เบนซ์ ประกอบ EV รุ่นใหม่ EQS SUV ในไทยปลายปี 2567

12 มิ.ย. 2567 | 04:44 น.
อัปเดตล่าสุด :12 มิ.ย. 2567 | 06:12 น.

เมอร์เซเดส-เบนซ์ เตรียมขึ้นไลน์ประกอบ EV รุ่นที่สองในไทย EQS SUV ต่อจาก EQS ตัวถังซีดาน คาดราคาขายกว่า 6 ล้านบาท พร้อมนำเข้า G-Class EV มาเปิดตัวปลายปีนี้ ส่วนคู่แข่ง BMW วางแผนประกอบ EV ที่โรงงานจ.ระยอง ปี 2568

เมอร์เซเดส-เบนซ์ เอจี ไฟเขียวให้ไทยขึ้นไลน์ประกอบเอสยูวีพลังงานไฟฟ้า EQS SUV เป็นโมเดลที่สอง ต่อจาก EQS ตัวถังซีดาน พร้อมเปิดตัวทำตลาดช่วงปลายปีนี้

 

สำหรับ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ถือเป็นค่ายรถยนต์เมเจอร์แบรนด์ที่เริ่มประกอบ EV ในไทยเป็นรายแรก ตั้งแต่ปลายปี 2565 ที่โรงงานธนบุรีประกอบรถยนต์ จ.สมุทรปราการ กับรุ่น EQS 500 4MATIC AMG Premium ราคา 7.2 ล้านบาท รวมถึงโรงงานประกอบแบตเตอรี่ EV ผ่าน บริษัท ธนบุรี เอ็นเนอร์ยี่ สตอเรจ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด (TESM)

 

จากนั้นนำเข้า EV จากประเทศฮังการี เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา มาทำตลาดอีกหลายรุ่น ทั้ง เอสยูวี GLB ราคา 3.02 ล้านบาท สปอร์ตคาร์ Mercedes AMG EQE 53 ราคา 5.95 ล้านบาท และเอสยูวี EQE SUV ราคาเริ่มต้น 4.85 ล้านบาท

เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประกอบ EV EQS SUV ในไทยปลายปี 2567 เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประกอบ EV EQS SUV ในไทยปลายปี 2567

ส่วนปลายปีนี้ ยังมีทีเด็ดกับการนำเข้า G-Class เอสยูวีระดับตำนานที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% มาเปิดตัวในไทยอีกด้วย

 

โดย Mercedes-Benz G 580 ถูกนำมาอวดโฉมครั้งแรกในโลกที่งาน Auto China 2024 กรุงปักกิ่ง เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยแย้มรายละเอียดว่า ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า 4 ตัว แยกควบคุมล้อทั้งสี่แบบเป็นอิสระต่อกัน (ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อแบบไม่ต้องมีเฟือง ตัด/ต่อกำลัง) ให้กำลังรวม 580 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 1,165 นิวตัน-เมตร อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ภายใน 4.7 วินาที ความเร็วสูงสุดทำได้  180 กม./ชม.

 

ด้านชุดแพกแบตเตอรี่ความจุ 116 kWh ชาร์จไฟเต็มหนึ่งครั้งวิ่งได้ระยะทาง 473 กม. รองรับการชาร์จไฟฟ้ากระแสตรง DC 200 kW และกระแสสลับ AC 22 kW

 

แม้จะเป็นรถนำเข้าทั้งคัน แต่ด้วยโครงสร้างภาษีรถยนต์ไฟฟ้าในไทย คาดว่า Mercedes-Benz G 580 ราคาจะถูกกว่า Mercedes AMG G63 (เครื่องยนต์เบนซิน V8 ขนาด 4.0 ลิตร เทอร์โบคู่) ที่ขายอยู่ 17.92 ล้านบาท

ส่วนยอดจดทะเบียน EV เมอร์เซเดส-เบนซ์ ปีที่แล้ว GLB ทำ ได้ 107 คัน EQS จำนวน 76 คัน และ EQE แจ้งไว้ 9 คัน

 

ทั้งนี้ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ยังมีแผนทำตลาด EV รุ่นใหม่ๆ ในไทย โดยมีออพชันนำเข้ามาจากจีนเช่นกัน นอกเหนือไปจาก EQS SUV รุ่นประกอบในประเทศปลายปีนี้ ล่าสุดเพิ่งจัด งานแถลงข่าวต่อสัญญาว่าจ้าง ธนบุรีประกอบรถยนต์ ต่อไปอีก 10 ปี

เบนซ์ ประกอบ EV รุ่นใหม่ EQS SUV ในไทยปลายปี 2567

นายมาร์ทิน ชเวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทเป็นแบรนด์รถยนต์ลักชัวรี่ แบรนด์แรกที่เริ่มผลิตแบตเตอรี่ และประกอบรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในรุ่น EQS 500 4MATIC AMG Premium

 

“ก้าวต่อไปในการขยายกำลังการผลิตของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคชาวไทย เมอร์เซเดส-เบนซ์ ได้ดำเนินการต่อสัญญาว่าจ้างบริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด ให้เป็นผู้ประกอบรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ ในประเทศไทย ต่อไปเป็นระยะเวลาอีก 10 ปี” นายมาร์ทิน กล่าว

 

โดยมีรถยนต์กว่า 13 รุ่น ถูกผลิตขึ้นในโรงงานแห่งนี้ ไล่ตั้งแต่ A-Class, C-Class, E-Class, S-Class, GLA, GLC, GLE, GLS, C-Coupe, GLC-Coupe, CLS, Maybach S-Class, และ EQS ซึ่งเมอร์เซเดส-เบนซ์เพิ่งฉลองการประกอบรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ คันที่ 200,000 ไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

ภายในงานแถลงข่าวดังกล่าว ค่ายตราดาวยังถือโอกาส แสดงวิสัยทัศน์และนโยบายด้านความยั่งยืน ด้วยการผลักดันระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตในการเพิ่มสัดส่วนของการใช้วัสดุทดแทนที่มาจากกระบวนการรีไซเคิลชิ้นส่วนรถยนต์

เบนซ์ ประกอบ EV รุ่นใหม่ EQS SUV ในไทยปลายปี 2567

ตลอดจนการนำแบตเตอรี่แรงดันสูงที่ใช้สำหรับการทดสอบแบตเตอรี่ในกระบวนการผลิตมาพัฒนาเป็นแหล่งพลังงาน ที่ใช้เชื่อม ต่อกับสายส่งไฟฟ้า โดยริเริ่มด้วยการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MoU) กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมส่งมอบเซลล์แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน (Cellblocks) ขนาด 2 เมกะวัตต์ ให้กับ สวทช. ภายในเดือนกรกฎาคม 2567 เพื่อสนับสนุนการวิจัย พัฒนาอีกด้วย

 

ด้านคู่แข่ง บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป เดินหน้านโยบาย Circular Economy เช่นกัน ด้วยการสนับสนุนโครงการ CHOICEISYOURS ปีที่สาม โดยชวนนิสิตนักศึกษาจากสถาบันทั่วประเทศ ร่วมนำเสนอโครงการภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนและการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนา ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย เอสซีจี กลุ่มเซ็นทรัล โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์  และบางจาก คอร์ปอเรชัน

 

ในส่วนความคืบหน้าเกี่ยวกับแผนงานรถพลังงานไฟฟ้า 100% บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย เตรียมสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้า บนพื้นที่กว่า 4,000 ตารางเมตร ใน จ.ระยอง ซึ่งไทยถือเป็นประเทศแรกในอาเซียน ที่มีโรงงานประกอบแบตเตอรี่ไฟฟ้าแรงดันสูง ของบีเอ็มดับเบิลยู เพื่อต่อยอดไปถึงการประกอบ EV ในปี 2568