หมดยุคของฟรี สถานีชาร์จ EV ปตท.-กฟน.เก็บ 7.5 บาท/หน่วย ผู้ใช้โวยค่าไฟแพง

04 ส.ค. 2565 | 03:19 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ส.ค. 2565 | 10:35 น.

ปตท.และ กฟน. เก็บค่าบริการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ตั้งแต่ 1 ส.ค.นี้ ในอัตรา 7.50 บาท/หน่วย ตามด้วย Charge Now ในไตรมาสที่ 4 ปีนี้ ผู้ใช้โวยค่าไฟสูงกว่าค่าไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยเกือบเท่าตัว หวั่นนโยบายส่งเสริม EV สะดุด “นายก EVAT” ชี้ค่าชาร์จไฟฟ้า 6-8 บาท/หน่วย ยังไม่คุ้มค่าการลงทุน

หลังจากเปิดให้ลูกค้ารถยนต์ไฟฟ้าใช้บริการสถานีชาร์จพลังงานไฟฟ้าฟรี ทั้ง ปตท. โดย EV Station PluZ และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ผ่านแอปพลิเคชัน MEA EV ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2565 ทั้งสองรายจะเริ่มเก็บค่าบริการ เหมือนกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) (Elex by EGAT) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA Volta) รวมถึงเอกชนรายใหญ่บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ EA Anywhere ที่ปัจจุบันมีถึง 406 แห่ง

หมดยุคของฟรี สถานีชาร์จ EV ปตท.-กฟน.เก็บ 7.5 บาท/หน่วย ผู้ใช้โวยค่าไฟแพง

  • ชาร์จ EV สาธารณะ 6.5-7.5 บาท/หน่วย

ที่ผ่านมาผู้ประกอบการสถานีชาร์จสาธารณะอย่าง EA Anywhere เริ่มต้นเก็บค่าบริการสำหรับการชาร์จแบบปกติ AC หน่วยละ 5 บาท และการชาร์จแบบเร็ว DC หน่วยละ 6.5 บาท ซึ่งคิดอัตราไม่เท่ากันเนื่องจากตู้ชาร์จแบบ DC มีต้นทุนสูงกว่า ส่วนอัตราค่าบริการ EV Station PluZ ของ ปตท. จะคิดอัตราเท่ากัน ทั้งการชาร์จแบบ AC และ DC ดังนี้

  • ช่วง On Peak คิด 7.5 บาท/หน่วย (ตั้งแต่วันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 09.00 -22.00 น.)
  • ช่วง Off Peak 4.5 บาท/หน่วย (ตั้งแต่วันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 22.00-09.00 น. และวันเสาร์ วันอาทิตย์ วันหยุดราชการ ไม่รวมวันหยุดชดเชย ตลอด 24 ชั่วโมง)

 

รวมทั้งยังคิดค่าบริการจองเวลาชาร์จล่วงหน้า 20 บาท และถ้าลูกค้าเข้าใช้บริการภายใน 10 นาทีแรก ของช่วงเวลาที่จองไว้ ระบบจะทำการคืนค่าจองเป็นส่วนลดในค่าชาร์จ แต่หากเกินเวลาที่กำหนดไว้ และไม่มีการเข้าชาร์จ จะไม่คืนเงินจองให้ ปัจจุบัน EV Station PluZ เปิดให้บริการแล้ว 112 แห่งและตั้งเป้าหมายว่าสิ้นปี 2565 จะเปิดครบ 450 แห่ง ทั้งในสถานีโออาร์และสถานที่ภายนอก

นอกจาก EV Station PluZ แล้ว การไฟฟ้านครหลวง MEA เริ่มเก็บค่าบริการตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2565 ในอัตราเดียว 7.5 บาท/หน่วย เช่นเดียวกับ ChargeNow เตรียมคิดค่าบริการภายในไตรมาสที่ 4 ปีนี้ หลังจากเปิดให้ใช้บริการฟรีมาหลายปี โดยส่วนใหญ่จะเป็นหัวชาร์จแบบ AC ที่รองรับรถยนต์ปลั๊ก-อินไฮบริด (เป็นหลัก) แต่หลังจากนี้จะร่วมมือกับกฟผ.ขยายตู้ชาร์จแบบ DC มากขึ้น

 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาภาครัฐสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเปิดสถานีชาร์จไฟฟ้าสาธารณะ (ต้องเปิดให้บริการแก่ทุกคนโดยเท่าเทียม) โดยคิดต้นทุนค่าไฟฟ้าแก่ผู้ประกอบการที่ 2.65 บาทต่อหน่วยจนถึงสิ้นปี 2565

 

ขณะที่การใช้ไฟบ้านอัตราปกติเฉลี่ยประมาณ 4 บาทต่อหน่วย แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นมิเตอร์ TOU (Time of Use Rate) หรือคิดอัตราตามช่วงเวลาการใช้งาน โดยช่วง Off Peak จะคิดที่ 2.6 บาท/หน่วย และช่วง On Peak 5.1-5.7 บาท/หน่วย

 

  • หวั่นกระทบส่งเสริม EV 

 

จากการคิดค่าไฟฟ้าในการชาร์จรถยนต์อีวีดังกล่าว ได้สร้างความกังวลให้กับผู้ใช้รถยนต์อีวี และผู้ที่จะเปลี่ยนหันไปใช้รถยนต์อีวี เพื่อหนีน้ำมันแพง รวมถึงผู้ผลิตรถยนต์อีวี ต่างให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า มีความกังวลต่อค่าไฟฟ้าของสถานีชาร์จดังกล่าว เนื่องจากเป็นราคาสูงกว่าค่าไฟฟ้าที่ใช้ตามบ้านอยู่อาศัยเกือบเท่าตัว และมีแนวโน้มสูงมากขึ้น จะเป็นตัวแปรที่ทำให้ผู้ที่ตัดสินใจซื้อรถยนต์อีวี หนีราคาน้ำมันแพง เกิดความลังเล จากค่าไฟฟ้าที่สูงลิ่ว

อีกทั้ง ที่ผ่านมาทางบอร์ดอีวี เห็นชอบในหลักการไปแล้ว ที่จะขยายการคิดต้นทุนค่าไฟฟ้าแก่ผู้ประกอบการที่ 2.65 บาทต่อหน่วยต่ออีก 2 ปี จากเดิมจะสิ้นสุดในปี 2565 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการตั้งสถานีชาร์จและการใช้รถยนต์อีวีให้มากขึ้น

หมดยุคของฟรี สถานีชาร์จ EV ปตท.-กฟน.เก็บ 7.5 บาท/หน่วย ผู้ใช้โวยค่าไฟแพง

ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นถือว่าเป็น การดำเนินงานที่สวนทางกับนโยบายการส่งเสริมการใช้และผลิตรถยนต์อีวีของรัฐบาล ที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) มีนโยบาย 30@30 ที่ตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ.2573 เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก

 

  • ชี้ต้นทุนสถานีชาร์จสูง

 

นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย เปิดเผยว่า การทำสถานีชาร์จพลังงานไฟฟ้าสาธารณะเป็นหนึ่งในโมเดลธุรกิจที่มีการลงทุน ที่ผ่านมาหลายผู้ประกอบการเปิดให้ชาร์จฟรี แต่หลังจากนี้จะเริ่มเก็บค่าบริการ ซึ่งจะทำให้ลูกค้ามีความรับผิดชอบ หรือมีระเบียบวินัยในการใช้งานมากขึ้น เพราะถ้าจอดแช่อาจจะมีค่าปรับ

 

“การเก็บค่าบริการ 6-8 บาทต่อหน่วย ยังคิดว่าอัตรานี้ยังไม่ทำให้ผู้ประกอบการคืนทุนได้ เพราะการลงทุนเช่นตู้ชาร์จ DC นั้นเป็นหลักล้านบาท ขณะที่จำนวนรถ EV ยังมีจำนวนไม่มาก และโดยข้อเท็จจริงของการทำธุรกิจให้มีกำไร (โดยตรง) จากสถานีชาร์จ อัตราค่าบริการชาร์จไฟฟ้าสาธารณะควรจะสูงกว่านี้” นายกฤษฎา กล่าว

 

นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด จากผลสำรวจพบว่าลูกค้าที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้า EV สัดส่วน 80% มีการชาร์จไฟที่บ้าน 15% ชาร์จที่ออฟฟิศ (ที่ทำงาน) และ 5% ชาร์จตามสถานีสาธารณะ แต่เอ็มจีตั้งใจดูแลลูกค้าทุกกลุ่ม โดยวางแผนผลักดันการขยายเครือข่ายสถานีชาร์จให้มีมากถึง 153 แห่ง ทั่วประเทศ จากการร่วมมือกับศูนย์บริการเอ็มจีทั่วประเทศ และสถานีบริการนํ้ามันบางจาก

 

ขณะที่การประกาศเก็บค่าบริการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าของผู้ให้บริการนั้น บริษัทมองว่า ผู้ที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่มีความเข้าใจเกี่ยวกับอัตราค่าบริการ เนื่องจากส่วนใหญ่จะชาร์จจากไฟบ้าน ซึ่งมีเรทราคาประมาณ 4 บาท แต่เมื่อต้องชาร์จจากสถานีชาร์จไฟจากผู้ให้บริการ อาจจะมีราคาแตกต่างกันไป เพราะว่าเป็นเรื่องของต้นทุน ทั้งสถานที่ ค่าเสื่อม ค่าโอเปอเรชันต่างๆ ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้การชาร์จไฟจากผู้ให้บริการมีราคาที่สูง

 

“สถานีชาร์จจากผู้ให้บริการมีการลงทุนนับล้านบาท ทั้งการลงทุนด้านซอฟต์แวร์ ค่าเสื่อม ค่าสถานที่ ค่าไฟ ส่งผลให้ราคาสูง ส่วนการชาร์จแบบ DC หรือ AC ก็ต่างกัน เพราะถ้าแบบชาร์จไวก็จะแพงกว่า ขณะที่การให้บริการชาร์จในช่วงกลางวันราคาสูงกว่า เพราะเป็นช่วงพีค มีการใช้ไฟมาก ส่วนกลางคืนหลัง 22.00 - 06.00 น. เรทราคาในการชาร์จจะถูกกว่า เพราะเป็นช่วงที่ใช้ไฟกันไม่มาก ราคาก็จะถูกลง” นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว

 

  • 3 การไฟฟ้าผนึกกำลังขยายสถานีชาร์จ

 

ล่าสุด การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เปิดโครงการ มหานครสดใส ชาร์จไฟกับ กฟน. ในการติดตั้งหัวชาร์จ MEA EV จำนวน 100 หัวชาร์จในปี 2565 เพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้ EV ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น และตั้งเป้าหมายภายใน 5 ปีจะติดตั้งหัวชาร์จเพิ่มขึ้นปีละ 100 หัวชาร์จ

 

ส่วน การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) มีแผนขยายสถานีชาร์จ EleX by EGAT ภายในสิ้นปีนี้ พร้อมเปิดให้บริการกว่า 120 สถานี โดยประมาณ 80 สถานีจะเป็นสถานีชาร์จเร็ว DC แบบ 2 หัวจ่าย (6.5 บาทต่อหน่วย) หรือมากกว่านั้น และอีกประมาณ 40 สถานี จะเป็นการติดตั้งสถานีชาร์จบริเวณสำนักงาน

 

นายวฤต รัตนชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการ Project Management Office การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า บอร์ดของ 3 การไฟฟ้า มีการหารือร่วมกัน โดยที่ประชุมมีมติให้ทั้ง 3 การไฟฟ้าศึกษาแพลตฟอร์มที่แสดงให้เห็นการชาร์จไฟฟ้าภายในบ้าน เพราะการเก็บข้อมูลการชาร์จที่สถานีชาร์จไฟไม่ใช่เรื่องยาก แต่การชาร์จไฟฟ้าที่บ้านจะทำอย่างไรให้รู้ เพราะเชื่อว่าพฤติกรรมของประชาชนจะชาร์จไฟที่สถานีชาร์จคิดเป็น 1 ใน 4 ดังนั้นอีก 3 ส่วน (75%) เป็นการชาร์จไฟฟ้าจากที่บ้าน คาดว่าแพลตฟอร์มดังกล่าวจะนำไปสู่การส่งเสริม EV Ecosystem ได้