ไม่นานมานี้ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เห็นชอบหลักการสำคัญเกี่ยวกับการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยมีการพิจารณามาตรการต่าง ๆ หลายมาตรการแต่ผลการประชุมดังกล่าวยังไม่ได้เสนอเข้าไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ โดยเฉพาะในการประชุมครม.แบบอำนาจเต็มในช่วงกลางเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมาตรการเป็นการเร่งด่วน
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า มาตรการทั้งหมดผ่านมติของคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ที่ผ่านมา นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ เสนอมาตรการนี้ไปยังครม.ไม่ทันก่อนรัฐบาลยุบสภา และอาจมีความเสี่ยงที่จะทำให้แผนการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต EV และชิ้นส่วนที่สำคัญของภูมิภาค อาจต้องสะดุดไป
ก่อนหน้านี้ในการผลักดันเรื่องดังกล่าว รองนายกฯ นายสุพัฒนพงษ์ ระบุกับผู้สื่อข่าวหลังการประชุมครม. นัดส่งท้ายก่อนยุบสภาว่า เมื่อไม่ทันอนุมัติในครม. แต่ก็มั่นใจว่ามาตรการนี้จะได้รับการพิจารณาเป็นมาตรการแรก ๆ ในรัฐบาลใหม่ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลมาจากพรรคการเมืองใดก็ตาม เพราะมาตรการนี้เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ
สำหรับแพ็คเกจการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ผ่านมติคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ มีเรื่องสำคัญด้วยกัน ดังนี้
มาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า
1.การปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตแบตเตอรี่จาก 8% เหลือ 1% และยกเว้นอากรนำเข้าแบตเตอรี่สำเร็จรูปในช่วง 2 ปีแรก
โดยผู้ขอรับสิทธิ์ต้องผลิตแบตเตอรี่ชดเชยภายในปีที่ 3 เท่ากับจำนวนแบตเตอรี่สำเร็จรูปที่นำเข้าในปีที่ 1 และ 2 ในอัตราส่วน 1 ต่อ 2 คือนำเข้า 1 แพ็คผลิตชดเชย 2 แพ็ค หรือต้องผลิตแบตเตอรี่ชดเชยภายในปีที่ 4 เท่ากับจำนวนแบตเตอรี่สำเร็จรูปที่นำเข้าในปีที่ 1 และ 2 ในอัตราส่วน 1 ต่อ 3 หรือนำเข้า 1 แพ็คผลิตชดเชย 3 แพ็ค
2. มาตรการสนับสนุนเงิน 24,000 ล้านบาท สำหรับการผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในประเทศไทย บนหลักการ “ลงทุนผลิตก่อน ได้รับเงินสนับสนุนก่อน” หรือ First Come- First Serve เพื่อจูงใจให้ผู้ขอรับสิทธิเร่งดำเนินการผลิตแบตเตอรี่ในประเทศโดยเร็ว
สำหรับเงินสนับสนุนจะขึ้นอยู่กับขนาดของโรงงานผลิตแบตเตอรี่และความจุพลังงานจำเพาะของแบตเตอรี่ สำหรับโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาดต่ำกว่า 8 GWh จะได้รับเงินสนับสนุนระหว่าง 400-600 บาท/kWh หากเป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาดสูงกว่า 8 GWh จะได้รับเงินสนับสนุนระหว่าง 600-800 บาท/kWh
มาตรการสนับสนุน การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ (EV3)
ที่ผ่านมาการดำเนินมาตรการดังกล่าว อยู่ภายใต้งบประมาณปี 2565 จำนวน 3,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถรองรับการดำเนินมาตรการ EV3 ได้แค่ภายในปีงบประมาณ 2566 หรือถึงเดือนกันยายน 2566 เท่านั้น ส่วนแหล่งงบประมาณที่ใช้ในการสนับสนุนมาตรการ EV3 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567-2568 นั้น
คณะกรรมการฯ เห็นว่า ยังไม่สามารถนำเงินจาก กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย และกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานมาใช้ในได้ จึงขอให้กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิต พิจารณาเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณ ประจำปี พ.ศ.2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ไปพลางก่อน
มาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ประเภทรถยนต์ ระยะที่ 2 (EV3.5)
คณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า ควรกำหนดมาตรการ EV3.5 ในช่วงระยะเวลา ระหว่างปี 2567-2568 เพื่อเปิดกว้างและชักจูงให้เกิดการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเพิ่มขึ้น สามารถบรรลุเป้าหมายการผลิตในปี 2567 โดยมาตรการ EV3.5 จะมีการกำหนดเงื่อนไขที่เข้มงวดขึ้น และสนับสนุนในจำนวนที่ลดลง รวมทั้ง เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมมาตรการ EV3 สามารถเข้าร่วมมาตรการนี้ได้ด้วย
ดังนั้นเพื่อสร้างความเป็นธรรมกับนักลงทุนเข้าร่วมมาตรการ EV3 และเพื่อไม่ให้กระทบความเชื่อมั่นในการลงทุน จึงมอบหมายกระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนรับไปออกประกาศที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเพิ่มเติมตามมาตรการ EV3.5 ต่อไป
มาตรการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ที่ขับเคลื่อน ด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า
คณะกรรมการฯ ได้เห็นชอบในหลักการมาตรการ ขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ฐานการผลิตยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งประกอบด้วยมาตรการสำหรับ รถยนต์ 3 ประเภท คือ