One Mazda รวมใจดีลเลอร์ฝ่าโควิด-19

08 พ.ค. 2564 | 04:20 น.
อัปเดตล่าสุด :09 พ.ค. 2564 | 11:18 น.

มาสด้า เดินหน้าสู้ไม่ถอย ประกาศนโยบาย และแผนธุรกิจในปีงบประมาณ 2564 รวมใจดีลเลอร์ ฝ่าวิกฤติโควิด-19 ไปด้วยกัน

มาสด้า เซลส์ ประเทศไทย ปิดยอดขายไตรมาสแรก ปี 2564 ได้ 10,890 คัน เพิ่มขึ้น 7.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ถือเป็นผลงานดีเยี่ยม สวนทางแบรนด์รถยนต์ญี่ปุ่นที่เน้นขายรถยนต์นั่งที่ยอดขายร่วงถ้วนหน้า

ด้วยผลงานในไตรมาสแรกปีนี้ ยังส่งเสริมให้ผลประกอบการมาสด้าในปีงบประมาณ 2563 (เม.ย.63-มี.ค.64) ไม่แย่เกินไปนัก ด้วยยอดขายรวม 40,004 คัน ลดลง 23% ครองส่วนแบ่งการตลาด 5.1% และยังคงเป็น 1 ใน 10 ของประเทศที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงที่สุดของมาสด้าทั่วโลก

“ทิศทางเศรษฐกิจในปีนี้ แม้ว่าจะยังมองไม่เห็นทิศทางที่สดใสอันเนื่องมาจากการชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศและทั่วโลก ซึ่งเป็นผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งทางด้านอุตสาหกรรม ภาคการส่งออก และการท่องเที่ยว ซึ่งคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะชะลอตัวลงและตํ่ากว่าศักยภาพที่ควรจะเป็น และมากกว่าที่ประเมินไว้ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาแต่เรายังมีความหวังว่า ด้วยแรงสนับสนุนจากมาตรการต่างๆ ของทางภาครัฐที่จะเข้ามาช่วยบรรเทาปัญหาด้านสภาพคล่องทางการเงิน และจากความร่วมแรงร่วมใจกันจากทุกภาคส่วนเชื่อว่าจะช่วยประคับประคองให้เศรษฐกิจของประเทศสามารถเดินหน้าต่อไปได้” นายชาญชัย ตระการอุดมสุข ประธานบริหาร มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว และว่า

มาสด้าเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ด้วยกลยุทธ์หลักทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ 1.บริหารธุรกิจภายใต้สถานการณ์ที่ไม่แน่นอนด้วยการเรียนรู้จากข้อผิดพลาด 2.ด้านผลิตภัณฑ์ 3.การขาย 4.บริการหลังการขาย

One Mazda รวมใจดีลเลอร์ฝ่าโควิด-19

ในส่วนผลิตภัณฑ์ มาสด้ามีกลยุทธ์ “Product and Technology Value Enhancement” เพื่อสร้างความแตกต่างในตลาดและนำเสนอแต่สิ่งที่ดีให้แก่ลูกค้า โดยต้องเป็นผลิตภัณที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก มุ่งเน้นการสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง ด้วยการพัฒนาคุณค่าของแบรนด์ในทุกๆ ด้าน รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่อยู่เสมอ

เมื่อเร็วๆ นี้มาสด้าได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (xEV) จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าทั้ง 3 ประเภท HEV, PHEV และ BEV ซึ่งการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าในไทยจะเป็นไปทีละขั้นตอน โดยพิจารณากรอบเวลาของการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ได้อย่างเหมาะสมตามสถานการ พร้อมการพัฒนาโมเดลทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อ และการเปลี่ยนถ่ายจากเทคโนโลยีปัจจุบันสู่เทคโนโลยีอนาคตในช่วงเวลาที่เหมาะสม

ส่วนกลยุทธ์ด้านการขาย และการบริการหลังการขาย ยังสร้างความเชื่อมั่นและพัฒนาศักยภาพผู้จำหน่าย พร้อมนำ KPI มาเป็นดัชนีชี้วัด โดยผู้จำหน่ายจะต้องมีผลกำไรที่ดีและสามารถส่งมอบความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าได้ ควบคู่กับสนับสนุนการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ทั้งในโชว์รูมและห้างสรรพสินค้า โดยจะจัดขึ้นเป็นประจำในทุกๆ เดือน ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ภายใต้มาตรการการป้องกันโควิด-19 พร้อมเตรียมขยายเครือข่ายผู้จำหน่าย จากปัจจุบัน 138 เป็น 150 แห่ง ภายในปีงบประมาณนี้

“ส่วนการบริการหลังการขาย นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้เป็นต้นไป เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้ารับการบริการได้ทุกโชว์รูมทั่วประเทศ และเพื่อลบภาพจำเรื่องของค่าแรงในการให้บริการที่ไม่เท่ากัน มาสด้าขอประกาศอย่างเป็นทางการว่า ลูกค้าที่ซื้อรถยนต์มาสด้ารุ่นใหม่ทุกรุ่นจะได้รับแพ็คเกจพิเศษ ฟรีค่าแรงเช็กระยะตลอด 5 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร” นายชาญชัย กล่าวสรุป

สำหรับ มาสด้าตั้งเป้ายอดขายปี 2564 ไว้ 52,000 คันเพิ่มขึ้น 30% พร้อมครองแบ่งการตลาด 6.2% 

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,677 วันที่ 9 - 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2564