BMW เจรจาบริษัทแม่วางแผนประกอบ EV โรงงานบีเอ็มดับเบิลยู ประเทศไทย จ.ระยอง

27 มี.ค. 2565 | 23:59 น.
อัปเดตล่าสุด :28 มี.ค. 2565 | 07:08 น.

บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย เสริมไลน์อัพ EV อย่างต่อเนื่อง เบื้องต้นเป็นโมเดลนำเข้ามาจากเยอรมนีและจีน แต่ล่าสุดกำลังเจรจากับบริษัทแม่ วางแผนประกอบ BMW EV ที่โรงงานบีเอ็มดับเบิลยู จ.ระยอง

ตามกลยุทธ์ระดับโลกของบีเอ็มดับเบิลยู ทำให้การผลิต BMW EV ที่ยุโรป หรือจีน รุ่นใหม่อีกกว่า 10 รุ่นภายใน 2 ปีนี้ อาจจะไม่พอต่อความต้องการ นั่นส่งผลให้โรงงานผลิตรถยนต์บีเอ็มดับเบิลยูทั่วโลก ต้องปรับแผนตามนโยบายนี้

 

บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ปรับแผนธุรกิจให้สอดคล้องกับนโยบายบริษัทแม่ บีเอ็มดับเบิลยู เอจี เยอรมนี ที่จะมีรถพลังงานไฟฟ้า EV ทำตลาดแทรกอยู่ในทุกเซกเมนต์ BMW ภายในปี 2567

 

ที่ผ่านมารัฐบาลไทยเคยเปิดโอกาสให้บรรดาบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ ยื่นแพ็กเกจส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า EV ไปตั้งแต่ปี 2561 ทว่า ในปัจจุบันคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ยังพร้อมเปิดรับทุกข้อเสนอ หากมีค่ายรถยนต์น้องใหม่ หรือค่ายรถยนต์ที่ลงหลักปักฐานอยู่เดิม เตรียมปรับทิศทาง และมีแผนประกอบ EV ในไทย

BMW เจรจาบริษัทแม่วางแผนประกอบ EV โรงงานบีเอ็มดับเบิลยู ประเทศไทย จ.ระยอง

ดังจะเห็นได้จากการเข้ามาลงทุนของเกรท วอลล์ มอเตอร์ ที่ซื้อโรงงานผลิตรถยนต์ของเจนเนอรัล มอเตอร์ส จ.ระยอง โดยค่ายรถจีนสามารถรับสิทธิประโยชน์เดิมที่โรงงานแห่งนี้ได้ และหากนำเสนอแพ็กเกจการลงทุนเพิ่มเติม เช่น รถไฮบริด, EV ทางเกรท วอลล์ มอเตอร์จะได้สิทธิประโยชน์ออนท็อปขึ้นไปอีกเช่นเดียวกับค่ายรถยนต์จีนราย อื่นๆ ที่กำลังวางแผนเข้ามาลงทุนผลิตรถในไทย เช่น เชอรี่ และฉางอัน เป็นต้น

 

ด้านบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ที่ไม่ได้ยื่นแพ็กเกจส่งเสริมการลงทุน EV ในรอบแรกภายในปี 2561 ล่าสุดกำลังทบทวนแผนงานนี้อีกครั้ง หลังจากกระแสความต้องการ EV เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่คู่แข่ง เมอร์เซเดส-เบนซ์ ปรับแผนงาน EV ในระดับโลกให้เร็วขึ้นอีก 10 ปี โดยประเทศไทยจะได้ประกอบ EQS เป็นโมเดลแรก พร้อมทำตลาดปลายปี 2565

สำหรับบีเอ็มดับเบิลยู เอจี เยอรมนี ตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2567 จะต้องมี EV แทรกอยู่ในทุกโมเดลของ BMW กล่าวคือ รถยนต์รุ่นนั้นมีขุมพลังเบนซิน ดีเซล หรือปลั๊ก-อินไฮบริดทำตลาดอยู่ จะมี EV แทรกเป็นทางเลือกด้วย โดยทิศทางนี้เริ่มเห็นแล้วกับ X3 และจะขยับต่อเนื่องไปถึง ซีรีส์ 5, 7 และ X1

BMW iX3 EV

 

ตามกลยุทธ์ระดับโลกของบีเอ็มดับเบิลยู ทำให้การผลิต BMW EV ที่ยุโรป หรือจีน รุ่นใหม่อีกกว่า 10 รุ่นภายใน 2 ปีนี้ อาจจะไม่พอต่อความต้องการ นั่นส่งผลให้โรงงานผลิตรถยนต์บีเอ็มดับเบิลยูทั่วโลก ต้องปรับแผนตามนโยบายนี้

 

ปัจจุบัน บีเอ็มดับเบิลยู มีโรงงานผลิตรถยนต์ 31 แห่ง ใน 15 ประเทศทั่วโลก ซึ่งในอาเซียนกับโรงงานบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศ ไทย ที่ดำเนินการมากว่า 20 ปี พร้อมปรับไลน์การผลิต และเพิ่มการลงทุนอย่างต่อเนื่อง จึงถือเป็นฐานการผลิตที่มีศักยภาพสูงของภูมิภาค

 

ทั้งนี้ โรงงาน บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย จ.ระยอง ผลิตรถยนต์ BMW และ มอเตอร์ไซค์ BMW Motorrad ในปี 2021 ได้ถึง 33,428 คัน เพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับปี 2020 ในส่วนรถยนต์ประกอบรุ่น ซีรีส์ 2, ซีรีส์ 3, ซีรีส์ 5, ซีรีส์ 7, X1, X3, X5, X6, X7 และกลุ่มปลั๊ก-อินไฮบริด อย่าง 330e, 530e, X3 xDrive30e, X5 xDrive45e และ 745Le xDrive

 

อย่างไรก็ตาม หากแผนงาน EV ของบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย สะเด็ดนํ้า คาดว่า บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย จ.ระยอง จะพร้อมขึ้นไลน์ผลิต EV หลังจากปี 2566 เป็นต้นไป

BMW เจรจาบริษัทแม่วางแผนประกอบ EV โรงงานบีเอ็มดับเบิลยู ประเทศไทย จ.ระยอง

ที่ผ่านมา บีโอไอ ประกาศส่งเสริมการลงทุน EV รอบใหม่ให้ครอบคลุมทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถสามล้อ รถโดยสารและรถบรรทุก รวมถึงเรือ EV ซึ่งในส่วนรถยนต์พลังงานไฟฟ้า EV กรณีที่มีขนาดการลงทุนไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และหากมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาก็สามารถได้รับสิทธิเพิ่ม

 

กรณีขนาดการลงทุน น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติ บุคคล 3 ปี และจะได้รับสิทธิเพิ่มขึ้นหากดำเนินการได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น เริ่มผลิตรถยนต์ภายในปี 2565 มีการผลิตชิ้นส่วนสำคัญเพิ่มเติมจากข้อกำหนดพื้นฐาน มีปริมาณการผลิตจริงมากกว่า 10,000 คันต่อปี