอร์ 33 ตัว และกล้อง 12 ตัวรอบคัน รองรับระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติระดับ 2
ภายในวางเบาะไว้ 4 ที่นั่ง แต่ละที่นั่งมีลำโพงส่วนตัวถูกฝังไว้ใต้พนักพิงหัว รวมถึงความบันเทิงแบบ 360 องศา พร้อมรองรับการสื่อสารผ่านเทคโนโลยี 5G และการอัพเดตแบบ OTA (Over-the-Air)
โซนี่ ยังได้พันธมิตรที่เป็นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนและผู้นำด้านเทคโนโลยีระดับโลก ทั้ง Bosch, Continental, NVIDIA และ Qualcomm อย่างไรก็ตามยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่นไม่ได้ระบุชัดเจนว่าจะพัฒนารถรุ่นนี้ออกมาขาย หรือเตรียมกระโดดลงไปแข่งในอุตสาหกรรมยานยนต์ ในระยะเวลาอันใกล้นี้ แต่เทคโนโลยีที่พัฒนามาพร้อมกับ “วิชัน เอส” หลายๆ ตัว น่าจะเป็นทางเลือกให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ซื้อไปใช้ต่อได้
หน้า 28-29 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,539 วันที่ 12 - 15 มกราคม พ.ศ. 2563