นายศุภชัย ใจสมุทร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าพิธีเปิดตัวภาคีเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนได้ สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก ภายในงาน International Energy Storage Forum 2024 - TESTA Annual Symposium ครั้งที่ 4 นั้น
การเข้าร่วมการเปิดตัวครั้งนี้ ภาคีเครือข่ายนี้มีเป้าหมายหลักในการลดข้อจำกัดของการใช้งานแบตเตอรี่ในประเทศไทย ครอบคลุมประเด็นด้านราคา ความปลอดภัย และคุณภาพ
โดยจะดำเนินการผ่านการพัฒนามาตรฐานกลางในด้านขนาด ระบบไฟฟ้า การเชื่อมต่อ และการสื่อสาร เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยสู่มาตรฐานสากล
นายศุภชัย กล่าวต่อว่า รัฐบาลไทยโดยได้มีนโยบายอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็น EV Hub ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
นอกจากนี้ยังมีมาตรการส่งเสริม EV มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ และ Supply Chain ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างอุตสาหกรรมใหม่ในประเทศ
ทั้งนี้ทางรัฐบาลและกระทรวง อว. เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ จึงได้ประกาศนโยบาย อว. for EV โดยมีเเนวทางการดำเนินการใน 3 เสาหลัก คือ
1. EV-HRD พัฒนาบุคลากรด้าน EV 2. EV-Transformation เปลี่ยนผ่านหน่วยงานใน อว. ให้นำร่องใช้รถ EV แทนรถยนต์สันดาปภายใน (ICE)
3. EV-Innovation ผลักดันการวิจัยพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของอุตสาหกรรมEV ในประเทศ
สำหรับภาคีเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนได้ สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก ที่ได้เริ่มต้นมาจากการดำเนินการโครงการนำร่องร่วมกันของหน่วยงานในกระทรวง อว.
และบริษัทเอกชนชั้นนำ ได้แก่ บริษัท เบต้า เอ็นเนอร์ยี่ โซลูชั่น จำกัด บริษัท จีพี มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ไอ-มอเตอร์แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด บริษัท กริดวิซ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ยูเนี่ยนนิฟโก้ จำกัด
จนนำมาสู่การขยายผลเป็นภาคีเครือข่ายระดับประเทศ และได้แสดงความเชื่อมั่นว่าด้วยจากความร่วมมือดังกล่าว จะผลักดันให้ประเทศ ก้าวไปสู่ความยั่งยืนทางด้านเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนคนไทย
นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งมีบทบาทหลักในรัฐบาลเพื่อขับเคลื่อนภารกิจสำคัญด้านอุตสาหกรรมแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ
โดยกลไกของหน่วยงานในกระทรวงฯ อาทิ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และองค์กรอิสระภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน
ส่วนสถาบันยานยนต์ดำเนินโครงการเพิ่มผลิตภาพ เน้นการพัฒนาระบบรับรองความสามารถบุคลากรแบบต่อเนื่อง เพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต
ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล ประธานภาคีเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนได้สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก กล่าวว่า การจัดตั้งภาคี ที่ได้ริเริ่มมาจากความต้องการลดข้อจำกัดในการเปลี่ยนผ่านมอเตอร์ไซค์เครื่องยนต์สันดาปเป็นมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า จึงได้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในกระทรวง อว. และหน่วยงานภาคเอกชนทั้ง 9 หน่วยงาน
"โครงการนี้เสร็จสิ้นสำเร็จไปเมื่อต้นปีนี้ โดยหนึ่งในผลลัพธ์หลักที่ได้คือ ข้อกำหนดของคุณลักษณะมาตรฐานสำหรับแพ็กแบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยนได้สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า พร้อมต้นแบบทดสอบ ที่ผ่านการหารือร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกว่า 200 ราย"
นอกจากนี้มีเป้าหมายหลักในการลดข้อจำกัดของการใช้งานแบตเตอรี่ในประเทศไทย ครอบคลุมประเด็นด้านราคา ความปลอดภัย และคุณภาพ
ผ่านการพัฒนามาตรฐานกลางในด้านขนาด ระบบไฟฟ้า การเชื่อมต่อ และการสื่อสาร ให้เกิดตลาดและการพึ่งพาในประเทศภายในระยะเวลา 3 ปี เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยสู่มาตรฐานสากล
"มุ่งหวังว่าภาคีที่ก่อตั้งขึ้นจะก่อให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตและให้บริการยานยนต์สมัยใหม่ที่มีมาตรฐาน เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรม และสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศไทยต่อไป"