“อีลอน มัสก์” เยือนจีน สานต่อโครงการลงทุนอภิมหาโปรเจ็คท์

31 พ.ค. 2566 | 07:16 น.
อัปเดตล่าสุด :31 พ.ค. 2566 | 07:37 น.

อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีโลก ซีอีโอบริษัทเทสลา เดินทางเยือนจีนอีกครั้ง พร้อมประกาศเจตจำนง เพิ่มการลงทุนด้านตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในจีน เดินหน้าโรงงานขนาดใหญ่ผลิตแบตเตอรี่ที่เซี่ยงไฮ้

 

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน วันนี้ (31 พ.ค.) ระบุ นายฉิน กัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน ได้ให้การต้อนรับ นายอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีนักธุรกิจ และประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร ( ซีอีโอ ) ของ บริษัทเทสลา ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของโลก ซึ่งกำลังเดินทางเยือนจีนเริ่มตั้งแต่เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (30 พ.ค.) โดยครั้งนี้ นับเป็นการเยือนจีนครั้งแรกของนายมัสก์ในรอบกว่า 3 ปี หรือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ผ่านพ้นการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 นั่นเอง

กระทรวงการต่างประเทศจีนออกแถลงการณ์ เกี่ยวกับการพบหารือครั้งนี้ว่า ซีอีโอของเทสลามีความมุ่งมั่นที่จะขยายธุรกิจในจีน และยังเน้นย้ำว่า เทสลาไม่เห็นด้วยกับการใช้นโยบายแบ่งแยกทางธุรกิจ ขณะที่นายฉินกล่าวกับนายมัสก์ว่า รัฐบาลปักกิ่งยินดีสร้างเสริมสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ให้มีความเป็นมิตร และมุ่งเน้นแนวคิดกลไกตลาดตามหลักนิติธรรมสำหรับบริษัทต่างชาติทุกราย

ปัจจุบัน จีนเป็นตลาดยานยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดของโลก และเป็นตลาดต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของเทสลาด้วย โดยบริษัทประกาศเมื่อเดือนเม.ย. ที่ผ่านมาว่า มีโครงการลงทุนเตรียมสร้างโรงงานแห่งที่สองในจีน โดยจะยังคงตั้งอยู่ที่นครเซี่ยงไฮ้ และมีกำหนดการก่อสร้างแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่สองของปี 2567 ตั้งเป้าผลิตแบตเตอรี่เมกะแพ็ก (Megapack) หรือแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ ให้ได้ 10,000 หน่วยต่อปี หรือเทียบเท่าการกักเก็บพลังงานไฟฟ้า 40 กิกะวัตต์ชั่วโมง และจะส่งขายไปทั่วโลก

โรงงานขนาดใหญ่ของเทสลาในเมืองเซี่ยงไฮ้

รายงานข่าวระบุว่า โรงงานแห่งใหม่ในเซี่ยงไฮ้จะช่วยให้เทสลาสามารถเพิ่มกำลังผลิต และลดต้นทุนในการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนเมกะแพ็ก เพื่อตอบสนองต่อความต้องการกักเก็บพลังงานที่เพิ่มสูงในขณะที่โลกเปลี่ยนไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น

ถึงแม้เทสลาจะมีรายได้ส่วนใหญ่จากการขายรถยนต์ไฟฟ้า ทว่ามหาเศรษฐี อีลอน มัสก์ ก็ได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะขยายธุรกิจด้านพลังงานแสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ให้เติบโตได้พอๆ กัน

ปัจจุบัน เทสลามีโรงงานผลิตแบตเตอรี่เมกะแพ็ค อยู่ที่เมืองลาธร็อป ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งสามารถผลิตแบตเตอรี่ประเภทนี้ได้ราว ๆ 10,000 ชุดต่อปี

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เมื่อเดือน พ.ค.ปีที่แล้ว (2565) เทสลายังมีแผนจะขยายโรงงานกิกะแฟคทอรี (Gigafactory) ในนครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งที่นี่คือโรงงานแห่งแรกของเทสลานอกประเทศสหรัฐอเมริกา(ก่อสร้างขึ้นในปี 2019 เพื่อผลิตรถยนต์เทสลารุ่นโมเดล 3)  และถือเป็นโรงงานผลิตรถยนต์ของเทสลาที่มีกำลังผลิตสูงที่สุด โดยบริษัทตั้งเป้าผลิตรถเพิ่มให้ได้ถึง 450,000 คันต่อปี

อีลอน มัสก์ เยือนกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมจีน (31 พ.ค.2566)

สานสัมพันธ์ได้ดีกว่าภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างนายมัสก์กับรัฐบาลปักกิ่ง ได้รับการจับตาอย่างใกล้ชิดมาตลอดจากรัฐบาลวอชิงตัน โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐเคยกล่าวว่า “เรื่องนี้ควรค่าแก่การตรวจสอบ” ซึ่งนางเหมา หนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวว่า รัฐบาลปักกิ่งยินดีต้อนรับผู้บริหารบริษัทเอกชนจากต่างประเทศเพื่อทำความเข้าใจ เกี่ยวกับการดำเนินงานเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างบริษัทนั้นๆ กับรัฐบาลจีน

สำหรับการเยือนจีนของนายมัสก์ครั้งนี้ แถลงการณ์ของกระทรวงต่างประเทศจีนระบุว่า รัฐมนตรีฉินกล่าวกับนายมัสก์ว่า "เราจำเป็นต้องรักษาพวงมาลัย(รถ)ให้มุ่งไปในทิศทางที่ถูกต้องของการเคารพซึ่งกันและกัน การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย" นอกจากนี้ ยังกล่าวในเชิงเปรียบเทียบด้วยว่า "ทั้งสองประเทศควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ที่เป็นอันตราย"

นายอีลอน มัสก์ เยือนจีนครั้งนี้ในขณะที่รัฐบาลจีนกำลังพยายามฟื้นฟูการลงทุนจากต่างชาติเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนที่ชะลอตัวลง แม้ที่ผ่านมา บริษัทต่างชาติหลายรายยอมรับว่าพวกตนเผชิญการคุกคามจากเจ้าหน้าที่จีน ขณะเดียวกันความสัมพันธ์ที่บาดหมางระหว่างรัฐบาลจีนกับสหรัฐในหลายประเด็นก็ดูจะไม่ช่วยส่งเสริมการค้า-การลงทุนของภาคเอกชนมากนัก

เกี่ยวกับเรื่องนี้ รัฐมนตรีฉินยืนยันว่า จีนจะ “เปิดรับ สนับสนุน และสร้างสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจระหว่างประเทศ” ที่อยู่บนพื้นฐานทางกฎหมายและกลไกตลาด และยังย้ำด้วยว่า การพัฒนาของจีนคือโอกาสสำหรับบริษัทต่างๆทั่วโลก

ปัจจุบัน ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในจีนมีสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของยอดขายรถประเภทนี้ทั่วโลก ซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศจีนกล่าวว่า ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของจีนยังสามารถเติบโตได้อีกมาก

ในส่วนของบริษัทเทสลานั้น ได้เริ่มเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ในจีนตั้งแต่เมื่อ 4 ปีที่แล้ว (ปี 2019) หลังจากที่ทางการจีนผ่อนคลายกฎเกณฑ์ควบคุมเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและยกระดับเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าของจีนเอง

แถลงการณ์ของจีนระบุว่า นายมัสก์เห็นด้วยว่า เทสลาต้องการขยายธุรกิจในจีน และเขายังต่อต้านแนวคิดการกระจายตลาดรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกเป็นหลายตลาดโดยที่ไม่มีสินค้าที่มีคุณภาพที่ดีเพียงพอ

 

ข้อมูลอ้างอิง