นายชวลิต จันทรรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีมคอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จํากัด (มหาชน) หรือ ทีมกรุ๊ป ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำ เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจถึงสถานการณ์น้ำปัจจุบัน ว่า ล่าสุดสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยายังคงน่าเป็นห่วง โดยประเมินว่า ปีนี้ปริมาณน้ำ จะสูงสุดคิดเป็น 2 ใน 3 เมื่อเทียบกับปี 2554
ทั้งนี้จากการติดตามสถานการณ์หลายพื้นที่ยังคงมีปริมาณน้ำสูง เนื่องจากเกิดพายุฝนฟ้าคะนองอย่างต่อเนื่อง ทั้งในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคอีสาน โดยเฉพาะในภาคเหนือนั้น ตั้งแต่วันที่ 29 – 30 กันยายน ที่ผ่านมา ทั้งในจังหวัดเชียงใหม่ แพร่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ และพิจิตร
“ปริมาณน้ำในพื้นที่ภาคเหนือตอนนี้เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในเขื่อนภูมิพล ทำให้ต้องระบายออกมามาก และทำให้ปริมาณน้ำเหนือไหลเข้ามาเรื่อย ๆ มาสู่เขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งมีปริมาณน้ำที่ถูกระบายออกมา 3,000 ลบ.ม.ต่อวินาที ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านกทม. เริ่มเห็นว่าเอ่อขึ้นมาในช่วงวันที่ 7-10 ต.ค.นี้” นายชวลิต ระบุ
นายชวลิต ประเมินว่า มวลน้ำเหนือก้อนแรกจะไหลเข้ามาสู่พื้นที่ กทม. ตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค.เป็นต้นไป และในช่วงวันที่ 7-10 ต.ค.นี้จะเห็นน้ำเริ่มเอ่อท่วมในพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
จากนั้นช่วงวันที่ 8-10 ต.ค. จะหนัก เพราะจะมีปริมาณน้ำจาก 3 แหล่งมาเจอกัน ทั้งน้ำเหนือเอ่อ น้ำทะเลหนุนสูง และน้ำที่เกิดจากฝนตก
ทั้งนี้ประเมินว่า ในพื้นที่กทม.จะมีปริมาณน้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นสูงสุดในช่วงวันที่ 14-16 ต.ค.นี้ และปริมาณน้ำที่ยังมีมากตอนนี้จะยังไม่คลี่คลายลงเร็ว เพราะต้องใช้เวลานานถึงเดือนพ.ย. ปริมาณน้ำเหนือจะค่อย ๆ ไหลลงสู่อ่าวไทย และในพื้นที่กทม.ปริมาณน้ำจะค่อย ๆ ลดลง จนพ้นจากภาวะวิกฤต
อย่างไรก็ตามในการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ในพื้นที่ริมฝั่งเจ้าพระยาจำเป็นต้องเร่งเสริมแนวคันกั้นน้ำให้แข็งแรง หรือเสริมกระสอบทรายในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมมากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลเข้ามาท่วมพื้นที่สำคัญของกทม. และเขตปริมณฑล
ขณะพื้นที่ลุ่มต่ำ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง และจังหวัดใกล้เคียง เชื่อว่าจะเกิดน้ำท่วมขังนานกว่าปี 2554 เนื่องจากหลายพื้นที่มีสิ่งกีดขางที่ขวางทางน้ำ ทำให้การระบายน้ำทำได้ลำบากมากขึ้น โดยจากนี้หน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่จำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับสถานการณ์