ห่วงปมตั้ง"บิ๊กต่อ" เป็น "ผบ.ตร" ชัยชนะบนซากปรักหักพัง

28 ก.ย. 2566 | 09:02 น.
อัพเดตล่าสุด :28 ก.ย. 2566 | 10:54 น.

ปมตั้ง "บิ๊กต่อ" พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผงาดนั่ง ผบ.ตร นักวิชาการตำรวจชี้ นายกฯต้องตอบสังคมด้วยความระมัดระวัง จับตาฟ้องร้อง ห่วงชัยชนะบนซากปรักหักพัง

ท้ายที่สุดการประชุม คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 ก็ได้มีการเคาะชื่อ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร) คนที่ 14 เป็น "บิ๊กต่อ" พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ท่ามกลางสถานการณ์ฝุ่นตลบด้วยมติ 9 -1-2 คือ 9 เสียง ก.ตร.เห็นชอบตามที่นายกฯ เสนอ มี 1 เสียง ของ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ลงมติไม่เห็นชอบ และงดออกเสียง 2 คน คือ นายประทิต สันติประภพ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ และนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล ว่าที่ ผบ.ตร.

ฐานเศรษฐกิจ ได้สัมภาษณ์พิเศษ ผศ. ร.ต.อ. ดร. วิเชียร ตันศิริคงคล คณบดีคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในการแต่งตั้ง ผบ.ตร.ในครั้งนี้ว่า  

"การแต่งตั้ง พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุวิมล ซึ่งมีอาวุโสเป็นลำดับ 4 ขึ้นมาดำรงตำแหน่งผบ.ตร.นั้น นายกรัฐมนตรีต้องตอบคำถามต่อสังคม ว่าใช้เหตุผลอะไรในการเสนอชื่อพล.ต.อ. ต่อศักดิ์ เพราะตามกฎหมายนายกฯเท่านั้นจะเป็นผู้เสนอชื่อ ซึ่งต้องมีความระมัดระวังในการตอบ เพราะคำตอบของท่านอาจถูกใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องร้องดำเนินคดีได้"

การแต่งตั้งผบ.ตร. ในครั้งนี้ยังถูกจับตามองว่าจะมีการร้องไปยังคณะกรรมการอุทธรณ์หรือไม่ และผู้ร้องยังสามารถร้องไปที่ศาลปกครองได้อีกด้วย ซึ่งหากมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นจะส่งผลต่อกระบวนการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง ตำแหน่ง ผบ.ตร.หรือไม่เป็นเรื่องต้องจับตาดูต่อไป 

ด้านตัวกฎหมาย ยังคงต้องมีการตีความตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในการเลือก ผบ.ตร. เป็นครั้งแรกในปีนี้นั้น มีข้อความที่ระบุว่าให้คำนึงถึงหลักอาวุโส และความสามารถ เป็นที่น่าสังเกตว่าใช้คำว่า"คำนึง"ไม่ใช่คำว่า"ต้อง" โดยมีความแตกต่างจากตำแหน่งอื่นที่กฎหมายระบุ ให้ดูจากความอาวุโส ดังนั้นจึงเป็นช่องให้ทำให้เกิดการตีความหลบเลี่ยงได้ 

อีกประการคือด้านความรู้ความสามารถ โดยเฉพาะประสบการณ์ ด้านงานสืบสวนสอบสวน ป้องกันปราบปราม เห็นได้ว่าคุณสมบัติข้อนี้ทั้ง 4 คนมีคุณสมบัติเหมือนกันทั้งหมด จึงต้องมาดูว่าท่านใดจะตอบสนองนโยบายตรงใจนายกฯ มากที่สุด เพราะคนที่ต้องเสนอชื่อคือนายกรัฐมนตรีเท่านั้น

การใช้ทั้งหลักอาวุโส และหลักความรู้ความสามารถร่วมกัน จึงเป็นการประนีประนอมกันระหว่างระบบ อุปถัมภ์และระบบคุณธรรมในระดับหนึ่ง เพราะหากใช้หลักอาวุโสอย่างเดียวอาจเกิดปัญหาไม่ตอบสนองนโยบายผู้บังคับบัญชา

ผศ. ร.ต.อ. ดร. วิเชียร ตันศิริคงคล คณบดีคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

ดังนั้นหากมีการฟ้องร้องกันหลังจากนี้ ยังเป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูต่อไปเนื่องจากต่างฝ่ายต่างมีข้อมูลข้อเท็จจริง โดยผู้ที่มีอาวุโสสูงสุดแต่ไม่ได้ถูกรับเลือกอาจมีคำถามถึงหลักอาวุโสได้ ในขณะที่นายกฯมีสิทธิ์โต้แย้ง ถึงหลักความเหมาะสม ซึ่งมักเป็นหลักที่ถูกอ้างถึงในทางการเมือง กับกรณี แต่งตั้งข้าราชการระดับสูง

ร.ต.อ.วิเชียร ได้อธิบายถึงเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ด้วยว่า ที่มาของการมีพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2565 ก็เพื่อให้เกิดการปกครองด้วยกฎหมายที่เป็นธรรม และเท่าเทียม ตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม โดยให้ความสำคัญเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย เป็นเรื่องสำคัญ

เนื่องจากปัญหาของตำรวจที่มีอยู่มากมายนั้นปัญหา แต่หลักๆก็คือ เรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย การบริหารงานบุคคล มักเกิดข้อครหาเรื่องการซื้อขายตำแหน่ง หรือให้คนไม่ดีไปทำงานพบปะประชาชน การนำคำว่าอาวุโสมาใช้ในการแต่งตั้งในที่นี้ หมายถึงผู้ที่มีความรู้ความสามารถ เงินเดือนเยอะกว่าคนอื่น ได้ตำแหน่งเร็วกว่าคนอื่น ครองยศเร็วกว่าคนอื่น ดังนั้นตัวชี้วัดนี้ จึงทำให้ผู้ที่มีอาวุโสสูงกว่าไม่ต้องใช้เงินทองในการวิ่งเต้นตำแหน่ง

ต่อคำถามถึงหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนถึงวันลงมติเลือกผบ.ตร. คนที่ 14 ว่าเป็นเหตุหรือผลของการเคาะชื่อผบ.ตร.นั้น ร.ต.อ.วิเชียร ให้ข้อสังเกตว่า ภาษาอังกฤษมีคำว่า ends กับ means หมายถึง ผลลัพธ์กับวิธีการ หากเอาผลลัพธ์มากำหนดวิธีการ ก็ดูจะเป็นการเมืองเกินไป

หากเป็นเช่นที่ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบ.ตร. กล่าวว่า มีขบวนการดิสเครดิตตนเองจริง ก็จะทำให้การขึ้นสู่ตำแหน่งผบ.ตร.ของพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ซึ่งในประวัติติศาสตร์การแต่งตั้งโยกย้าย ก็มักจะมีเรื่องเช่นนี้อยู่บ่อยครั้ง แต่ครั้งนี้ถือว่าหนักหน่อย เพราะมีการใช้อำนาจของหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คือการขอหมายค้นจากศาลยุติธรรมด้วย

ทั้งนี้หลังการแต่งตั้งโยกย้ายแล้วทุกฝ่ายควรต้องถอยหลังมาคนละก้าวแล้วฉุกคิด คำพูดของพลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ที่ว่าไม่อยากทุบหม้อข้าว คนในวงการตำรวจฟังแล้วเข้าใจได้ 

ดังนั้นคนที่ชนะไม่ควรจะชนะบนซากปรักหักพัง ไม่ควรเกิดการทำร้ายกันระหว่างคนที่สมหวัง และผิดหวัง เพราะจะทำให้การบริหารงานของสตช.มีปัญหา 

หนึ่งสิ่งที่เป็นธรรมเนียมของวงการตำรวจ ทหารในอดีต นั่นก็คือ ทันทีที่แต่งตั้งเสร็จ สถานการณ์จะสงบลงเกือบครึ่ง และทันทีที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งทุกอย่างจะต้องจบ ตำรวจ ทหารต้องมีระเบียบวินัย ในสังคมไทย เรื่องบางเรื่องนั้นเหลือเชื่อ เมื่อถึงเวลาจบก็จบลงดื้อๆ 

แต่หากจบแล้วจะกลายเป็นคลื่นใต้น้ำต่อไปหรือเปล่า หรือจะยอมพังกันไปทั้งระบบหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่ต้องจับตาดู แต่เชื่อว่าทุกฝ่ายควรต้องถอยออกมาฉุกคิดกันสักนิด เพราะองค์กรต้องมาก่อน และองค์กรอยู่ตลอดไป แต่ผู้ที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งใดๆก็เปรียบเหมือนจ๊อกกี้ ไม่มีใครเป็นเจ้าของสตช. เพราะสตช. เป็นของประชาชน