แม้อาเซียน 10 ประเทศ มีข้อตกลงเขตการค้าเสรี ASEAN Free Trade Area (AFTA) และอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหนึ่งในเป้าหมายหลัก เพื่อรวมฐานการผลิตเป็นหนึ่งเดียว โดยยานยนต์ที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศสมาชิกจะไม่เสียภาษีนำเข้าระหว่างกัน ทว่าในความเป็นจริงแต่ละประเทศยังใช้ มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี Non-Tariff Barriers (NBT) ในรูปแบบต่างๆ หวังรักษาฐานการผลิตในประเทศของตนเอง ซึ่งไทยที่เป็นฐานการผลิตใหญ่ที่สุดในภูมิภาค มีกำลังผลิตระดับ 2 ล้านคันต่อปี ย่อมได้รับผลกระทบอย่างหลีกเหลี่ยงไม่ได้
ที่ผ่านมา “มาเลเซีย” เก็บภาษีการขายรถนำเข้า สูงกว่ารถที่ผลิตในประเทศ ด้าน “เวียดนาม” มีข้ออ้างตรวจสอบรถยนต์นำเข้าทุกคัน เพิ่มต้นทุนและเพิ่มอุปสรรคในการส่งออก ขณะที่ “ฟิลิปปินส์” ตอบโต้ไทยเรื่องภาษีบุหรี่ จึงออกมาตรการ Safeguard เก็บภาษีเพิ่มกับสินค้าไทยหลายประเภทรวมถึงรถยนต์
สำหรับ มาตรการเก็บอากรป้องกันชั่วคราว Safeguard ในส่วนรถยนต์นำเข้าเพิ่มขึ้นจาก 0% เป็น 30% มีผลถึงเดือนสิงหาคม 2564 (ระหว่างนี้ต้องเจรจา และตรวจสอบข้อมูลระหว่างกัน)
นายองอาจ พงศ์กิจวรสิน นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาไทยส่งออกรถยนต์ไปฟิลิปปินส์ ประมาณ 1.3 แสนคันต่อปี แต่มาตรการ Safeguard จะเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกแน่นอน สะท้อนให้เห็นว่าภาพภายนอกของอาเซียนดูรวมกัน แต่จริงๆ แข่งขันกันหนัก จึงอยากให้รัฐบาลเร่งช่วยเหลือ
“อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน ดังนั้นหลายประเทศอยากบล็อกเรา เพราะเขามีอุตสาหกรรมชิ้นส่วนที่ต้องสร้างให้เข้มแข็งแม้ทางสมาคมฯ มีคณะกรรมการที่ทำงานเรื่องต่างประเทศ แต่ในภาพใหญ่อยากให้รัฐบาลช่วยเจรจาผ่านองค์กรการค้าโลก (WTO)เพราะคาดว่า นโยบายการกีดกันทางการค้าจะมีแนวโน้มหนักขึ้นเรื่อยๆ” นายองอาจกล่าว
ด้านแหล่งข่าว ผู้บริหารนิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า นิสสัน กำลังประเมินผลกระทบในมาตรการ Safeguard ของฟิลิปปินส์ เพราะที่ผ่านมา นิสสัน เทอร์รา ที่ส่งไปจากประเทศไทยได้การตอบรับดีมาก
อย่างไรก็ตาม บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น ต่างมองการณ์ไกลในปัญหาต่างๆ เหล่านี้ และพยายามกระจายโรงงานผลิตไปในแต่ละประเทศ ทั้ง โตโยต้า ฮอนด้า และมิตซูบิชิ มอเตอร์ส โดยรายหลังตั้งเป้าให้อาเซียน เป็นฐานธุรกิจที่สำคัญที่สุดของ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ในโลก (ทั้งการผลิตและการขาย)
“การลงทุนเพิ่มเติมในอาเซียน ไม่ใช่เรื่องการแข่งขันกันในแต่ละประเทศ แต่เป็นการสร้างธุรกิจในภูมิภาคนี้ให้เติบโตไปด้วยกัน โดยอาเซียนจะเป็นตลาดหลักของ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส มียอดขายต่อปีมากที่สุดในโลก (มากกว่าญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา)” นายโมะริคาซุ ชกกิ ประธานคณะกรรมการบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย กล่าว
สำหรับมิตซูบิชิ มอเตอร์ส มีกำลังการผลิตรถยนต์เต็มที่ในไทย 4.24 แสนคัน/ปี อินโดนีเซีย 2 แสนคันต่อปี ฟิลิปปินส์ 5 หมื่นคันต่อปี เวียดนาม 1 หมื่นคันต่อปี
นอกจาก มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีในอาเซียนแล้ว นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย อยากให้รัฐบาลแก้ไขข้อตกลงเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน ที่สามารถนำเข้าอีวี จากจีนมาโดยไม่เสียภาษีนำเข้า ซึ่งมีผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทย
ภาษีนำเข้า 0% ให้อีวีจีน คงปล่อยไว้ไม่ได้ เพราะจีนมี อีวี หลายแบรนด์ หรือถ้าเทียบยอดขาย(รวมรถ ICE) ไทยประมาณ 1 ล้านคันต่อปี แต่จีนขายรถ 30 ล้านคันต่อปี ดังนั้นต่อไปทุกโมเดลอาจจะมาขายในไทย ซึ่งจะกระทบกับอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ ที่การผลิตไม่สามารถทำอีโคโนมีออฟสเกลได้
“อีวีจีน 0% ภายใต้กรอบ FTA อาเซียน ต้องแก้ไขให้ได้ หากรัฐบาลหวังสร้างฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ”
ส่วนประเด็น ที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ตั้งธงให้รถยนต์ที่ขายในไทยตั้งแต่ปี 2578 ต้องเป็นรถพลังงานไฟฟ้า 100% นายองอาจ ให้ความเห็นว่า เป้าหมายนี้สามารถทำได้จริงหรือเปล่ายังไม่ทราบ แต่การส่งสัญญาณแรงแบบนี้ มีผลต่อความมั่นใจในการลงทุนของผู้ผลิตยานยนต์ และชิ้นส่วน ไม่ว่าจะเป็นค่าย ญี่ปุ่น เยอรมนี สหรัฐอเมริกา
“สมาคมฯ อยากให้อีวี เกิดเช่นกัน แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่ยั่งยืน และมีมูลค่าเพิ่มในประเทศ ซึ่งการตั้งเป้าขายอีวี ทั้งหมดในปี 2578 ไม่ใช่เรื่องง่าย”นายองอาจกล่าว
ทั้งนี้ สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ประเมินว่า ยอดผลิตรถยนต์ในประเทศปี 2564 จะทำได้อย่างตํ่า 1.5 ล้านคัน แต่ถ้าสถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น มีโอกาสขยับขึ้นไปได้ถึง 1.7-1.8 ล้านคัน แบ่งเป็นการขายในประเทศและส่งออกในสัดส่วน 50:50
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,668 วันที่ 8 - 10 เมษายน พ.ศ. 2564