...ค่าตัวเกือบ 9 แสนบาทนะครับ สำหรับ “เอ็มพีวี เครื่องยนต์ 1.5 ลิตร” นำเข้ามาจากอินโดนีเซีย
แม้มิตซูบิชิ จะบอกว่านี่คือรถอเนกประสงค์แบบครอสโอเวอร์ หรือ เอสยูวี (ไม่ใช่เอ็มพีวี) ซึ่งประเด็นนี้ไม่ต้องเถียงกันอีกต่อไป เพราะแนวทางสื่อสารการตลาด และการวางระดับของโปรดักต์ชัดเจนว่า มิตซูบิชิมาถูกทาง
ปี 2562 มิตซูบิชิเป็นเพียงไม่กี่ค่ายรถยนต์ที่มียอดขายรวมเป็นบวก (ส่วนใหญ่ยอดขายติดลบกันถ้วนหน้า) แน่นอนว่าน้องใหม่ “เอ็กซ์แพนเดอร์” ช่วยส่งเสริมผลประกอบ การให้เป็นสีเขียว ด้วยการขายเฉลี่ย 1,300 คันต่อเดือน
สำหรับ มิตซูบิชิ เอ็กซ์แพนเดอร์ ครอส ตอกยํ้าภาพลักษณ์การ(อยาก) เป็นเอสยูวีมากขึ้น ด้วยการยกตัวถังสูงอีก 20 มม. โดยระยะ ตํ่าสุดจากพื้น (Ground Clearance) เพิ่มเป็น 225 มม. พร้อมเซตช่วงล่างใหม่ส่วนล้ออัลลอยลายแปลกตาขยับขนาดเป็น 17 นิ้ว (GT ใช้ 16 นิ้ว) รับกับซุ้มล้อสีดำ
การตกแต่งรวมๆ ทำให้รถดูสมบุกสมบันต่างจากรุ่นย่อยปกติ และเพิ่มมูลค่าด้วยไฟ LED รอบคัน ทั้งไฟใหญ่ (เดิมฮาโลเจน) ควบคุม ลำแสงด้วยโปรเจกเตอร์เลนส์ และไฟตัดหมอกที่ขนาดใหญ่ขึ้นด้วย ส่วนไฟหรี่รุ่น GT เดิมเป็น LED อยู่แล้ว
กันชนหน้า-กระจังหน้าออกแบบใหม่ ด้านท้ายโดดเด่นกับสีดำบริเวณมือเปิดประตู (ตรงโลโก) กันชนหลังรับกับแผงกันกระแทกขนาดใหญ่ขึ้น ส่วนบนหลังคาใช้เสาอากาศแบบครีบฉลาม และเพิ่มราวหลังคา
ตัวรถจากเดิมเน้นความหรูหรา แต่พอเป็นรุ่น “ครอส” กับชุดตกต่าง หรือซุ้มล้อสีดำตัดกับสีตัวถัง ทำให้รถดูเปรียวไม่อุ้ยอ้าย และ Ground Clearance สูงขึ้น (มากกว่าพีพีวี “ปาเจโร่ สปอร์ต” เสียอีก) ช่วยเพิ่มความอเนกประสงค์ อย่างน้อยๆก็ลุยนํ้าท่วมได้สบายใจขึ้น(เน้นขับในเมือง)
การขึ้น-ลง เข้าออกภายในห้องโดยสารไม่ถึงกับปีน (สำหรับตัวผมที่สูงเกือบ 180 ซม.) แต่สำหรับเด็กน้อยหรือผู้สูงอายุ อาจจะต้องเพิ่มความพยายามเล็กน้อย
ภายในห้องโดยสารกว้างขวาง รองรับเบาะ 3 แถว 7 ที่นั่ง โดยแถว 3 พื้นที่ไม่บีบแคบจนน่าเกลียด คุณผู้หญิงตัวเล็กๆ แทรกตัวเข้าไปนั่งได้สบาย ขณะที่ตำแหน่งคนขับสูง มองไปข้างหน้าได้ไกล ทัศนวิสัยยอดเยี่ยม (เบาะปรับแบบมือโยกทั้งหมด)
ด้านสมรรถนะ มิตซูบิชิไม่ได้ทำอะไรกับเครื่องยนต์ เบนซิน 4 สูบ ขนาด 1.5 ลิตร 105 แรงม้า และเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด (การทดสอบขับคนเดียวไม่มีผู้โดยสาร) พบว่าจังหวะออกตัวจากจุดหยุดนิ่งรถเคลื่อนตัวไปตามความคาดหมาย แต่ถ้าเลยจุดนี้ไปการตอบสนองค่อนข้างอืด
การขับขี่ย่านความเร็วกลางๆ 50-90 กม./ชม. ต้องเข่นคันเร่งกันหนัก หากต้องการความเร็วกะทันหันต้องคิกดาวน์ทุกจังหวะ
เอ็กซ์แพนเดอร์ ครอส เซตอัตราทดเฟืองท้ายไว้ 4.375 ชัดเจนว่าต้องการความกระฉับกระเฉงช่วงออกตัว ส่วนความเร็ว 120 กม./ชม.ที่เกียร์สูงสุด รอบเครื่องอยู่ที่ 2,900
ด้านอัตราบริโภคนํ้ามัน (เน้นขับในเมืองรถไม่ติด) ตัวเลขที่เห็นบ่อยคือ 8 ลิตรต่อ 100 กม.หรือ 12.5 กม./ลิตร
ตัวรถยกสูง รองเท้าใหญ่ขึ้นเป็น 17 นิ้ว ประกบยาง 205/55 R17 พร้อมเซตช่วงล่างใหม่ โดยมิตซูบิชิเปลี่ยนเบอร์สปริง และสเปกโช้กอัพ ให้ต่างจากรุ่นย่อยปกติไปเลย หวังให้การรองรับนุ่นนวลและหนึบหนับ
แม้ปรับช่วงล่างแล้ว แต่เมื่อขับจริงๆ ใช้ความเร็วสูงเกิน 100 กม./ชม. ผมยังรู้สึกว่าตัวรถโยนยวบอยู่พอสมควร โดยวิ่งทางตรงถือพวงมาลัยแน่นๆ หากถนนเป็นคลื่นหรือไม่เรียบ จะรับรู้อาการได้ชัดเจน (ขับคนเดียว)
ในทางกลับกัน ถ้าขับใช้ในเมืองความเร็วตํ่า การรองรับแรงสะเทือนของรถถือว่านุ่มนวลใช้ได้ สำหรับช่วงล่างด้านหน้าแบบแมกเฟอร์สันสตรัต เสริมเหล็กกันโคลง และเหล็กคํ้าหัวโช้กมาให้ ส่วนด้านหลังเป็นคานทอร์ชันบีม
พวงมาลัยผ่อนแรงด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าเซตมาดีครับ การควบคุมหนึบและคล่องมือ แถมนิ่งพอสมควรเมื่อเพิ่มความเร็ว ส่วนเบรกหน้าดิสก์ หลังดรัม ระยะชะลอหยุดแม่นยำ ทำได้ตามความคาดหมาย
รวบรัดตัดความ...ไม่ต้องเหนียมอายกับการสมัครเป็น “เอสยูวี” เต็มตัว สมรรถนะโดยรวมๆ สอบผ่าน แต่ถ้าให้คะแนนน้อยสุดคงเป็นเรื่องขุมพลังและเกียร์(ส่งผลกับอัตราบริโภคนํ้ามันด้วย) ภายนอกดูโดดเด่นหรูหรา ภายในดูดีสมราคา ใครชอบความใหญ่แบบ 7ที่นั่ง ชั่วโมงนี้ “เอ็กซ์แพนเดอร์” ยังเป็นทางเลือกลำดับต้นๆ เพียงแต่ราคา 9 แสนบาท หากเพิ่มเงินอีกนิดยังมีครอสโอเวอร์(บี-เอสยูวี) อย่างโตโยต้า ซี-เอชอาร์ มาสด้า ซีเอ็กซ์-30 และฮอนด้าเอชอาร์-วี ที่ความอเนกประสงค์สู้ไม่ได้ แต่สมรรถนะการขับขี่เนียนกว่าแน่นอน
คอลัมน์เทสไดร์ฟ
โดย : กรกิต กสิคุณ
หน้า16-17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,568 วันที่ 23 - 25 เมษายน พ.ศ. 2563