นายโรลันด์ โฟล์เกอร์ ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวใน งานสัมมนา EV Forum 2022 : Move Forward to New Opportunity จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจและกรุงเทพธุรกิจ ณ แกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ วันนี้ (17 มิ.ย.) ในหัวข้อ "เปิดแผนธุรกิจรุกตลาด EV" โดยเขาเปิดประเด็นว่า บริษัทอายุกว่า 135 ปีอย่างเมอร์เซเดส-เบนซ์ ก็กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของโลกเช่นกัน เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มาพร้อมกับนวัตกรรมเทคโนโลยี "เป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้ที่จะรับมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยที่เป็นฮับของอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เปิดรับและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ"
ทั้งนี้ บริษัทมีเป้าหมายเกี่ยวกับการเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) กำหนดไทม์ไลน์ไว้ภายในปีค.ศ. 2039 ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวทำให้บริษัทเร่งสร้างความรุดหน้าในการพัฒนาผลิตภัณฑ์รถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งบริการที่เกี่ยวเนื่อง ให้รวดเร็วมากขึ้น ทั้งนี้ เป้าหมายก็คือการมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นยานยนต์ไฟฟ้าอย่างสมบูรณ์ (all-electric) ภายในทศวรรษนี้ และรถใหม่ทุกรุ่นตั้งแต่ปีค.ศ. 2025 เป็นต้นไป จะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น
ความพยายามมุ่งมั่นของเมอร์เซเดสฯ ไปสู่ทิศทางของยานยนต์ไฟฟ้านั้นเห็นได้ชัดจากการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ภายใต้แบรนด์ Mercedes-EQ ประกอบด้วย EQA , EQB, EQC, EQE , EQS และ EQS SUV
ด้วยแผนการที่กำหนดไว้นั้น ทางบริษัทเชื่อว่าจะสามารถบรรลุการเป็นองค์กรเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปีค.ศ. 2039 ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายของประเทศไทย (ปี 2050)
"ผมเชื่อมั่นในอนาคตและเชื่อมั่นในประเทศไทย เรากำลังมุ่งหน้าไปในทิศทางเดียวกัน" ผู้บริหารของเมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) ยังกล่าวด้วยว่า
ในประเทศไทยนั้น เมอร์เซเดส-เบนซ์ อยู่ในแถวหน้าเสมอด้านการเป็นผู้นำด้านยานยนต์ไฟฟ้า โดยมีรถยนต์ไฟฟ้าแบบใช้แบตเตอรี่ หรือ BEV (Battery Electric Vehicle) รุ่นใหม่ ๆ มานำเสนออย่างต่อเนื่อง เริ่มจากในปี 2013 (พ.ศ. 2556) บริษัทนำรถไฮบริดรุ่นบลูเทค (Bluetec hybrid)เข้ามาเปิดตัว ตามด้วยรถยนต์ไฟฟ้า Plug-in hybrid รุ่นแรกในปี 2016 รุ่นสองในปี 2017
จากนั้นปี 2019 ก็มีรุ่น 3 พร้อมการจัดตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่สำหรับเมอร์เซเดส-เบนซ์แห่งแรกในเมืองไทย นอกจากนี้ ยังได้เซ็น MOU กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หรือ NSTDA เพื่อทำการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าและยังจัดตั้งศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ร่วมกับศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (ศทอ. หรือ PTEC) อย่างเป็นทางการ
ต่อมาปี 2020 บริษัทยังเปิดตัว โครงการความริเริ่ม Charge to Change กระจายจุดชาร์จไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันขยายขอบเขตออกไปกว้างไกลมากขึ้นทั้งในกทม. และต่างจังหวัด เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า และสร้างความมั่นใจว่า เมื่อพวกเขาชาร์จรถจากบ้านออกมาวิ่ง ก็จะพบสถานีชาร์จไฟฟ้าได้ไม่ยาก ไม่ต้องกังวลว่าวิ่งไปจะหมดพลังงานระหว่างทาง หลังจากนั้นปี 2021 ก็มี Plug-in hybrid รุ่น4 ก่อนจะนำมาสู่รถแห่งความภูมิใจนั่นคือ รถยนต์ไฟฟ้า 100% (BEV) รุ่นแรกที่จะประกอบในประเทศไทยภายใต้ชื่อ EQS ในปีนี้ (2022) ระยะแรกมีการนำเข้ามาทั้งคัน (CBU) เพื่อส่งมอบให้กับผู้แทนจำหน่ายทั้ง 4 รายก่อน
นายโฟล์เกอร์กล่าวว่า ความพยายามทั้งหมดทั้งมวลนี้จะสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือกับพันธมิตรในภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ผู้ให้บริการสถานีชาร์จไฟฟ้า เจ้าของพื้นที่ ฯลฯ "เราต้องการทำให้โลกน่าอยู่มากขึ้น เป็นโลกที่ดีขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา" เขามองว่า ในการส่งเสริมให้ผู้คนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น นอกจากการทำโครงการอย่าง Charge to Change กระจายจุดชาร์จไฟฟ้าให้รถอย่างทั่วถึงมากขึ้นในจังหวัดต่าง ๆ แล้ว ก็ต้องพยายามให้ข้อมูล เช่นให้ลูกค้า-ผู้ขับขี่มั่นใจว่า เมื่อชาร์จไฟเต็มครั้งหนึ่ง ก็สามารถขับรถไปได้ไกลจากกทม. ถึงเชียงใหม่โดยไม่ต้องกังวลว่าต้องหาที่ชาร์จระหว่างทาง
ผู้บริหารของเมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) กล่าวย้ำในช่วงท้ายต่อคำถามที่ว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ไทยจะเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกรถอีวีของบริษัทภายในภูมิภาคนี้ในอนาคต "ผมเชื่อมั่นในศักยภาพของไทย การขยายตัวของตลาดและความก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยี นั่นเป็นเหตุผลที่เราตั้งฐานการผลิตที่นี่ ทั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและโรงงานผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์เหล่านี้"