"รถจีนเชอรี่" เคยเข้ามาในประเทศไทยช่วงปี 2552 ผ่านดิสทริบิวเตอร์ ไทยยานยนตร์ ของ “วิทิต ลีนุตพงษ์” กับรถยนต์ 3 รุ่นคือ ซิตี้คาร์ QQ ราคา 4 แสนบาท เอสยูวี Tiggo ราคา 8 แสนบาท และ เอ็มพีวี Cross ราคา 9 แสนบาท ล่าสุดประกาศกลับมาบุกตลาดไทยอีกครั้งด้วยแบรนด์ลูกอย่าง OMODA & JAECOO โดยเป็นการเข้ามาดูแลตลาดด้วยตนเอง
การกลับมาครั้งนี้ ถือว่าบริษัทแม่ที่จีน Chery International มองเกมขาด เพราะหากขายรถแบรนด์เชอรี่ ในไทย คงไปไม่รอด จึงปรับแผนส่งแบรนด์พรีเมี่ยม OMODA & JAECOO บุกตลาด ประเดิมนำเข้าเอสยูวี OMODA 5 EV จากจีนมาเปิดตัวในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ตามด้วย JAECOO 8 ช่วงปลายปี
ด้านแผนการผลิตเฟสแรก เตรียมว่าจ้างโรงงานภายนอกประกอบรถให้ในช่วง 2 ปีแรกของการดำเนินธุรกิจ (2567-2568) เริ่มจาก OMODA 5 EV ในไตรมาสที่ 3 หรือ 4 วางกำลังการผลิต 20,000 คันต่อปี
จากนั้นในเฟสที่สอง 2569-2570 เชอรี่จะลงทุนสร้างโรงงานผลิตของตนเอง กับเอสยูวีพลังงานไฟฟ้า (EV,PHEV,HEV) กำลังผลิต 50,000 คันต่อปี แบ่งเป็นการทำตลาดในประเทศ 45,000 คัน และส่งออกไปในอาเซียน 5,000 คัน
สำหรับเฟสที่ 3 ระหว่างปี 2571-2573 วางกำลังผลิตสูงสุดไว้ 100,000 คันต่อปี และตั้งเป้าหมายขายในประเทศถึง 60,000 คันต่อปี พร้อมขยายการส่งออกไปหลายประเทศทั่วโลก
นายชี่ เจี๋ย ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด OMODA และ JAECOO ประเทศไทย เปิดเผยว่า จากผลสำรวจที่ศึกษามาพบว่า คนไทยชื่นชอบแบรนด์ OMODA & JAECOO มากกว่า CHERY จึงเป็นเหตุให้บริษัทตัดสินใจกลับมาทำธุรกิจในไทยด้วยแบรนด์นี้ โดยช่วงแรกจะเป็นการนำเข้ารถจากจีนมาทำตลาด ก่อนมีแผนขึ้นไลน์ประกอบในประเทศตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป
เชอรี่ มีหลากหลายแบรนด์ในเครือ อย่างกลุ่มแมสจะเป็น CHERY หากยกระดับขึ้นมาอีกหน่อย จะเป็น OMODA & JAECOO ที่จะขึ้นไปเทียบเคียงแบรนด์ยุโรปอย่าง เมอร์เซเดส-เบนซ์ บีเอ็มดับเบิลยู อาวดี้”
การทำตลาดในไทยด้วยเอสยูวีแบรนด์ OMODA & JAECOO จะมีหลากหลายโมเดล แต่จะเป็นรถพลังงานใหม่ ทั้ง อีวี ไฮบริด และปลั๊ก-อินไฮบริด ซึ่งในจีนใช้แบตเตอรี่ของ BYD และ CATL แต่การประกอบในไทยยังไม่สรุปว่าจะใช้ของเจ้าไหน
นายชี่ เจี๋ย กล่าวว่า เดือนตุลาคมนี้ เราจะจดทะเบียนตั้งบริษัทลูกที่ถือหุ้นโดยเชอรี่ 100% และพูดคุยกับบีโอไอ ถึงแผนการลงทุน รวมถึง ปตท. และพันธมิตรที่จะมาประกอบรถให้ในช่วงแรก ซึ่งภายในปีนี้จะได้ข้อสรุป
สำหรับ OMODA ที่เตรียมขายในไทยจะมีทั้ง รุ่น 5,3 และ 9 ขุมพลัง EV และ Hybrid ส่วน JAECOO จะเปิดตัวด้วยรุ่น 8,7 และ 5 ขุมพลัง ICE และ PHEV
ทั้ง 2 แบรนด์มีจุดเด่นต่างกัน แต่เป้าหมายคือเจาะกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ OMODA จะออกแนวแฟชัน ส่วน JAECOO จะเป็นสไตล์ออฟโรด เน้นพละกำลัง ซึ่งจากผลการสำรวจทำให้ Chery International มั่นใจว่า ยังมีช่องว่างสำหรับรถประเภทนี้ในตลาดประเทศไทย
นอกจากนี้ บริษัทจะเข้ามาดูแลการขายและบริการหลังการขายด้วยตนเอง (ต่างจากบางค่ายที่แต่งตั้งดิสทริบิวเตอร์) เบื้องต้นจะรับสมัครดีลเลอร์ 15-20 ราย เพื่อเปิดโชว์รูม-ศูนย์บริการ 30 แห่งทั่วประเทศ