ส่องยอดขายรถ 5 เดือนแรกปี 67 เช็คเลยยี่ห้อไหนขายดีสุด 10 อันดับแรก

27 มิ.ย. 2567 | 19:12 น.

เปิดยอดขายรถยนต์ 5 เดือนแรกปี 2567 เช็คเลยแบรนด์ไหนยี่ห้อใดขายดีสุด 10 อันดับแรก พร้อมเจาะลึกอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยครึ่งปีหลัง แนวโน้มจะไปในทิศทางใด

ภาพรวมตลาดรถยนต์ในไทยยังคงร่วง ดังจะเห็นจากยอดขายตั้งแต่มกราคม -พฤษภาคม 2567 ที่ทำได้  260,365 คัน ลดลง 23.8% โดยในเซกเมนต์ที่ตัวเลขการขายหดตัวลงอย่างรุนแรงคือ รถเพื่อการพาณิชย์ อย่าง พวกรถปิกอัพ พีพีวี ที่มียอดขาย 5 เดือนแรกของปีอยู่ที่  91,765 คัน ลดลง 41% อย่างไรก็ตามในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า xEV ยังคงมีอัตราการขายที่เติบโต 

 

เปิด 10 ยี่ห้อรถยนต์ที่ขายดีสุด 5 เดือนแรก(ม.ค.-พ.ค.)ปี 67  

 

ยอดขายรถยนต์ตั้งแต่เดือน มกราคม - พฤษภาคม 2567 แบ่งออกเป็นเซกเมนต์ต่างๆ

ตลาดรถยนต์รวม ปริมาณการขาย 260,365 คัน ลดลง 23.8%                            

  • อันดับ1 โตโยต้า​ 97,736 คัน​ ลดลง​  15.7%​ ส่วนแบ่งตลาด 37.5%
  • อันดับ 2 อีซูซุ​ ​39,183 คัน​ ลดลง 46.9% ส่วนแบ่งตลาด 15%
  • อันดับ 3 ฮอนด้า ​37,374 คัน​ ลดลง ​4.3%​ ​ส่วนแบ่งตลาด 14.4%
     

ตลาดรถยนต์นั่ง ปริมาณการขาย 101,589 คัน ลดลง 17.9%                                 

  • อันดับ 1 โตโยต้า​ 27,892 คัน​ ลดลง​ 36.1%​​ ส่วนแบ่งตลาด 27.5%
  • อันดับ 2 ฮอนด้า ​21,250 คัน​ ลดลง 18.2%​​ ส่วนแบ่งตลาด 20.9%
  • อันดับ 3 มิตซูบิชิ​ 8,191 คัน​ ลดลง 0.4%​​ ส่วนแบ่งตลาด 8.1%

 
ตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ ปริมาณการขาย158,776 คัน ลดลง 27.1%                     

  • ​อันดับ 1 โตโยต้า​ 69,844 คัน​ ลดลง 3.5%​​ ส่วนแบ่งตลาด ​44%
  • อันดับ 2 อีซูซุ​​ 39,183 คัน​ ลดลง 46.9%​​ ส่วนแบ่งตลาด ​24.7%
  • ​อันดับ 3 ฮอนด้า​ 16,124 คัน ​เพิ่มขึ้น 23.2%​​ ส่วนแบ่งตลาด 10.2%

ตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน (Pure Pick up และ รถกระบะดัดแปลง PPV*) ปริมาณการขาย 91,765 คัน ลดลง 41%

  • อันดับ 1 โตโยต้า​ 41,750 คัน​ ลดลง​ 30.1%​​ ส่วนแบ่งตลาด​ 45.5%
  • อันดับ 2 อีซูซุ​​ 34,445 คัน​ ลดลง​ 49% ​​ส่วนแบ่งตลาด​ 37.5%
  • อันดับ 3 ฟอร์ด​ 9,645 คัน​ ลดลง​ 42.9%​​ ส่วนแบ่งตลาด​ 10.5%

​​*ปริมาณการขายรถกระบะดัดแปลง (ในตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน) 16,255 คัน 
โตโยต้า 5,999 คัน ,อีซูซุ 5,110 คัน ,ฟอร์ด3,694 คัน ,มิตซูบิชิ 1,255 คัน , นิสสัน 197 คัน

ตลาดรถกระบะ Pure Pick up ปริมาณการขาย 75,510 คัน ลดลง 40.8% 

  • อันดับ 1 โตโยต้า​ 35,751 คัน​ ลดลง 27.8%​​ ส่วนแบ่งตลาด 47.3%
  • อันดับ 2 อีซูซุ​​ 29,335 คัน​ ลดลง 49.1%​​ ส่วนแบ่งตลาด 38.8%
  • ​อันดับ 3 ฟอร์ด​ 5,951 คัน​ ลดลง49.6%​​ ส่วนแบ่งตลาด 7.9%     

ยานยนต์ไฟฟ้ายังคงมียอดขายเติบโต สวนทางตลาดรถยนต์รวมที่หดตัวลง


โตโยต้า คาดตลาดรถมิ.ย.67 ยังคงชะลอตัว

นายศุภกร รัตนวราหะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มของ​​ตลาดรถยนต์ในเดือนมิถุนายน  2567 คาดว่าจะดีขึ้นจากเดือนพฤษภาคม อย่างไรก็ตามมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากสภาวะเศรษฐกิจในภาพรวม รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังคงฟื้นตัวช้าและอัตราการปฏิเสธสินเชื่อยังคงตัวในระดับสูง

 

โตโยต้า คาดตลาดรถมิ.ย.67 ยังคงชะลอตัว

ส.อ.ท.เผยแบงก์คุมเข้มสินเชื่อ กระทบการขายรถใหม่

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์  ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้ยอดขายรถใหม่ในประเทศหดตัวลงนั้น เป็นเพราะสถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ เนื่องจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง รวมทั้งเศรษฐกิจในประเทศขยายตัวในอัตราต่ำจากการล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 

 

จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้การลงทุนของภาครัฐลดลง โดยดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงติดต่อกันมากกว่าสิบเดือน โรงงานหลายแห่งลดเวลาทำงานลงและมีการเลิกจ้างพนักงานหลายหมื่นคน ทำให้ขาดรายได้ ประชาชนจึงระมัดระวังการใช้จ่ายเพราะความไม่แน่นอนในเรื่องรายได้รวมทั้งค่าอาหาร ค่าเดินทางและพลังงานมีราคาสูงขึ้น 

 

"สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่ออย่างมาก เพราะกังวลเรื่องหนี้ครัวเรือน อย่างไรก็ตามหากในช่วงครึ่งปีหลังรัฐฯมีการอนุมัติเงินงบประมาณรายจ่ายต่างๆออกมา รวมไปถึงแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็คาดว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยก็น่าจะดีขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็คาดหวังว่าต้นทุนราคาสินค้าต่างๆจะไม่ขึ้นตามไปด้วย ส่วนเศรษฐกิจจะขยายตัวถึง 3 % หรือไม่ ยังน่ากังวลถ้ายอดผลิตรถยนต์และขายรถยนต์ และขายอสังหาริมทรัพย์ยังติดลบ เพราะทั้งสองอุตสาหกรรมมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องและแรงงานมากซึ่งจะส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศมาก"

ส.อ.ท.เผยแบงก์คุมเข้มสินเชื่อ กระทบการขายรถใหม่