คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติเห็นชอบให้ปรับ ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือเอฟที ใน งวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 67 เท่ากับ 89.55 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 69.07 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย
ทั้งนี้ ส่งผลทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) จากงวดปัจจุบัน อยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย หรือปรับขึ้น 0.69 บาทต่อหน่วย
โดยหลังจากที่ กกพ. ประกาศอัตราค่าไฟดังกล่าว ทำให้ทั้งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รวมถึงนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานแสดงความไม่พอใจที่ กกพ. ปรับขึ้นค่าไฟ และพยายามหาแนวทางปรับลดค่าไฟงวดใหม่ให้ต่ำกว่า 4.20 บาทต่อหน่วย
ทั้งนี้ ล่าสุดแหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน ระบุว่า กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางการปรับลดค่าไฟฟ้าให้เหลือ ต่ำกว่า 4.20 บาทต่อหน่วย ตามนโยบาย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค โดยเบื้องต้นอาจให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แบกรับภาระค่าไฟฟ้าแทนประชาชนที่ประมาณ 25 สตางค์ต่อหน่วยไปก่อน เช่นเดียวกับที่ผ่านมา กฟผ. แบกรับภาระค่าไฟฟ้าไว้ และให้ประชาชนมาทยอยจ่ายคืนในรูปของค่าเอฟทีในภายหลัง
นอกจากนี้ ก็จะให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ลดราคาค่าก๊าซธรรมชาติสำหรับโรงไฟฟ้าลง โดยให้ ปตท.รับภาระไปก่อน หลังจากนั้นจึงให้ประชาชนจ่ายคืนภายหลังเช่นกัน
อย่างไรก็ดี อาจจะเป็นการกำหนดให้ราคาขายก๊าซธรรมชาติที่ขายก๊าซฯให้โรงไฟฟ้า และขายให้ธุรกิจปิโตรเคมีเท่ากัน จากปัจจุบันราคาขายก๊าซฯให้ธุรกิจปิโตรเคมีราคาถูกกว่าโรงไฟฟ้า
"แนวทางการขอความร่วมมือกับ ปตท. ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ เนื่องจาก ปตท. เป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) หากมีแนวทางไม่ชัดเจนจะกระทบต่อ ราคาหุ้นและความเชื่อมั่นนักลงทุนได้"
อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหนึ่งแนวทางที่สามารถทำควบคู่กันไปได้ นั่นก็คือการของบประมาณจากภาครัฐเข้ามาชดเชยให้กับประชาชน โดยทั้งหมดจะเป็นมาตรการระยะสั้น เพื่อรอคณะทำงานที่นายพีระพันธุ์ ตั้งขึ้นมาเพื่อมาปรับโครงสร้างราคาพลังงานระยะยาว ไม่ต้องทำให้ประชาชน ภาคอุตสาหกรรม ต้องมาลุ้นราคาที่ยังไม่ปรับโครงสร้างทุก 4 เดือน
หากได้ข้อสรุปมาตรการที่จะปรับลดราคาระยะสั้นทั้งหมดภายในเดือนนี้ จะเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้พิจารณา ก่อนที่จะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบต่อไป