กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)ได้ออกมาเปิดเผยเกี่ยวกับสถานการณ์ภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาของปี 2565 พบว่าเดือนมกราคม - สิงหาคม 2565 ผลิตรถยนต์จำนวนทั้งสิ้น 1,184,800 คัน เพิ่มขึ้น 10.53 % ส่วนยอดผลิตเฉพาะเดือนสิงหาคม 2565 มีทั้งสิ้น 171,731 คัน เพิ่มขึ้น 64.90 %
สำหรับยอดผลิตที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการผลิตรถยนต์นั่งรุ่นใหม่ขายในประเทศและผลิตรถกระบะและ PPV เพื่อขายในประเทศและส่งออกเพิ่มขึ้น
ยอดขายรถยนต์ 8เดือนยังรุ่ง
เมื่อมาดูยอดขายรถยนต์ในประเทศเดือนมกราคม - สิงหาคม 2565 มียอดขาย 559,537 คัน เพิ่มขึ้น 19.61 % ส่วนยอดขายเดือนสิงหาคม 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 68,208 คัน เพิ่มขึ้น 61.7 %
ปัจจัยที่ทำให้ยอดขายรถมีการเติบโต เป็นผลมาจากมีรถยนต์รุ่นใหม่และการได้รับชิ้นส่วนมากขึ้นในรถยนต์บางรุ่น รวมทั้งเศรษฐกิจในประเทศที่ดีขึ้นจากการผ่อนคลายให้นักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างประเทศเข้าประเทศสะดวกขึ้น และการส่งออกที่ยังเติบโต การจ้างงานเพิ่มขึ้น เกษตรกรและประชาชนมีรายได้ดีขึ้น
ส่งออกเติบโตเล็กน้อย
ขณะที่ตลาดส่งออก ไทยส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเดือนมกราคม – สิงหาคม 2565 จำนวน 606,055 คัน เพิ่มขึ้น 0.40 % คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 368,002.93 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.18 % ส่วนเดือนสิงหาคม 2565 ส่งออกได้ 73,325 คัน เพิ่มขึ้น 23.09 % มูลค่าการส่งออก 49,361.71 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38.12 %
บทสรุปยานยนต์ไทย 8 เดือน
สรุปภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย 8 เดือน นับตั้งแต่มกราคม - สิงหาคม 2565 รวมมูลค่าการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนอื่นๆ อะไหล่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วน และอะไหล่รถจักรยานยนต์ มีทั้งสิ้น 600,626.60 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.96 %
ขณะที่เดือนสิงหาคม 2565 รวมมูลค่าการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนอื่นๆ อะไหล่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วน และอะไหล่รถจักรยานยนต์ มีทั้งสิ้น 78,305.79 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.91 %
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากตัวเลขดังกล่าวคาดว่าอุตฯยานยนต์ไทยจะทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ กล่าวคือ มียอดขายในประเทศ 850,000 คัน ส่วนยอดส่งออก 900,000 คัน
สำหรับปัจจัยที่คาดว่ามีผลกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ยังคงเป็นเรื่องของเซมิคอนดักเตอร์ ชิ้นส่วนต่างๆรวมไปถึงสถานการณ์ความตึงเครียดในต่างประเทศ อาทิ รัสเซีย-ยูเครน ช่องแคบไต้หวัน การปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ที่จะทำให้ราคาสินค้าต่างๆแพงขึ้น จะส่งผลกับกำลังซื้อของผู้บริโภค อัตราเงินเฟ้อ ทั้งหมดนี้ถือเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามและคาดว่าจะประเมินสถานการณ์ได้ใหม่อีกครั้งในช่วง 2 เดือน
อย่างไรก็ตามปัจจัยบวกของตลาดในประเทศก็ยังมีให้เห็น ไม่ว่าจะเป็นการประกันราคาสินค้าเกษตร การผ่อนคลายต่างๆ การสนับสนุนการเดินทางไปยังต่างจังหวัด การจัดกิจกรรม การผ่อนคลายให้นักลงทุนหรือนักท่องเที่ยวเดินทางมายังประเทศไทย ทั้งหมดนี้จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนเงิน มีการใช้จ่ายในประเทศ รวมไปถึงการลงทุนต่างๆในประเทศเพิ่มขึ้น