ค่ายรถยนต์จีนยึดประเทศไทยเป็นสังเวียนแห่งศักดิ์ศรี ไม่มีใครยอมถอย หลังจากเกรท วอลล์ มอเตอร์ บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ของเอกชนลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท เพื่อวางรากฐานธุรกิจในไทย ตั้งแต่โรงงานผลิตรถยนต์ จ.ระยอง ไปจนถึงเครือข่ายการขาย-บริการหลังการขาย และโครงสร้างพื้นฐานรถยนต์ไฟฟ้า พร้อมเหยียบจมูกแบรนด์ที่เข้ามาก่อนอย่าง “เอ็มจี” ด้วยการไปเช่าพื้นที่เปิด GWM Store ที่ตึกสีลมคอมเพลกซ์ ซึ่งเป็นฐานบัญชาการของค่ายรถในเครือ SAIC ยักษ์ใหญ่ของจีน
ในปี 2564 เกรท วอลล์ มอเตอร์ เปิดโชว์รูม GWM Store ทั้งแบบ Direct Store ตามห้างสรรพสินค้าที่เป็นการลงทุนเอง และรูปแบบ Partner Store ที่ร่วมกับพันธมิตร ได้ 30 แห่ง พร้อมทำยอดขายในเวลา 6 เดือน (กรกฎาคม - ธันวาคม 2564) ได้ 3,702 คัน ด้วยรถยนต์ 3 โมเดลคือ Haval H6, Ora Good Cat และ Haval Jolion
สำหรับแผนงานปี 2565 เกรท วอลล์ มอเตอร์ เตรียมเปิดตัวรถใหม่ 5 รุ่น แบ่งเป็น EV นำเข้าจากจีนแบรนด์ Ora 2 รุ่น และรถที่ประกอบในประเทศคือ Haval H6 PHEV ปลั๊ก-อินไฮบริด และซับแบรนด์น้องใหม่ Tank อีก 2 รุ่น
โดย เกรท วอลล์ มอเตอร์ ตั้งเป้าหมายยอดขายรวม 3 รุ่นเดิม และ 5 รุ่นใหม่ ในปี 2565 ไว้สูงถึง 20,000 คัน นั่นหมายถึงอัตราเติบโตระดับ 440% เมื่อเทียบกับปี 2564
นอกจากนี้ ยังมีแผนเปิด GWM Store เพิ่มอีก 50 แห่ง รวมเป็น 80 แห่ง พร้อมขยายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าให้ถึง 55 แห่ง ภายใต้รูปแบบ G-Charge Supercharging Station สถานีชาร์จขนาดใหญ่ที่ลงทุนเอง (เปิดแห่งแรกที่สยามสแควร์ ด้วยตู้ควิกชาร์จ DC จำนวน 3 เครื่อง กำลังสูงสุด160kW) และเปิดตามโชว์รูมของ Partner Store ทั่วประเทศ รวมถึง Destination Charging Station ตาม โรงแรม ร้านอาหาร และห้างสรรพสินค้า ซึ่งเป็นการบริหารจัดการร่วมกับเจ้าของพื้นที่
นายเอลเลียต จาง ประธาน เกรท วอลล์ มอเตอร์ ภูมิภาคอาเซียนและประเทศไทย เปิดเผยว่า ประเทศ ไทยจะเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคอาเซียนของ เกรท วอลล์ มอเตอร์ พร้อมขับเคลื่อนให้ประเทศไทยและโรงงานที่จังหวัดระยองเป็นศูนย์กลางของยานยนต์ไฟฟ้า และฐานการผลิตของภูมิภาคอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ
ในปัจจุบัน เกรท วอลล์ มอเตอร์ เข้าไปดำเนินงานอย่างเป็นทางการใน 4 ประเทศ คือ ไทย ลาว กัมพูชา และบรูไน ซึ่งบริษัทมีแผนที่จะเปิดตัวแบรนด์ในอีก 4 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ เพื่อขยายตลาดในอาเซียนให้ครอบคลุมมากขึ้น
“เรายังคงเดินหน้าเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่เป็นครั้งแรกของโลกอย่างต่อเนื่องในตลาดประเทศไทย ดังเช่นในปี 2564 โดยปีนี้เตรียมเปิดตัวรถยนต์ 5 รุ่น จาก 3 แบรนด์ หนึ่งในนั้นได้แก่ HAVAL H6 Plug-in Hybrid และรถยนต์อีก 2 รุ่นที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้า 100% จากแบรนด์ Ora ส่วนอีก 2 รุ่นจะมีการเปิดเผยรายละเอียดให้ทราบต่อไป ซึ่งรถทั้งหมดที่จะทำการเปิดตัวในปีนี้ จะเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าทั้งสิ้น” นายเอลเลียต จาง กล่าว
ทั้งนี้ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ประเมินว่า ตลาด EV ในไทยปี 2565 รวมทุกรุ่น ทั้งแบรนด์จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ยุโรป สหรัฐอเมริกา มีโอกาสขายได้ถึง 18,800 คัน จากปี 2564 ที่มีตัว เลข 1,935 คัน
ด้าน เอ็มจี ที่ดำเนินธุรกิจในไทยมา 8 ปี โดย บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และบริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ทำยอดขายเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2564 ปิดตัวเลข 31,005 คัน เพิ่มขึ้น 9.5% เมื่อเทียบกับปี 2563 ในขณะที่ตลาดรวมตก 4.2%
อย่างไรก็ตาม การเข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยของ เกรท วอลล์ มอเตอร์ เหมือนจะเป็นการกระตุ้นให้เอ็มจีกระตือรือล้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการปก ป้องพื้นที่ในเซกเมนต์รถยนต์ไฟฟ้าระดับแมส ทั้ง EV และปลั๊ก-อินไฮบริด
ในส่วน EV ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เอ็มจีมีส่วนแบ่งตลาดอันดับหนึ่งจากรถยนต์ 2 รุ่นคือ MG ZS EV และ MG EP ที่ปี 2564 ทำยอดขายรวมกันประมาณ 800 คัน โดยในปี 2565 รถทั้งสองรุ่นถึงคิวไมเนอร์เชนจ์ ซึ่ง MG ZS EV เตรียมเปิดตัวก่อนในเดือนมีนาคม จากนั้นไตรมาสสามถึงจะเป็น MG EP และช่วงปลายปียังมีลุ้นการเปิดตัว EV โมเดลใหม่อีกหนึ่งรุ่น
ขณะเดียวกันในปี 2565 เอ็มจี หวังยอดขายในกลุ่ม EV จะเติบโตแบบก้าวกระโดดหรือมากกว่า 100% จากยอดขายรถยนต์รวมทุกรุ่น ที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ 50,000 คัน ส่วนแผนประกอบ EV ในประเทศไทยที่ โรงงาน เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จ.ชลบุรี ยืน ยันว่าจะเริ่มในปี 2566
นายจาง ไห่โป กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า เอ็มจีเป็นบริษัทจากจีนที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด ระดับหลายหมื่นล้านบาท ตั้งแต่เริ่มดำเนินธุรกิจในไทยเมื่อ 8 ปีที่แล้ว และยังมีแผนเพิ่มการลงทุนอย่างต่อเนื่องในหลายรูปแบบ
ล่าลุดลงทุนเพิ่ม 2,500 ล้านบาท เพื่อขยายโรงงานผลิตแบตเตอรี่เอสเอไอซี มอเตอร์–ซีพีในไทย เพื่อรองรับรถยนต์ไฟฟ้า ทั้ง ปลั๊ก-อินไฮบริด และEVโดยจะเริ่มดำเนินการในปี 2566 ซึ่งเป็นปีเดียวกับการเริ่มผลิต EV ในไทย
“ปัจจุบันเรามีพื้นที่ที่ใช้ประกอบแบตเตอรี่ เพื่อรองรับเอสยูวี MG HS PHEV อยู่แล้ว แต่โรงงานใหม่จะขยายมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดในการลงทุนของ BOI และทำเพื่อรองรับ EV ที่จะผลิตในไทยปี พ.ศ. 2566” นายจาง ไห่โป กล่าว