ลุ้น! ลดภาษีนำเข้า EV ยุโรป ญี่ปุ่น สู้จีน 0% กระทรวงการคลังยันราคาถูกลงแน่

27 ต.ค. 2564 | 04:53 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ต.ค. 2564 | 12:09 น.

EV ยุโรป อาวดี้ บีเอ็มดับเบิลยู ปอร์เช่ และ EV แบรนด์ญี่ปุ่น เตรียมเฮ กระทรวงการคลัง จ่อลดภาษีนำเข้าอีวี จากปัจจุบันที่โดน 80% และ 20% ตามลำดับ หวังสร้างสมดุลกับแบรนด์จีนที่เสีย 0% ด้านกระทรวงการคลัง ยืนยันราคารถพลังงานไฟฟ้าถูกลงแน่

กระทรวงการคลัง ปรับโครงสร้างภาษีสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มรถพลังงานไฟฟ้า 100% EV ที่จะมีการลดภาษี เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล รอประกาศใช้อย่างเป็นทางการ 1 มกราคม 2565 หวังให้เกิดดีมานด์ กระตุ้นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานรถยนต์ไฟฟ้า

 

กระทรวงการคลัง และหน่วยงานอย่างกรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร ยื่นแผนปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตอีวี (EV) ให้คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน พิจารณาเรียบร้อย รอเพียงการประกาศอย่างเป็นทางการ และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป

Porsche Taycan นำเข้ามาจากเยอรมนี

 

แหล่งข่าวจาก “บอร์ดอีวี”  เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเตรียมอนุมัติมาตรการทางภาษี เพื่อส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่จะเริ่มใช้ในต้นปี 2565 ซึ่งจะทำให้ราคาขายรถยนต์ไฟฟ้า EV ถูกลง เพื่อผลักดันให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ 30% ของจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในปี 2568 ตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ โดยในระยะแรก จะใช้มาตรการส่งเสริมการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากต่างประเทศ เพื่อทำให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นในประเทศ ควบคู่กับการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะสถานีชาร์จ

 

“มาตรการส่งเสริมซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 จะทำให้ราคา EV ที่นำเข้ามาขายในประเทศไทยมีราคาที่ถูกลงและจูงใจให้คนซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้ เมื่อความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ก็จะจูงใจให้เกิดการลงทุนก่อสร้างสถานีชาร์จมากขึ้น ยิ่งเป็นการส่งเสริมให้ไทยบรรลุเป้าหมายภายในปี 2573 จะมียอดจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ เป็นรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด” แหล่งข่าวกล่าว

เมื่อพิจารณาจากข้อมูลของแหล่งข่าวที่ระบุว่า มีความตั้งใจลดภาษีนำเข้าให้ EV เพื่อสร้างตลาดก่อน นั่นหมายความว่ารถ EV นำเข้าจากยุโรป หรือ ญี่ปุ่น มีโอกาสที่จะได้รับการลดภาษีนำเข้าจากปัจจุบันที่โดน 80% และ 20% ตามลำดับ (EV ยุโรปเสียภาษีนำเข้าอัตราปกติเหมือนรถเครื่องยนต์ ICE, ส่วนญี่ปุ่นมี JTEPA เขตการค้าเสรีกับไทยจึงเสียภาษีนำเข้า EV ที่ 20% ขณะที่ EV เกาหลีใต้โดน 40%)

 

ที่ผ่านมา ผู้ผลิตรถยนต์แบรนด์ญี่ปุ่นต่างแสดงความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า EV จีนได้ภาษีนำเข้า 0% จาก FTA จีน-อาเซียน ที่กระทรวงพาณิชย์ไปทำไว้ อาจจะไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน และไม่สนับสนุนให้เกิดการผลิตในประเทศ โดยรถ EV ทั้งคันจากจีนสามารถนำเข้ามาขายได้ในราคาที่ต่ำ ขณะที่การนำเข้าแบตเตอรี่อย่างเดียวยังเสียภาษีในอัตราที่สูง

ลุ้น! ลดภาษีนำเข้า EV ยุโรป ญี่ปุ่น สู้จีน 0% กระทรวงการคลังยันราคาถูกลงแน่

ยกตัวอย่าง นิสสัน ลีฟ EV รุ่นที่ขายดีที่สุดของโลก นำเข้าจากญี่ปุ่นมาขายในไทย ภายใต้ภาษีนำเข้า 40% ภาษีสรรพสามิต 8% ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% และภาษีมหาดไทย 10% ตั้งราคาในปี 2562 ซึ่งเป็นปีแรกของการขายไว้ 1.99 ล้านบาท ถัดมาในปี 2563 ลดราคาเหลือ 1.49 ล้านบาท โดยตลอดระยะเวลาในการทำตลาดจนถึงปัจจุบัน นิสสัน ลีฟ ขายสะสมไม่ถึง 200 คัน และไม่มีแผนนำเข้ามาขายเพิ่มเติม

 

นายราเมช นาราสิมัน อดีตประธานนิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย ที่ปัจจุบันลาออกไปแล้ว ยอมรับว่า การตั้งราคา นิสสัน ลีฟ 1.99 ล้านบาทในช่วงเปิดตัวปลายปี 2561 (ส่งมอบเดือนเมษายน 2562) ถือว่าสูงเกินไป ขณะที่คู่แข่งอย่าง MG ที่นำเข้า EV จากจีนได้เปรียบภาษีนำเข้า 0% หรือขายประมาณ 1 ล้านบาท จึงได้การตอบรับที่ดีกว่า

ส่วน EV แบรนด์ยุโรป ที่นำเข้ามาขายภายใต้ ภายใต้ภาษีนำเข้า 80% ภาษีสรรพสามิต 8% ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% และภาษีมหาดไทย 10% รุ่นที่ได้รับความนิยมคือ Porsche Taycan ราคาเริ่มต้น 6.39 ล้านบาท อาวดี้ตระกูล e-tron ตัวถังเอสยูวีราคา 5.299 ล้านบาท BMW iX นำเข้ามาจากเยอรมนี ราคา 5.999 ล้านบาท

ลุ้น! ลดภาษีนำเข้า EV ยุโรป ญี่ปุ่น สู้จีน 0% กระทรวงการคลังยันราคาถูกลงแน่

ทั้งนี้ บีเอ็มดับเบิลยูยังมี BMW iX3 ที่นำเข้าจากจีนพร้อมส่งมอบปลายปีนี้ เช่นเดียวกับวอลโว่ที่นำเข้า EV มาจากจีน ทั้ง Volvo XC40 ที่ทยอยส่งมอบแล้ว และ Volvo C40 เตรียมเปิดตัวปี 2565 ซึ่งทั้งหมดไม่เสียภาษีนำเข้า

 

ขณะที่ เมอร์เซเดส-เบนซ์ รักประเทศไทยมาก และเป็นค่ายรถยนต์ระดับเมเจอร์แบรนด์รายแรกที่ลงทุนขึ้นไลน์ประกอบ EV ในไทย เตรียมประเดิมกับ EQS ที่พร้อมส่งมอบให้แก่ลูกค้าในปี 2565 ทันที ซึ่ง EV ที่ประกอบในไทยจะเสียภาษีสรรพสามิต 2% (แต่มีโปรโมชันถึงปี 2565 ให้เสียแค่ 0%)

 

ส่วนแบรนด์จีน เกรท วอลล์ มอเตอร์ ประเดิมนำเข้า EV รุ่นแรกมาทำตลาดคือ Ora Good Cat เตรียมประกาศราคาอย่างเป็นทางการวันที่ 29 ตุลาคม นี้ ส่วน เอ็มจี (แบรนด์อังกฤษเจ้าของจีน) ปัจจุบันนำเข้า MG EP ขาย 9.88 แสนบาท ส่วน MG ZS EV ราคา 1.19 ล้านบาท รุ่นปัจจุบันหมดสต็อกไปแล้ว รอรุ่นไมเนอร์เชนจ์เปิดตัวต้นปี 2565

 

อย่างไรก็ตาม เกรท วอลล์ มอเตอร์ และ เอ็มจี ที่นำเข้า EV จากจีนมาทำตลาดและได้การตอบรับดี ยืนยันตรงกันว่ามีแผนขึ้นไลน์ประกอบ รถพลังงานไฟฟ้า 100% EV ในประเทศไทยแน่นอน ผ่านแพกเกจส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ โดย เกรท วอลล์ มอเตอร์ จะเริ่มแผนนี้หลังปี 2566 ส่วน เอ็มจี ตามแผนเดิมจะทำในปี 2565

MG ZS EV

สำหรับการประกาศโครงสร้างภาษี EV ใหม่ ผ่าน “บอร์ดอีวี”  น่าจะเห็นภายในเดือนพฤศจิกายน นี้ ซึ่งจะมีรายละเอียดของมาตรการส่งเสริมเป็นแพกเกจ ทั้งมาตรการทางด้านภาษี และมาตรการที่ไม่ใช่มาตรการภาษี  เช่น การลดภาษีรถยนต์ประจำปี การลดราคาค่าทางด่วน หรือการสนับสนุนที่จอดรถยนต์ไฟฟ้า ส่วนการให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ที่ซื้อ EV เหมือนบางประเทศ ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะนำมาใช้ในไทย 

 

การนำเข้า EV ในปี 2564 มีจำนวน 2,133 คัน เป็นรถจากจีนกว่า 50% (ลดลงจากทั้งปี 2563 ที่ 91%) EV จากเยอรมนีกว่า 20% อังกฤษประมาณ 10% และสหรัฐอเมริกาประมาณ 10%