เรือล่ม รู้จักวิธีเอาตัวรอด เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน

19 ธ.ค. 2565 | 06:17 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ธ.ค. 2565 | 13:34 น.

เรือล่ม เรืออับปาง อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้เสมอ ในเวลาอันรวดเร็ว รู้จักวิธีเอาตัวรอด เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน

เรือล่ม เรืออับปาง เมื่อค่ำคืนของวันที่ 18 ธ.ค. 65 ถึง 3 ลำ คือ เรือหลวงสุโขทัยอับปางลงบริเวณชายฝั่งที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ,  เรือสินค้าขนาดใหญ่ อับปางลงบริเวณชายฝั่ง อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี และเหตุเรือบรรทุกน้ำมันเกยตื้นบริเวณชายหาดแหลมสมิหลา จ.สงขลา เป็นอีกครั้ง ที่สะท้อนว่า อุบัติเหตุ เรือล่ม เรืออับปางนั้นสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ  ฉะนั้นการฝึกฝน และรู้จักวิธีเอาตัวรอดจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

 

เตรียมตัวก่อนลงเรือ

  1. สังเกตโป๊ะที่ใช้เพื่อลงเรือ ว่ามีความแข็งแรงหรือไม่ จำนวนคนที่รองรับได้ ไม่ควรลงไปเบียดเสียดบนโป๊ะ
  2. รอให้เรือเทียบท่าจอดสนิทดีก่อน จึงลงเรือ
  3. เมื่อลงเรือแล้ว ควรนั่งที่นั่ง ไม่ควรยืนหรือเดินไปมาบนเรือ และไม่นั่ง หรือยืน ในพื้นที่ ที่ไม่ได้จัดไว้เพื่อการโดยสาร เช่นหัวเรือ ท้ายเรือ หรือบนหลังคา
  4. ขณะโดยสารให้ มองหาตำแหน่งอุปกรณ์ช่วยเหลือความปลอดภัยเช่น ห่วงยาง เสื้อชูชีพ หรือสวมเสื้อชูชีพขณะโดยสาร
  5. ควรฝึกการว่ายน้ำเอาไว้ให้พอเอาตัวรอดได้

วิธีเอาตัวรอด จากเรือล่ม เรืออับปาง

 

  1. ตั้งสติ ถือเป็นสิ่งสำคัญมาก เนื่องจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเหล่านี้ มักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้ประสบเหตุมักไม่ทันตั้งตัว ฉะนั้น การตั้งสติได้เร็วที่สุด จะทำให้หาทางเอาตัวรอดได้
  2. สวมเสื้อชูชีพ หรือ รีบหยิบเสื้อชูชีพ หรือห่วงยาง ซึ่งหากสวมเสื้อชูชีพไม่ทัน สามารถกอดไว้ได้
  3. กระโดดออกจากเรือ ให้ไกลจากตัวเรือที่สุด ห้ามกระโดดด้านหลังเรือ เนื่องจากอาจถูกกระแสน้ำดูดให้เข้าไปใต้ท้องเรือ และโดนใบพัดเรือได้
  4. ลอยตัวในน้ำ ในกรณีที่ไม่ได้สวมเสื้อชูชีพ/เสื้อพยุงตัว โดยหากมองหาสิ่งยึดเกาะที่ลอยน้ำอื่นๆไม่ได้ ให้ลอยตัวในน้ำ ด้วยท่าเหล่านี้
  • ท่านอนหงาย โดยขาแขนเหยียดตรงเหมือนนอนอยู่บนที่นอน เงยหน้ายกคางเพื่อใช้ปากหายใจ
  • ท่าลูกหมาตกน้ำ แขนและขากวักน้ำเข้าหาตัวเองโดยสลับขาซ้ายขวา และย่อเหยียดเข่าซ้ายขวาสลับกับทิศทางของแขนและมือ 
  • ท่าปลาดาว โดย กางแขน และขาออก โดยให้ใบหน้าหงายขนานไปกับผิวน้ำ และอยู่นิ่งๆ ตัวจะลอยขึ้นผิวน้ำได้
  1. ประคองตัว หลบหลีกสิ่งกีดขวาง  เมื่อลอยตัวได้แล้ว ต้องพยายามหลบเลี่ยงสิ่งกีดขวาง พยายามไม่ลอยเข้าไปในกอพืชอย่าง กลุ่มผักตบชวา เพราะมีโอกาสที่รากและกิ่งของพืชจะพันขาเราได้ เมื่อเจอทางที่โล่งให้นอนหงาย ว่ายท่ากรรเชียง มุ่งหน้าไปในทิศทางที่คาดว่าใกล้ฝั่งมากที่สุด หากมองไม่เห็นฝั่ง ให้ไปในทางที่โล่ง สลับกับท่าปลาดาวหากเมื่อยหรือเหนื่อยล้าเกินไป พร้อมสังเกตุรอบๆตัวอยู่ตลอดเวลา
  2. รอความช่วยเหลือ โดยมองหาเรือลำอื่นๆ และตะโกนขอความช่วยเหลือเมื่อเห็นความน่าจะเป็นว่ามีเรืออยู่ใกล้ๆ หากมีนกหวีดที่เสื้อชูชีพ ควรเป่านกหวีดให้ส่งเสียงดังออกมา โดยเป่าให้เสียงผิดปกติไปจากเดิม คนจะได้สนใจ