กระทรวงการคลัง เตรียมปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ เริ่มใช้ในปี พ.ศ.2569 โดยแบ่งพิกัดการปล่อยไอเสียให้ยิบย่อยเข้มข้นกว่าเดิม รถกินน้ำมันอย่างอีโคคาร์ และไฮบริดโดนหนัก ด้าน “บอร์ดอีวี” เล็งลดภาษีนำเข้า EV จากต่างประเทศเหลือ 0% แต่บริษัทนั้นต้องมีแผนประกอบในประเทศภายใน 3 ปี ด้านค่ายญี่ปุ่นโวย EV จีนได้ 0% แต่ไม่ต้องมีเงื่อนไขลงทุน
ตามที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน วางเป้าหมายให้ประเทศไทยผลิตรถพลังงานไฟฟ้า EV ถึง 30% จากกำลังผลิตทั้งหมดในปี 2573 จากนั้นในปี 2578 รถใหม่ที่จะขายในไทยต้องเป็น EV 100% โดยวางแผนสนับสนุนให้เกิดการผลิต และการใช้เพิ่มขึ้นตั้งแต่วันนี้ ผ่านนโนบายทางด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี พร้อมวางโครงสร้างพื้นฐาน ขยายสถานีชาร์จพลังงานไฟฟ้าสาธารณะให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
บอร์ด อีวี ยังพิจารณาแผนสร้างดีมานด์ในหลากหลายทางเลือก พร้อมขยายสถานีชาร์จพลังงานไฟฟ้าสาธารณะให้เพิ่มขึ้น โดยกำหนดให้มีสถานีแบบ Fast Charge (DC) ทั้งหมด 12,000 หัวจ่าย ทั่วประเทศภายในปี 2573
ดังนั้น เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์รถพลังงานไฟฟ้าไปให้ถึงจุดหมาย บอร์ด อีวี วางแผนเร่งให้มี EV ทำตลาดมากขึ้นในราคาที่เข้าถึงได้ง่าย โดยมีแผนลดภาษีนำเข้า EV จากทุกแหล่งผลิตในต่างประเทศให้เหลือ 0%
จากปัจจุบันที่ EV แบรนด์ยุโรปเสียภาษีนำเข้า 80% ญี่ปุ่น 20% และเกาหลีใต้ 40% มีเพียง EV จีนที่ได้ 0% จนสามารถทำราคาได้น่าสนใจ ทั้ง เกรท วอลล์ มอเตอร์ ประเดิมนำเข้า Ora Good Cat ราคา 9.89 แสน-1.19 ล้านบาท MG EP ราคา9.88 แสนบาท และ MG ZS EV ราคา 1.19 ล้านบาท (รุ่นปัจจุบันหมดสต๊อกแล้ว รอรุ่นไมเนอร์เชนจ์เปิดตัวต้นปี 2565) ตลอดจนค่ายรถยนต์แบรนด์ยุโรปเลือกนำเข้า EV จากจีนมาทำตลาด เช่น BMW iX3 ราคา 3.399 ล้านบาท และ Volvo XC40 Pure Electric ราคา 2.59 ล้านบาท
การลดภาษีนำเข้า EV ที่มาจากประเทศอื่นๆ ให้เป็น 0% นอกเหนือจากจีน จะเริ่มใช้อย่างเป็นทางการ 1 มกราคม 2565 แต่ภายใต้แผนของบอร์ดอีวี ยังมาพร้อมเงื่อนไขว่า บริษัทรถยนต์นั้นๆ ต้องมีแผนผลิต EV ในประเทศไทยภายในระยะเวลาที่กำหนด (รอยืนยันอย่างเป็นทางการว่า ต้องผลิตภายใน 2 หรือ 3 ปี หลังจากขอใช้สิทธิ์ภาษีนำเข้า 0%)
รายงานข่าวจากกรมสรรพสามิตระบุว่า โครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีในเดือนธันวาคมนี้จะมี 2 ส่วนคือ โครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ทั้งระบบที่ให้สิทธิภาษีต่างๆ ทั้งรถยนต์ไฮบริด อีโคคาร์ หรือ รถยนต์ปกติ จะหมดอายุลงในปี 2568 ดังนั้นจึงต้องประกาศโครงสร้างภาษีใหม่ที่จะให้เริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2569 จึงต้องหารือกับผู้ประกอบการถึงทิศทางอุตสาหกรรมรถยนต์ในอีก 5 ปีข้างหน้าว่า จะต้องส่งเสริมการใช้รถยนต์ไปในทิศทางไหนและต้องประกาศล่วงหน้า เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เตรียมตัวและปรับปรุงกระบวนการผลิต
ขณะเดียวกันในช่วง 5 ปี ก่อนที่สิทธิภาษีต่างๆ จะหมดลง รัฐบาลต้องการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า EV ให้เกิดเร็วขึ้นและมีการใช้มากขึ้น จึงต้องมีการเสนอการปรับโครงสร้างภาษีรถอีวีอีกชุดหนึ่งแยกต่างๆหากด้วย
“ที่หารือกันจะเป็นการยกเลิกภาษีนำเข้า EV จากยุโรปและญี่ปุ่นให้เหลือ 0% เท่ากับ EV จีน เพื่อให้มีการนำเข้ามามากขึ้น ภายใต้เงื่อนไขที่ทางการกำหนดด้วย” รายงานข่าวระบุ
อย่างไรก็ตาม การลดภาษีนำเข้า EV ให้เป็น 0% แต่ผู้ประกอบการรายนั้นต้องมีแผนประกอบในประเทศ ถือเป็นเงื่อนไขที่ บีโอไอ กำหนดไว้ตั้งแต่แรกในแพ็กเกจส่งเสริมการลงทุน เพียงแต่โควตานำเข้าที่ได้ (กี่คัน) จะสอดคล้องกับจำนวนเงินลงทุน
โดยเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย จะเป็นบริษัทแรกที่เริ่มใช้สิทธิประโยชน์นี้ กับ EV รุ่น EQS ที่พร้อมนำเข้ามาเปิดตัวปลายปี 2564 (แต่ยังไม่ส่งมอบ) จากนั้นจะเริ่มประกอบในประเทศต้นปี 2565 ซึ่ง EQS รุ่นประกอบในประเทศจะเป็นตัวที่ส่งมอบให้แก่ลูกค้าชาวไทย
ดังนั้น ค่ายรถยนต์ที่ยื่นแผนส่งเสริมการลงทุนต่อบีโอไอในการผลิต EV ในไทย เช่น โตโยต้า ฮอนด้า มิตซูบิชิ นิสสัน อาวดี้ มาสด้า สามารถใช้สิทธิ์นำเข้า EV โดยไม่เสียภาษีนำเข้าได้เช่นกัน
แหล่งข่าวจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น กล่าวว่า การสนับสนุน EV จากญี่ปุ่นด้วยการไม่เก็บภาษีนำเข้าถือเป็นเรื่องดี แต่ยังมีเงื่อนไขการลงทุนบังคับไว้ ต่างจากค่ายรถจีนที่ได้ลดภาษีนำเข้า EV เป็น 0% ทันที ซึ่งจากนี้ไปจะมีหลายบริษัทใช้ช่องทางนี้ในการเปิดตลาด EV ในไทย
ขณะที่โครงสร้างภาษีสรรพสามิตที่จะใช้ในปี 2569 จะมีผลกับรถยนต์นั่งที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) รวมถึง อีโคคาร์ และรถไฮบริด ที่จะมีการขึ้นภาษีปีละ 2-3% รวมถึงแบ่งพิกัดไอเสียที่มีผลต่อการเสียภาษีสรรพสามิตให้ละเอียดมากขึ้น โดยจะมุ่งส่งเสริม EV ขณะที่รถปลั๊ก-อินไฮบริด จะนำระยะทางวิ่งมากำหนดการเสียภาษีสรรพสามิต
ด้านแบรนด์นำเข้าจากเกาหลี “เกีย” นางสาวฬสนันท์ ภูนิธิพันธุ์กุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัทยนตรกิจ เกีย มอเตอร์ จำกัดเปิดเผยว่า หากภาครัฐฯลดภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าเป็น 0% ถือเป็นนโยบายที่น่าสนใจ เพราะเกียมีรถยนต์ไฟฟ้านำเข้าในรุ่น เกีย โซล อีวี ที่ปัจจุุบันจำหน่ายอยู่ที่ 2.387 ล้านบาท ซึ่งหากมีการลดภาษีจริงก็คาดว่าจะทำให้ราคาลดลงประมาณหลักแสนบาท แต่ถ้ามาพร้อมเงื่อนไขต้องลงทุนตั้งโรงงานในไทย คาดว่าบริษัทแม่น่าจะไปลงทุนที่ยุโรปมากกว่า นอกเหนือจากฐานการผลิตในเกาหลี”นางสาวฬสนันท์ กล่าว
แหล่งข่าวผู้นำเข้ารถยนต์แบรนด์ยุโรปรายหนึ่งเปิดเผยว่า การผลักดันนโยบายลดภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า 0% เป็นการปูทางให้ไทยเป็นฮับของการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยต่อยอดและสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในอนาคต แต่ในมุมของผู้นำเข้ารถยนต์จากยุโรป มองว่าแม้จะลดภาษีนำเข้าเป็น 0% แต่ผู้นำเข้ายังต้องจ่ายภาษีอื่นๆ อยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นภาษีสรรพสามิต, ภาษีมูลค่าเพิ่ม, ภาษีมหาดไทย โดยคงต้องรอดูนโยบายที่ชัดเจนว่าการปรับลดภาษีในครั้งนี้จะหมายรวมถึงส่วนใดบ้าง แต่สิ่งที่กระทบแล้วจากข่าวนี้คือ การที่ลูกค้าอาจจะชะลอการตัดสินใจซื้อ EV ออกไปก่อน เพื่อรอความชัดเจน