ตามที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ออกมาปรับตัวเลขการใช้และการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าใหม่ หรือขยับเป้าหมายให้เร็วขึ้น
กล่าวคือ “บอร์ดอีวี” โดยประธานคนก่อน ๆ เช่น ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ หรือนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมคนปัจจุบัน ที่ผ่านมาจะให้นโยบายเป้าหมายการผลิต และเป้าหมายการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในไทยรวมรถ 3 ประเภท คือ ไฮบริด (HEV) ปลั๊ก-อินไฮบริด (PHEV) และรถพลังงานไฟฟ้า100% “อีวี” หรือ Battery EV - BEV
ดันใช้รถอีวี100% 1.3 ล้านคัน
ทว่าในยุคของนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประกาศ (ต้นเดือนพฤษภาคม 2564) ว่าตัวเลขการใช้-การผลิตภายใต้เป้าหมายที่กำหนด จะนับเฉพาะรถพลังงานไฟฟ้า100% เท่านั้น โดยใช้คำว่า ZEV ซึ่งรวมถึง BEV ที่ไม่ปล่อยไอเสียเลย และรถประเภทฟิวเซลล์ FCV พลังงานไฮโดรเจน พร้อมกำหนดนโยบาย 30@30 ให้ปี 2573 (คศ. 2030) ประเทศไทยต้องผลิตรถยนต์ ZEV (รถยนต์นั่ง,รถปิกอัพ) ให้ได้ 30% หรือ 7.25 แสนคัน จากกำลังการผลิตรถทั้งประเทศ
ส่วนเป้าหมายใหญ่ที่เคยประกาศให้รถยนต์ที่ขายในปี 2578 ทุกคันต้องเป็น ZEV 100% ล่าสุดรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ย้ำว่ามีความเป็นไปได้ และจะเห็นภาพชัดจากรถยนต์นั่งก่อน ซึ่งในปีดังกล่าว “บอร์ดอีวี” ตั้งเป้าผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารวมทุกประเภทไว้ 4,040,000 คัน ในจำนวนนี้เป็นรถยนต์/ปิกอัพ 1.35 ล้านคัน รถจักรยานยนต์ 1.85 ล้านคัน และรถบัส/รถบรรทุก 8.4 แสนคัน
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์สันดาปภายใน (ICE) อยู่แล้ว มีศักยภาพ มีกลไกต่างๆ ที่พร้อม จากนโยบายที่ประกาศเป้าหมายไปชัดเจน (การผลิต-การใช้) เป็นการตอกย้ำเจตนารมณ์ที่มุ่งมั่น รักษาการเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ของภูมิภาค สอดคล้องกับทิศทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประชาคมโลก (Paris Agreement) จะยิ่งสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน ตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น
ยัน4ปีเห็นความสำเร็จ
ตั้งเป้าหมายผลิต ZEV ถึง 2.25 แสนคันในปี 2568 เป็นเพียงหมุดหมายแรก หากภายใน 4 ปี ถ้าทำได้เชื่อมั่นว่าเป้าหมายตามนโยบาย 30@30 จะสำเร็จแน่นอน ขณะเดียวกันยังสามารถดึงดูดผู้ประกอบการด้านยานยนต์ไฟฟ้า หรือ แบตเตอรีรถยนต์ ทำให้เกิดการลงทุนด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆ อีกมากมาย เนื่องจากยานยนต์สมัยใหม่ใช้ระบบการทำงานต่างๆ ที่ควบคุมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์
“จากเจตนารมณ์ที่มุ่งมั่นของรัฐบาล ในการกำหนดเป้าหมายสู่ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานสะอาด เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตามกติกาสากลที่ทั่วโลกยอมรับ จะทำให้นักลงทุนตัดสินใจมาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น โดยไม่จำกัดอยู่เฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ และที่เกี่ยวเนื่องเท่านั้น” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวสรุป
ทั้งนี้ นายสุพัฒนพงษ์ ยังเตรียมออกมาตรการเพื่อจูงใจให้ผู้คนหันมาซื้อ EV หรือกระตุ้นดีมานด์ผ่านกลไกด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี โดยนโยบายด้านภาษีได้สั่งให้กรมสรรพสามิต ไปปรับโครงสร้างการเก็บภาษีรถยนต์ใหม่ เน้นกรีนเทคโนโลยี ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งประเด็นนี้ นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ได้ทำแผนโครงสร้างการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตใหม่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าเสนอขึ้นไปแล้ว คงต้องรอการพิจารณา และประกาศจากนายสุพัฒนพงษ์ ต่อไป
สำหรับมาตรการสนับสนุนดีมานด์ EV ด้านภาษีอื่นๆ ได้มอบหมายให้หน่วยงานภาครัฐ ลงไปพิจารณาสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม เช่น กรมสรรพสามิต ดูเรื่องการขยายช่องว่างของอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ระหว่างรถยนต์ไฟฟ้า HEV PHEV และ ICE (เครื่องยนต์สันดาปภายใน) และการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และกรมศุลกากร ดูเรื่องยกเว้นหรือลดอากรศุลกากรของยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน เพื่อใช้ในการทดสอบตลาด กรมสรรพากรพิจารณาการให้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และบริษัทนิติบุคคลที่ซื้อยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงกรมการขนส่งทางบก พิจารณายกเว้นหรือลดภาษีป้ายทะเบียนประจำปี สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า
ส่วนมาตรการสนับสนุนที่ไม่ใช่ภาษี เช่น การนำรถยนต์เก่า (ICE) มากำจัดซากและได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีเมื่อนำไปซื้อ ZEV โดยให้กรมสรรพสามิต และกรมสรรพากรไปพิจารณา ขณะที่กระทรวงคมนาคม จะเข้าไปดูแผนยกเว้นหรือลดค่าทางด่วน ค่าที่จอดรถในปี 2565 - 2568 สำหรับรถยนต์ ZEV เป็นต้น
บอร์ดอีวีจี้คลอดมาตรการหนุนคนซื้อEV
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ที่ผ่านมาบอร์ดอีวี ได้มีการประชุมหารือ ถึงมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์อีวี โดยได้ติดตามความคืบหน้าการทำงานของคณะอนุกรรมการ 4 คณะ ได้แก่
โดยผลการประชุมยังไม่มีการเปิดเผยในรายละเอียดออกมา ทั้งนี้ แหล่งข่าวในกระทรวงอุตสาหกกรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ดอีวี เมื่อวาน(6 ก.ค.) เป็นการให้คณะอนุกรรมการต่างๆ ส่งการบ้าน และรับการบ้านกลับไปทำเพิ่ม ส่วนการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฟฟ้า EV ต้องรอสรุปอีกครั้ง ซึ่งจะมีการประชุมในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า