ทันทีที่ บริษัท เทสลา (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศราคา Tesla Model 3 ที่ 1.759 ล้านบาท ในงานแนะนำตัวอย่างเป็นทางการกับคนไทย ที่ห้างสยามพารากอน (7 ธ.ค.) บรรดาสาวก “อีลอน มัสก์” และคนที่สนใจในรถพลังงานใหม่ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ไม่ซื้อไม่ได้แล้ว”
ที่ผ่านมา ผู้นำเข้าอิสระสั่ง EV รุ่นนี้มาขายในไทย โดยตั้งราคาประมาณ 3 ล้านบาท ดังนั้น เมื่อบริษัทแม่จากสหรัฐอเมริกามาทำตลาดเอง แล้วเปิดราคาตํ่ากว่ากันเกือบครึ่ง จึงกลายเป็นคนไทยได้ซื้อของที่ถูกลง แถมการรับประกันจากโรงงานผู้ผลิตโดยตรง
เทสลา ประเทศไทย ประเดิมนำเข้า Model 3 และ Model Y มาจากโรงงานเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ที่ ตอนนี้วางระบบการผลิตลงตัว มีรุ่นพวงมาลัยขวาไว้รองรับการส่งออก ซึ่งการขายในไทยก็ไม่เสียภาษีนำเข้า ตามข้อตกลง FTA จีน-อาเซียน
ทว่าโมเดลธุรกิจของ Tesla เป็นแบบไม่ค่อยง้อใคร รถขายได้ด้วยตัวของมันเอง พร้อมด้วยแผนการสร้างแบรนด์อันแยบยล จนประสบความสำเร็จในการส่งต่อคุณค่าที่ว่า “ทางเลือกของคนยุคใหม่ ใช้แล้ว โคตรเท่”
แน่นอนว่า การทำตลาดของ Tesla ในไทยจะเป็นการนำเข้า 100% ซึ่งผู้บริหารไม่เคยยืนยันว่า สนใจในการลงทุนสร้างโรงงานผลิตในไทย ส่วนช่องทางการขาย ไร้ดิสทริบิวเตอร์ ไม่มีดีลเลอร์ แต่ใช้วิธีขาย หรือสั่งจองออนไลน์ (www.tesla.com/th_th) แล้วค่อยไปส่งมอบที่ศูนย์บริการของตนเองเท่านั้น
บริษัท เทสลา (ประเทศ ไทย) จำกัด บอกว่า เตรียมเปิดแฟลกชิปสโตร์ 1 แห่ง (ในห้างใหญ่ใจกลางเมือง) และเตรียมเปิดศูนย์บริการซึ่งจะเป็นพื้นที่ในการส่งมอบรถใหม่ด้วยอีก 1 แห่ง ไม่รวมสถานีซูเปอร์ชาร์จอีก 10 แห่ง ภายในปี 2566
ดังนั้น Tesla ที่บริษัทแม่มา ลุยธุรกิจในไทยเอง แต่การลงทุน FDI ก้อนโตๆ แบบที่รัฐบาลไทยต้องการยังไม่มีให้เห็น ส่วนช่องทางการขายแทบจะไม่มีคู่ค้าชาวไทยอยู่ในระบบ (ยกเว้นค่าเช่าที่) ขณะที่การจ้างงานก็น้อยนิด
Tesla นำเข้ารถจากจีน ขณะที่หลายค่ายจีนก็ใช้ช่องทางนี้เช่นกัน แต่ทุกค่ายที่รับสิทธิประโยชน์จากรัฐบาลไทย ต่างมีแผนลงทุนขึ้นไลน์ประกอบ EV ในไทยทั้งสิ้น (แม้การประกอบจะออกแนว SKD และไม่ถึงขั้นผลิตเซลล์แบตเตอรี่ก็ตาม)
MG, Great Wall Motor ที่ตั้งโรงงานในไทย มีแผนขึ้นไลน์ประกอบ EV ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ ขณะที่ BYD โดยบริษัทแม่จากจีน ประกาศลงทุนกว่า 17,000 ล้านบาท เปิดโรงงานผลิตในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 คาดว่าจะเริ่มการผลิตในปี 2567 ด้วยกำลังการผลิต 150,000 คันต่อปี เพื่อรองรับตลาดในประเทศ และส่งออกไปยังอาเซียนและยุโรป (ยังไม่รวมการลงทุนของ Rever Automotive และบรรดาดีลเลอร์ต่างๆ)
ด้านบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น ที่ลงหลักปักฐานในไทยมาเกินครึ่งศตวรรษ เริ่มปรับตัวรับกับโลกยานยนต์ยุคใหม่ แต่ยังพยายามขับเคลื่อนธุรกิจไปทั้งองคาพยพ หรือเดินไปพร้อมๆ กับซัพพลายเชนที่เป็นคู่ค้ากันมานาน
ปัจจุบัน Tesla มีโรงงานผลิตรถที่แคลิฟอร์เนีย และเท็กซัส สหรัฐ อเมริกา นอกประเทศมีที่เบอร์ลิน เยอรมนี และเซี่ยงไฮ้ จีน ทั้งยังมีข่าวว่าจะขยายการลงทุนมายังประเทศอินโดนีเซีย อีกด้วย
ส่วนการแถลงข่าวเปิดตัวธุรกิจในไทย เมื่อวันที่ 7 ธันวาคมที่ผ่านมา ผู้บริหาร Tesla ไม่พูดถึงรายละเอียดในการลงทุนเพิ่มเติม นอกเหนือไปจากการนำเสนอราคา ช่วงเวลาส่งมอบ และแผนขยายสถานีซูเปอร์ชาร์จ
สำหรับ Tesla Model 3 Long Range ราคา 1,999,000 บาท รุ่น Performance 2,309,000 บาท ส่วน Tesla Model Y ราคาเริ่มต้น 1,959,000 บาท และรุ่น Long Range 2,259,000 บาท รุ่น Performance ราคา 2,509,000 บาท
โดยวันแรกของการเปิดรับจองออนไลน์ พบว่า มีผู้คนจ่ายเงินจองเกิน 4,000 คิวแล้ว ส่วนการส่งมอบจะเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2566 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม มีรายงานจาก Nikkei ว่า หลังผ่านไตรมาสที่สามของปี 2565 กำไรในการขายรถต่อคันของ Tesla สูงกว่า Toyota ถึง 8 เท่า (แต่ภาพรวมของธุรกิจโตโยต้ายังกำไรมากกว่า) ส่วนหนึ่งมาจาก กำลังผลิตที่เพิ่มขึ้น ต้นทุนต่อหน่วยการผลิตลดลง รวมถึงยอดขายรถ และมีรายรับจากซอร์ฟแวร์ระบบขับขี่อัตโนมัติมากขึ้น
ด้วยโมเดลธุรกิจออนไลน์ขายรถตรงกับผู้บริโภค (ไม่ผ่านดีลเลอร์) ต้นทุนในการบริหารจัดการตํ่ากว่า เช่นเดียวกับงบประชาสัมพันธ์ และ งบการตลาด ที่น้อยกว่ายักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่นมาก ล้วนส่งผลต่อผลประกอบการดังกล่าว
...ถึงตรงนี้ ไม่มีใครบอกว่ารถ Tesla ไม่ดี หรือ EV ไม่น่าใช้ แต่ดูจากโมเดลธุรกิจแล้ว น่าจะดีกับเจ้าของและผู้ถือหุ้น Tesla แน่ๆ และมันจะส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยแค่ไหน อันนี้น่าคิด