การจัดโปรโมชันและหั่นราคา ไม่เพียงพออีกต่อไปสำหรับ การแข่งขันในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ของประเทศ จีน ล่าสุดบริษัท นีโอ (Nio) หนึ่งในผู้เล่นรายใหญ่ ประกาศใช้กลยุทธ์หนุนการเติบโตระยะยาวและยั่งยืน ด้วยการเปิดแผนสร้าง สถานีเปลี่ยนแบตเตอรี เพิ่มเติมอีก 1,000 แห่งในปี 2566 นี้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้ รถยนต์ไฟฟ้า ของนีโอ
นายวิลเลียม หลี่ ผู้ก่อตั้งและประธานนีโอ บริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนเปิดเผยวันนี้ (21 ก.พ.) ระบุว่า นีโอวางแผนลงทุนสร้างสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ (battery-swapping stations) จำนวน 1,000 แห่งในปี 2566 ซึ่งจะทำให้บริษัทมีสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ในจีนรวมทั้งสิ้น 2,300 แห่งภายในสิ้นปีนี้
นายหลี่ระบุว่า บริษัทนีโอจะสร้างสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ตามแนวถนนทางหลวงจำนวน 400 แห่งและในพื้นที่เขตเมืองอีก 600 แห่ง โดยมุ่งความสนใจไปที่เมืองและเขตชั้น 3 และ 4 ทั่วประเทศจีน
ความเคลื่อนไหวของนีโอในครั้งนี้ เป็นการต่อยอดแผนเดิมในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ที่ครั้งนั้นบริษัทตั้งเป้าหมายจะสร้างสถานีเปลี่ยนแบตเตอรีเพิ่มเพียง 400 แห่ง
แต่หลังจากที่นายหลี่เดินทางท่องเที่ยวจังหวัดต่างๆในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนรวมทั้งในหัวเมืองรองของมณฑลเจ้อเจียง เขาตัดสินใจจากประสบการณ์ครั้งนั้นว่าจะต้องสร้างสถานีเปลี่ยนแบตฯเพิ่มขึ้นอีก
ทั้งนี้ สถานีเปลี่ยนแบตเตอรี หรือ battery-swapping stations จะทำให้ผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าระยะทางไกล มั่นใจได้ว่าเมื่อพวกเขาขับรถมาจนพลังงานในแบตฯเริ่มอ่อนลง พวกเขาจะมีสถานที่ให้นำแบตฯที่พลังงานลดลงแล้ว มาเปลี่ยนเป็นแบตฯลูกใหม่เอี่ยมเต็มพลัง เพียงแค่เปลี่ยนก็สามารถขับรถต่อไปได้เลย ต่างจากการนำรถมาเสียบปลั๊กชาร์จ หรือ ประจุไฟเพิ่ม ซึ่งต้องใช้เวลามากกว่า แต่การจะทำให้สถานีเปลี่ยนแบตเตอรีขยายตัวได้อย่างรวดเร็วและกว้างไกล ต้องอาศัยการทำให้อุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรีมีมาตรฐานเดียวกันด้วย
นีโอนับเป็นหนึ่งในบรรดาผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของจีน ที่ทุ่มลงทุนเกี่ยวกับการติดตั้งและขยายเพิ่มจำนวนสถานีเปลี่ยนแบตเตอรีอย่างจริงจัง เพื่อเป็นทางออกและทางเลือกที่ดีให้แก่ผู้ที่ขับขี่รถยนต์อีวี ทั้งนี้ เทสลาก็เคยมีแผนใหญ่ที่จะสร้างเครือข่ายสถานีเปลี่ยนแบตฯ แต่สุดท้ายก็พับโครงการไปโดยระบุว่า มีหลายปัจจัยที่สร้างปัญหาและสถานีเปลี่ยนแบตฯก็ไม่เหมาะสมสำหรับการใช้ในวงกว้าง
ปัจจุบัน ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าจีนมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด โดยบริษัทต่าง ๆ เร่งพัฒนาศักยภาพด้านการผลิตและทำสงครามราคา โดยเมื่อเร็วๆนี้ เทสลา อิงค์ จากสหรัฐอเมริกา (แต่มีโรงงานผลิตรถอีวีในเมืองเซี่ยงไฮ้) และเสี่ยวเผิง (Xpeng) ผู้ผลิตรถอีวีรายใหญ่ของจีนเอง ได้ตัดสินใจลดราคาขายรถยนต์ไฟฟ้าในจีนเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดกันอย่างดุเดือด