"ปตท."ผุดโรงงานผลิตแบตเตอรี่"EV"มุ่งเป้า Net Zero ปี 93

07 ธ.ค. 2566 | 08:55 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ธ.ค. 2566 | 08:55 น.

"ปตท."ผุดโรงงานผลิตแบตเตอรี่"EV"มุ่งเป้า Net Zero ปี 93 คาดส่งมอบแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคุณภาพสูงสู่ตลาดภายปีนี้ เผยกำลังการผลิตเริ่มต้น 2 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี พร้อมขยายเป็น 8 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปีในอนาคต

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัท โกชั่น ไฮเทค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท นูออโว พลัส จำกัด (Nuovo Plus) และบริษัท โกชั่น ไฮเทค จำกัด (Gotion) ในสัดส่วนการลงทุน 51% และ 49% ด้วยทุนจดทะเบียนมากกว่า 600 ล้านบาท

ทั้งนี้ ได้ดำเนินการเปิดโรงงานและนำเสนอผลิตภัณฑ์แบตเตอรี่ของ บริษัท เอ็นวี โกชั่น จำกัด (NV Gotion) เพื่อดำเนินธุรกิจนำเข้า ประกอบ และจัดจำหน่ายโมดูลแบตเตอรี่และชุดแบตเตอรี่สำหรับระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) 

และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยคาดว่าจะส่งมอบแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคุณภาพสูงสู่ตลาดภายในปี 2566 ด้วยกำลังการผลิตเริ่มต้น 2 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี และจะขยายกำลังการผลิตเป็น 8 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปีในอนาคต

นายอรรถพล กล่าวอีกว่า กลุ่ม ปตท. มุ่งในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 โดยมองถึงความสำคัญเร่งด่วนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก จึงนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมแบตเตอรี่คุณภาพสูงมาสู่อุตสาหกรรมไทย เพื่อตอบโจทย์ทิศทางธุรกิจพลังงานใหม่ของโลก 

"ปตท."ผุดโรงงานผลิตแบตเตอรี่"EV"มุ่งเป้า Net Zero ปี 93

ภายใต้การดำเนินงานของนูออโว พลัส ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ARUN PLUS) ซึ่งถือหุ้น 100% โดย ปตท. และบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) ที่เข้ามาช่วยเร่งพันธกิจการสร้าง EV Value Chain และธุรกิจพลังงานสะอาดของ กลุ่ม ปตท. 

"การเกิดขึ้นของโรงงานประกอบชุดแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนระดับ Giga Factory (กิกะแฟกทอรี) ในประเทศไทยดังกล่าวแห่งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับประเทศไทยจากการเป็นผู้นำเข้า ก้าวสู่การเป็นผู้ผลิต และพัฒนาตัวเองสู่การเป็นผู้ส่งออกแบตเตอรี่ลิเธียมในอนาคต"

อย่างไรก็ดี เชื่อว่าเอ็นวี โกชั่น จะเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองที่ช่วยให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสามารถรักษาจุดยืนความเป็นผู้นำของฐานการผลิตยานยนต์ในภูมิภาค ตอบสนองแนวทางของคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ที่ออกมาตรการผลักดันเป้าผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศให้ได้ 30% ในปี 2573 

รวมถึงการการสนับสนุนเป้าหมายการใช้พลังงานสะอาดตามแผนพลังงานชาติในการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าใหม่ โดยมีสัดส่วน Renewable Energy ไม่น้อยกว่า 50% ได้