กฎหมายแรงงาน บังคับนายจ้างต้องขึ้น 'เงินเดือน' ทุกปีหรือไม่ ?

01 พ.ย. 2565 | 02:41 น.
อัปเดตล่าสุด :01 พ.ย. 2565 | 09:45 น.

เปิดกฎหมายแรงงาน 'ไขข้อข้องใจ การปรับขึ้นเงินเดือนประจำปี' หากนายจ้าง ไม่ขึ้นเงินเดือนให้เรา ผิดข้อบังคับหรือไม่? และการนับเวลางานเริ่มนับอย่างไร?

1 พ.ย.2565 -  การปรับขึ้นเงินเดือน นับเป็นเรื่องที่นายจ้าง ต้องพิจารณาให้พนักงาน หรือ ลูกจ้างประจำทุกปี ผ่านการคำนวณอัตราเงินเดือนให้ เป็นธรรม ถูกต้อง และเป็นไปตามคำแนะนำของกระทรวงแรงงาน อย่างไรก็ตาม ก็มีข้อข้องใจอยู่ไม่นาน ว่า บริษัทจำเป็นต้องขึ้นเงินเดือนให้เราทุกปีหรือไม่ 

 

ล่าสุด เพจกฎหมายแรงงาน ได้โพสต์ชี้แจงและให้ความรู้แก่ลูกจ้าง เหล่าพนักงานบริษัทในเรื่องดังกล่าว โดยเทียบเคียง เหตุการณ์ร้องเรียน ซึ่งระบุว่า ...บริษัทไม่ขึ้นเงินเดือนมา 2 ปีแล้ว โดยบริษัทอ้างว่า KPI เราต่ำ ดูเหมือนบริษัทจะกดดันให้เราลาออกไปเองเพื่อไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ซึ่งทำงานมา 10 ปีแล้ว 
 

ซึ่งแอดมินเพจ ดร.ตรีเนตร สาระพงษ์ เจ้าของหนังสือกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ได้อธิบายข้อข้องใจดังกล่าว ดังนี้ 

กฎหมายแรงงาน บังคับนายจ้างต้องขึ้น \'เงินเดือน\' ทุกปีหรือไม่ ?

บริษัทต้องขึ้นเงินเดือนให้ทุกปีหรือไม่ ? 

  • คำตอบ มีทั้งต้องขึ้นเงินเดือนทุกปีและไม่ต้องขึ้นเงินเดือนทุกปี กล่าวคือ เรื่องการขึ้นเงินเดือนไม่มีกฎหมายบังคับว่านายจ้างจะต้องขึ้นเงินเดือนทุกปี เพียงแต่การจ่ายค่าจ้างต้องไม่ตำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ดังนั้น การที่นายจ้างไม่ขึ้นเงินเดือนจึงไม่ผิดกฎหมาย
  • แต่นายจ้างก็อาจต้องขึ้นเงินเดือนทุกปีได้ หากนายจ้างกับลูกจ้างมี "ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง" ว่านายจ้างจะต้องขึ้นเงินเดือนไม่น้อยกว่าปีละกี่บาท หรือขึ้นค่าจ้างจากเปอร์เซ็นต์ของกำไร เช่นนี้ นายจ้างก็ต้องผูกพันขึ้นเงินเดือนให้แก่ลูกจ้าง
  • กรณีรัฐวิสาหกิจ สภาพการจ้างที่เกี่ยวกับเงินก็อาจต้องขออนุมัติจาก ครม ก่อน เว้นแต่รัฐวิสาหกิจที่ได้รับการยกเว้น
     

บริษัทจะวางแผนกดดันให้ลาออกเองหรือไม่

การเลิกจ้างนอกจากเลิกจ้างโดยชัดแจ้งแล้ว ยังมีการ "เลิกจ้างโดยปริยาย" ซึ่งต้องพิจารณาพฤติการณ์ของนายจ้างว่ามีพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าไม่ต้องการให้ลูกจ้างทำงานต่อไป เช่น นายจ้างแจ้งว่า "ให้ไปรองานที่บ้าน" ซึ่งเป็นการให้รอโดยไม่มีกำหนด ถือว่าเลิกจ้างแล้ว (ฎีกา ๗๓๙๓/๒๕๖๒) หรือมีพฤติการณ์เรียกรถประจำตำแหน่งคืน ถือว่าเลิกจ้างโดยปริยาย (ฎีกา ๒๕๗๕/๒๕๔๘) ให้หยุดงานเพราะอายุครบ ๖๐ ปี (ฎีกา๓๐๓๘/๒๕๓๓) หรือนายจ้างแจ้งกับ รปภ. ว่าถ้าลูกจ้างคนนี้มาไม่ให้เข้ามาทำงาน หรือบอกกับพนักงานทุกคนว่าอย่าคุยกับลูกจ้างคนนี้ หรือลดวันทำงานลงเหลือวันเดียว หรือ ๒ วันแล้วจ่ายค่าจ้างเฉพาะวันที่มาทำงาน เป็นต้น

จากคำถามการไม่ขึ้นค่าจ้างที่นายจ้างอ้าง คือ KPI หรือตัวชี้วัดไม่ดีจึงไม่ขึ้นเงินเดือนยังไม่ถือว่าเป็นการกดดันในการทำงาน และถือเป็นการใช้เครื่องมือปกติอันเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป

 

การนับเวลาในการทำงาน ต้องนับเวลาในการทดลองงานหรือไม่ 

คำตอบ คือ ต้องนับระยะเวลาในการทดลองงานเข้าเป็นเวลาทำงานด้วย นอกจากนั้นวันหยุด วันลา ก็นับรวมเป็นเวลาทำงานด้วย เว้นแต่ระยะเวลาที่ลูกจ้างละทิ้งหน้าที่การงาน หรือระยะเวลาที่ "ภารัฐสั่ง" ให้หยุดช่วงโควิด ๑๙ จะไม่นับรวมเป็นเวลาทำงาน