สนข.เร่งเปลี่ยนรถเมล์อีวี ดึง GCF หนุนลงทุน 1.8 หมื่นล้าน

31 ธ.ค. 2567 | 22:45 น.

คมนาคม เร่งขับเคลื่อน Net Zero ดันเปลี่ยนรถโดยสารประจำทางระหว่างเมืองเป็นอีวี รวม 2,801 คัน พร้อมจัดตั้งสถานีชาร์จ 350 แห่ง ดึงกองทุน GCF สนับสนุนโครงการมูลค่ารวม 1,85 หมื่นล้าน ทยอยเปลี่ยนในระยะ 5 ปี หวังลดคาร์บอน 2.67 แสนตัน

KEY

POINTS

  • คมนาคม เร่งขับเคลื่อน Net Zero ดันเปลี่ยนรถโดยสารประจำทางระหว่างเมืองเป็นอีวี รวม 2,801 คัน พร้อมจัดตั้งสถานีชาร์จ 350 แห่ง 
  • ดึงกองทุน GCF สนับสนุนโครงการมูลค่ารวม 1,85 หมื่นล้าน ทยอยเปลี่ยนในระยะ 5 ปี หวังลดคาร์บอน 2.67 แสนตัน 
  • บขส.รุกคืบจัดประมูลหารถเช่าอีวี 54 คัน มูลค่า 300 ล้านบาท 
     

จากนโยบายรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ที่ประกาศให้ไทยขับเคลื่อนนโยบายและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050)

และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) ภายในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) ภายในปี พ.ศ. 2608 (ค.ศ. 2065) รวมทั้งบรรลุเป้าหมายการพัฒนาการคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืนนั้น

ที่ผ่านมาสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ผู้บุกเบิกโครงการพัฒนาระบบรถโดยสารประจำทางระหว่างเมืองคาร์บอนต่ำ พร้อมโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย (Low-carbon intercity bus system with climate-proof infrastructure in Thailand)

ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการในการแก้ไขปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศดังกล่าวให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถบรรลุเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution: NDC) ได้อย่างเป็นรูปธรรม ได้มีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

เปลี่ยนรถเมล์อีวีระหว่างเมือง

นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กระทรวงคมนาคมได้จัดทำแนวคิดโครงการพัฒนาระบบรถโดยสารประจำทางระหว่างเมืองคาร์บอนต่ำ โดยมอบให้บริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.) เป็นผู้ดำเนินการจัดหารถโดยสารระหว่างเมืองเป็นรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า จำนวน 381 คัน

โดยในช่วงแรกจะนำร่องจัดหารถโดยสารดังกล่าว จำนวน 54 คันก่อน ซึ่งบขส.จะต้องหาแหล่งเงินทุนเพื่อเช่ารถต่อไป สำหรับการเปลี่ยนรถโดยสารระหว่างเมืองเป็นรถโดยสารไฟฟ้า (EV) ของบขส.ประกอบด้วย

รถโดยสารระหว่างเมืองจำนวนไม่เกิน 381 คัน แบ่งเป็น รถมินิบัส 60 คัน และรถโดยสาร ขนาด 12 เมตร 321 คัน และรถตู้ 2,099 คัน ที่ดำเนินการในเส้นทางระหว่างเมือง 219 เส้นทาง

พร้อมติดตั้งสถานีชาร์จประจุไฟฟ้า (Charging Station) จำนวน 350 แห่ง เพื่อครอบคลุมและเพียงพอกับความต้องการใช้งานของรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า (EV) ระหว่างเมือง

ดึงกองทุน GCF ร่วมสนับสนุนโครงการ

ขณะที่การเปลี่ยนรถโดยสารเครื่องยนต์สันดาปภายในเป็นรถโดยสารไฟฟ้าสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 267,317.50 ตันต่อปี มีระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี

ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือที่จะขอรับเงินทุนสนับสนุนจากจากกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund: GCF) และหน่วยงานต่างๆ ร่วมสนับสนุน รวมงบประมาณดำเนินงาน 18,570 ล้านบาท

รวมทั้งสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ผลิตรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า (EV) และผู้ผลิตแบตเตอรี่เพิ่มเติมจากมาตรการของภาครัฐที่ให้การสนับสนุน

นายปัญญา กล่าวต่อว่า ปัจจุบันทางกระทรวงคมนาคมยังไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณส่วนนี้มาดำเนินโครงการฯ เนื่องจากเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับภาครัฐเป็นผู้พิจารณา โดยภายใต้กรอบวงเงิน 18,570 ล้านบาท เป็นกรอบวงเงินโดยรวมของทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการร่วมกัน เช่น กระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม ฯลฯ

บขส.นำร่องประมูลจัดหารถอีวีเช่า

ล่าสุดบริษัทขนส่ง จำกัด หรือ บขส. 1 ในหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้เดินหน้าโครงการดังกล่าวนั้น

นายอรรถวิท รักจำรูญ กรรมการฯ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส. กล่าวว่า ที่ผ่านมาบขส.ได้ออกประกาศประกวดราคาในรูปแบบจัดซื้อจัดจ้างอิเล็กทรอนิกส์ (E-Bidding) โดยจ้างเอกชนจัดหารถโดยสารพลังงานไฟฟ้า จำนวน 54 คัน วงเงินประมาณ 300 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการเช่า 5 ปี

พบว่า ไม่มีเอกชนรายใดให้ความสนใจร่วมประมูล เนื่องจากในปัจจุบันผู้ประกอบการส่วนใหญ่มองว่าการให้บริการในรูปแบบจ้างเช่ารถโดยสารพลังงานไฟฟ้ามีน้อยรายในประเทศ หากเปิดให้เช่ารถโดยสารพลังงานไฟฟ้าอาจไม่คุ้มต่อต้นทุนเมื่อเทียบกับการซื้อ-ขายรถโดยสารพลังงานรถไฟฟ้า

นายอรรถวิท กล่าวต่อว่า ตามแผนบขส.ยังคงดำเนินการเตรียมประกาศประกวดราคาการจัดซื้อจัดจ้างในรูปแบบการคัดเลือกเพื่อเชิญชวนให้เอกชนผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนเข้ามาร่วมประมูลโครงการฯดังกล่าว

หากยังไม่มีผู้สนใจร่วมประมูล บขส.จะประกาศประกวดราคาการจัดซื้อจัดจ้างในรูปแบบวิธีเฉพาะเจาะจงด้วยเช่นกัน ภายในเดือนนี้

ขณะเดียวกันหากได้ตัวเอกชนผู้ชนะการประมูล หลังจากนั้นบขส.จะเชิญเอกชนผู้ชนะการประมูลทำสัญญาร่วมกันเพื่อเตรียมแผนส่งมอบรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า จำนวน 54 คัน โดยใช้ระยะเวลา 6 เดือน หรือภายในกลางเดือนมิถุนายน 2568 เพื่อบรรจุในเส้นทางให้บริการต่อไป

เปิดให้บริการปลายปี 2568

สำหรับแผนการจัดหารรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า จำนวน 54 คัน จะดำเนินการเปิดให้บริการในเส้นทางวิ่งที่มีระยะทางไม่เกิน 250 กิโลเมตร (กม.) เช่น เส้นทางกรุงเทพฯ-พัทยา ,เส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน ,เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา เส้นทางกรุงเทพฯ-สระบุรี ฯลฯ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปลายปี 2568
 
นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาการเข้าถึงสถานีขนส่งผู้โดยสาร และบูรณาการการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ การปรับปรุงสภาพแวดล้อมในพื้นที่สถานีขนส่งผู้โดยสารและเพิ่มการเชื่อมต่อให้ครอบคลุม เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการ ลดการพึ่งพายานพาหนะส่วนบุคคล และส่งเสริมทางเลือกของระบบขนส่งสาธารณะที่ยั่งยืนแบบปล่อยคาร์บอนต่ำ

สนข.เร่งเปลี่ยนรถเมล์อีวี ดึง GCF หนุนลงทุน 1.8 หมื่นล้าน

อย่างไรก็ตาม ยังมีการบริหารจัดการแบตเตอรี่ที่ใช้แล้วจากรถโดยสารไฟฟ้าระหว่างเมืองให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสม และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการเสริมสร้างทักษะและขีดความสามารถให้กับบุคลากรผู้ปฏิบัติงานในทุกระดับและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ

การจัดฝึกอบรม การถ่ายทอดองค์ความรู้ การพัฒนาทักษะในการดูแลรักษาและซ่อมบำรุงทั้งในส่วนของรถโดยสารไฟฟ้าและโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง การจัดการเหตุฉุกเฉิน และการรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับประโยชน์รถโดยสารไฟฟ้า