ทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตโลกร้อน ซึ่งบริบทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และปัญหาที่จะเกิดขึ้นจะถูกนำมาเป็นเงื่อนไขทางเศรษฐกิจมากขึ้น โดยการประชุม COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ผู้นำหลายประเทศให้คำมั่นจะยุติการตัดไม้ทำลายป่า และฟื้นฟูป่าไม้ภายในปี 2030
ประเทศไทย ข้อมูลระบุว่าปี 2559 ปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 354 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ขณะที่ป่าไม้และการใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมสามารถดูดกลับก๊าซเรือนกระจกได้ราว 91 ล้านตันคาร์บอนฯ ทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิของไทยอยู่ที่ 263 ล้านตันคาร์บอนฯ
ขณะที่การการจัดลำดับขององค์กร Climate Watch ในปี 2561 ไทยเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับที่ 20 ของโลก คิดเป็นปริมาณ 0.8% ของก๊าซเรือนกระจกที่มีการปล่อยทั่วโลก
ในมิติเศรษฐกิจ ป่าไม้คือปัจจัยของการหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผืนป่าสามารถดูดซับมลพิษได้ราวกับฟองน้ำ สามารถจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศด้วยการสังเคราะห์แสง เก็บไว้ในลำต้นและในผืนดิน เป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่จะช่วยต่อสู้กับภาวะโลกร้อน เพราะเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศโลก ราว 1 ใน 3 ของปริมาณที่ประเทศต่าง ๆ ในโลกปล่อยออกมาในแต่ละปี
ข้อมูลพื้นที่ประเทศไทยในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ที่ใช้สำหรับการคำนวณร้อยละพื้นที่ป่าไม้รายจังหวัด เท่ากับ 517,645.92 ตารางกิโลเมตร หรือ 323,528,699.65 ไร่ อ้างอิงจากสำนักบริหารการปกครอง ท้องที่ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี พ.ศ. 2563
ข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้ ของประเทศไทย ปี พ. ศ. 2564 ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ ปี พ.ศ. 2564 จำนวน 102,212,434.37 ไร่ หรือร้อยละ 31.59 ของพื้นที่ประเทศ
ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ประกาศนโยบายป่าไม้แห่งชาติเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ทั้งป่าเพื่อการอนุรักษ์และเพื่อเศรษฐกิจไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศไทย เเบ่งเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 25% และพื้นที่ป่าเศรษฐกิจและป่าชุมชน 15% โดยพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 25% หรือ 81 ล้านไร่ ส่วนที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชดูแล
ข้อมูลจาก มูลนิธิสืบนาคะสเถียร ระบุว่า ปัจจุบันมีพื้นที่รับผิดชอบอยู่ประมาณ 73 ล้านไร่ ของพื้นที่ประเทศ และส่วนที่ยังขาดอีก 7.75 ล้านไร่ อยู่ในกระบวนการรับมอบพื้นที่จากกรมป่าไม้ที่มีอยู่ประมาณ 7.7 ล้านไร่ ซึ่งจะได้ครบตามเป้า 25% ของพื้นที่ประเทศภายในปี 2569 ส่วนป่าเศรษฐกิจและป่าชุมชน 15% หรือ 48 ล้านไร่ อยู่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้
หากจะทำได้ตามเป้า 40% อาจจะต้องมุ่งไปที่ป่าเศรษฐกิจและป่าชุมชน ปลดล็อกกฎหมายเพื่อให้คนหันมาสนใจในการปลูกป่าเศรษฐกิจมากขึ้น