หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบมาตรการส่งเสริมให้เกิดการใช้ EV วาระเร่งด่วน ระหว่างปี 2565-2568 โดยให้เงินอุดหนุนรถยนต์นั่งและปิกอัพ คันละ 70,000 และ 150,000 ส่วนรถจักรยานยนต์คันละ 18,000 บาท พร้อมลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์นั่งจาก 8% เป็น 2% และปิกอัพเป็น 0% ตลอดจนลดภาษีนำเข้า EV สูงสุด 40%
อย่างไรก็ตาม ด้วยเงื่อนไขที่ต้องมีแผนผลิต EV ในประเทศ ชดเชยกับการนำเข้าในสัดส่วน (จำนวนคัน) 1 : 1 หากเริ่มในปี 2567 และ 1 : 1.5 ในปี 2568 นั่นหมายถึงหลายค่ายรถยนต์ที่ยังไม่มีแผนลงทุนขึ้นไลน์ประกอบรถยนต์ในไทยในระยะเวลาอันใกล้ เช่น แบรนด์รถเกาหลี ฮุนได, เกีย รวมถึง วอลโว่ และปอร์เช่ คงไม่ ขอรับสิทธิประโยชน์ดังกล่าว
ส่วนกลุ่มที่มีโอกาสรับสิทธิประโยชน์นี้ เป็นบรรดาค่ายญี่ปุ่น และจีน ที่ยื่นแผนส่งเสริมการลงทุน EV ต่อ BOI เช่น โตโยต้า, ฮอนด้า, นิสสัน, มิตซูบิชิ, เมอร์เซเดส-เบนซ์, อาวดี้ รวมถึงเอ็มจี, เกรท วอลล์ มอเตอร์
โดยค่ายรถยนต์ที่ต้องการสิทธิ์ประโยชน์นี้ ต้องเซ็น MOU กับกรมสรรพสามิต พร้อมวาง Bank Guarantee แต่สุดท้ายหากผลิตชดเชยไม่ได้ตามเงื่อนไข ต้องคืนเงินอุดหนุนเต็มจำนวนพร้อมดอกเบี้ย และถูกยึดเงินค้ำประกันจากธนาคาร
อย่างไรก็ตาม มาตรการส่งเสริมให้เกิดการใช้ EV วาระเร่งด่วนจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 นั่นหมายความว่า คนที่ตั้งตารอรับสิทธิ์ในมาตรการนี้ จะยังไม่ซื้อรถก่อนช่วงเวลาดังกล่าว เพราะ EV ราคาประมาณ 1.0-1.5 ล้านบาท จะได้ส่วนลดระดับ 2 แสนบาทต่อคัน
นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) เปิดเผยว่า นโยบายสนับสนุน EV ของรัฐบาลถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะการจะไปให้ถึงเป้าหมาย 30@30 คงต้องใช้พลังในการบูสต์หลายอย่างเพื่อสร้างดีมานด์ จากปัจจุบันที่มีเครื่องมือหลักคือ ภาษีสรรพสามิต โดยในปี 2564 ยอดขาย EV รวมมีประมาณ 1,900 คัน ซึ่งยังน้อยมากเมื่อเทียบกับตลาดรวม และห่างไกลกับเป้าหมายในปี 2573
“หลังจาก มีมติคณะรัฐมนตรีเรื่องแพ็กเกจ EV ออกมาแล้ว ต้องดูว่าค่ายรถไหนจะเข้าร่วม และต้องไปเซ็นบันทึกความเข้าใจกับกรมสรรพสามิต ซึ่งใช้ระยะเวลาในการเตรียมการวางแผนพอสมควร” นายกฤษฎา กล่าว
นายณรงค์ สีตลายน กรรมการผู้จัดการ เกรท วอลล์ มอเตอร์ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ปีนี้รถยนต์ไฟฟ้ารวมทั้ง ไฮบริด ปลั๊ก-อินไฮบริด และอีวี มีแนวโน้มเติบโต 100% จากจำนวน 43,317 คันในปี 2564 เป็น 94,000 คันในปี 2565 และในจำนวนนี้เป็น รถพลังงานไฟฟ้า 100% จำนวน 18,800 คัน
“เราสนับสนุนนโยบายรถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลอย่างเต็มที่ โดยวางให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตของภูมิภาคอาเซียน และปีนี้ เราเตรียมเปิดตัว EV แบรนด์ Ora 2 รุ่น ซึ่งเป็นรถนำเข้าจากจีน จากนั้นต้นปี 2567 ถึงจะเริ่มประกอบ EV ในไทยที่โรงงานจังหวัด ระยอง” นายณรงค์ กล่าว
ด้านนายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทเอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า มาตรการส่งเสริม EV ล่าสุด จะส่งผลให้ EV ราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาท มียอดขายเพิ่มขึ้น ซึ่งในปีนี้อาจจะมีตัวเลขเกิน 1 หมื่นคัน ส่วน เอ็มจี มีแผนเปิดตัว EV อย่างต่อเนื่อง และตั้งเป้าหมายยอดขาย EV ไว้ 4,000-5,000 คัน หากไม่มีปัญหาเรื่องการผลิต หรือการขาดแคลนชิ้นส่วน
“แม้ตอนนี้รถพลังงานไฟฟ้า EV มีปริมาณการซื้อที่ไม่สูงมาก และถ้าคนแห่มาซื้อเยอะๆ รถก็ยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ แต่เชื่อว่ามาตรการนี้จะช่วยกระตุ้นตลาดได้” นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวสรุป
ด้านพี่ใหญ่ “โตโยต้า” ประกาศบุกตลาด EV ในไทยปี 2565 แน่นอน โดยรถยนต์รุ่นแรกคือ Toyota bZ4X ที่เตรียมนำเข้ามาทำตลาดช่วงปลายปีนี้ ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่ไม่ช้าเกินไป หลังจากรัฐบาลคลอดมาตรการสนับสนุน EV ออกมา
นายโนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ในปี 2564 โตโยต้าแนะนำ เลกซัส UX300e ซึ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ และ เลกซัส NX450h+ ซึ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอินไฮบริด สำหรับแบรนด์โตโยต้ามีแผนเปิดตัว Toyota bZ4X ซึ่งถือเป็นรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกของซีรีส์ bZ ออกสู่ตลาดภายในปี 2565
ยิ่งไปกว่านั้น เราจะพยายามส่งเสริมให้มีการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศให้มากยิ่งขึ้น เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตหลักสำหรับการประกอบรถยนต์ไฟฟ้าอีกหลากหลายรุ่นต่อไปในอนาคต
สำหรับนโยบาย EV ระดับโลกของโตโยต้า มีแผนจะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ EV ครบทั้ง 30 รุ่นภายในปี 2573 โดยรวมไปถึงรถซีรีส์ bZ จำนวน 5 โมเดล ซึ่งมาพร้อมกับแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นมาสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่โดยเฉพาะ
โตโยต้าตั้งเป้าขายรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ให้ได้ทั้งสิ้น 3.5 ล้านคัน ภายในปี 2573 โดยทุ่มเงินลงทุน 1.2 ล้านล้านบาทเพื่อพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่