จากกรณีที่ "บก.ลายจุด" หรือ สมบัติ บุญงามอนงค์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงเรื่องราวของเพื่อนตนเอง คือ "ดร.เค็ง" หรือ นางสาวเค็ง อาจารย์ระดับปริญญาเอก นักเรียนทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(ชื่อขณะนั้น) ซึ่งในขณะที่กำลังศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ในประเทศอังกฤษ "ดร.เค็ง"ได้มีอาการป่วยด้วยโรคทางจิตเวช แต่ด้วยระบบการดูแลของมหาวิทยาลัยที่ดี ทำให้สามารถกลับมาศึกษาต่อจนจบปริญญาเอได้
แต่เมื่อ ดร.เค็ง ได้กลับมาทำงานเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยทางภาคเหนือแห่งหนึ่ง เพื่อเป็นใช้ทุน ปรากฏว่าหลังจากทำงานไปได้สักระยะอาการของ ดร.เค็ง ได้กลับมากำเริบ ทำให้ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ไม่สามารถสอนหนังสือได้ ทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยจึงได้ขอให้ลาออก
ซึ่งในขณะนั้น ดร.เค็งยังอยู่ในสภาวะเจ็บไข้ จึงเขียนข้อความลาออกทางอีเมล์ในขณะที่ยังไม่ครบเงื่อนไขการใช้ทุน เป็นเหตุให้มหาวิทยาลัยฟ้องเรียกเงินชดเชยทุน หลัก 10ล้านบาท
ด้าน นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กมธ.อว.) สภาผู้แทนราษฎร ได้เปิดเผยถึงการพิจารณาเรื่องดังกล่าวว่า กรรมธิการได้รับคำร้อง และได้บรรจุเข้าวาระพิจารณาในการประชุม กมธ.อว. ในวันที่ 14 ธันวาคม โดยจะเชิญผู้ร้อง และอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการฯ ด้วย พร้อมระบุว่า ตนเองให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และยืนยันว่าจะพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ รอบด้าน และเพื่อเป็นบรรทัดฐานสำหรับการขอทุน และการใช้ทุนของหน่วยงานรัฐ ต่อไป
ในงานเสวนาวิชาการ เรื่อง "ปัญหาทางกฎหมายของสัญญารับทุนรัฐบาล" จัดโดยศูนย์นิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 รศ.ดร.ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงเรื่องสถานะของสัญญารับทุนรัฐบาลว่า มีลักษณะเฉพาะมาก ๆ
สัญญารับทุนที่มีการกำหนดล่วงหน้า 2 ประการ ซึ่งมักจะมีปัญหา ประการหนึ่งคือ การกำหนดล่วงหน้าสำหรับนักศึกษา คือการให้ผู้รับทุนเซ็นสัญญาตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือชั้นปริญญาตรีล่วงหน้า ว่าจะต้องกลับมาทำงานนานเท่าใด ในสถานที่ไหน งานแบบใด
ประการสอง คือการกำหนดล่วงหน้าว่าจะต้องไปสำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาเฉพาะที่ถูกกำหนดในสัญญา จึงเห็นว่าข้อกำหนดทั้ง 2 ประการดังกล่าวเป็นความต้องการของภาครัฐ หรือหน่วยงานต้นสังกัดทุน เป็นการกำหนดอนาคตของคนล่วงหน้าโดยที่ไม่มีทางรู้เลยว่าในอีก 3 ปี 5 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร
เมื่อพิจารณา สัญญาดังกล่าวถือเป็นสัญญาที่มีความเสี่ยงเป็นอย่างมากที่ผู้รับทุนจะปฏิบัติตามไม่ได้โดยอาจเพราะด้วยเหตุผลส่วนตัวของผู้รับทุน เช่น เมื่อผู้รับทุนไปเรียนในสาขาดังกล่าวแล้วพบว่าตนไม่ถนัดหรือไม่สนใจ หรือมีความสนใจในสาขาอื่น ทำให้ตัวผู้รับทุนไม่มีกำลังใจที่จะเรียนต่อให้จบการศึกษา
นอกจากนี้ รศ.ดร.ต่อพงศ์ ยังมองว่าสัญญาที่มีการกำหนดล่วงหน้าทั้ง 2 ประการนั้น มีความไม่เป็นธรรมอยู่ในแง่ของการจำกัดความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในชีวิตของผู้รับทุนค่อนข้างมากหากเกิดปัญหาแล้วจะแก้อย่างไร
สัญญารับทุนของรัฐบาลนั้นมีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพ แต่มีเหตุผลจำเป็นให้ทำได้ เพราะเป็นเรื่องแผนพัฒนาบุคลากรของภาครัฐ โดยควรจะแบ่งออกเป็นกลุ่มที่ได้รับทุนเป็นผู้ที่เป็นข้าราชการของรัฐอยู่แล้ว และถูกผูกมัดว่าจะต้องกลับมาทำงานใช้ทุนในหน่วยงานที่กำหนด
กับอีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มนักศึกษาชั้นมัธยมหรือชั้นปริญญาตรีที่ โดยกลุ่มนี้จะต้องดูเป็นพิเศษว่าจะกำหนดกฎเกณฑ์อย่างไรเพื่อที่จะให้ผู้รับทุนสามารถเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเองได้ง่ายเพราะผู้ที่เซ็นสัญญารับทุนในลักษณะนี้นั้นยังเป็นเพียงแค่นักเรียนนักศึกษา ยังไม่เคยเข้าทำงานจึงยังไม่รู้ว่าชีวิตตัวเองจะเดินไปในลักษณะใด โดยเห็น
ว่าทุนที่จะให้กลุ่มบุคคลกลุ่มหลังนั้นควรจะเป็นทุนให้เปล่า
เมื่อสัญญารับทุนเป็นสัญญาทางปกครองวิธีแก้ปัญหาเมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงเช่นว่านี้ เช่น ผู้รับทุนต้องการเปลี่ยนสาขาที่เรียน หรือผู้รับทุนไม่สามารถที่จะกลับมาทำงานในหน่วยงานที่กำหนดไว้ในสัญญาได้
ระบบการให้ทุนควรจะกำหนดกฎเกณฑ์ที่สร้างความผ่อนคลายโอกาสที่2 ให้แก่ผู้รับทุน กล่าวคือกฎเกณฑ์ควรจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น
แม้ว่าหน่วยงานรัฐมีความจำเป็นต้องวางแผนพัฒนาบุคลากร ซึ่งส่งผลต่อประโยชน์ประเทศโดยตรง ซึ่งการส่งคนไปเรียน และกำหนดไว้ล่วงหน้าว่าเมื่อเรียนจบแล้วจะต้องกลับมาทำงานใช้ทุน ก็เป็นเรื่องที่ถือว่ามีความจำเป็นเพราะหน่วยงานรัฐให้ทุนไปโดยคาดหวังว่าจะได้บุคลากรในแบบที่ต้องการกลับมา แต่การตั้งกฎเกณฑ์ให้ยืดหยุ่นถือว่าเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ดี
เนื่องจากคนรุ่นใหม่นั้นมีความต้องการที่จะได้ทุนแบบที่ไม่มีข้อผูกมัด อาจจะต้องจัดสรรทุนให้แก่หน่วยงานที่มีความจำเป็นจริง ๆ ที่ผู้ได้รับทุนไม่รู้สึกอึดอัดใจที่จะกลับมาทำงานในหน่วยงานดังกล่าว ทางสำนักงานข้าราชการพลเรือนก็ควรสร้างกฎเกณฑ์เพื่อหาทางออกให้แก่ผู้รับทุนโดยไม่เป็นการสร้างภาระแก่ผู้รับทุนที่มากเกินไปภาระในเรื่องการใช้ทุนและภาระในเรื่องเบี้ยปรับ
ในเรื่องของเบี้ยปรับนั้น รศ.ดร.ต่อพงศ์เล่าว่า ตามความเห็นของศาลมองว่าเบี้ยปรับ 3 เท่าถือว่าไม่สูงเกินไป ไม่เช่นนั้นแผนพัฒนาบุคลากรของหน่วยงานรัฐก็จะสำเร็จได้ยาก เนื่องจากคนที่ได้ทุนอาจไม่ยอมเข้ามาทำงานรับราชการ แต่จะเลือกเสียเบี้ยปรับแทนซึ่งจะทำให้ภาครัฐขาดบุคลากรตามวัตถุประสงค์ของทุน ซึ่งยังคงมีความเห็นที่หลากหลายว่าเบี้ยปรับที่เหมาะสมควรจะเป็นเท่าใด
เบี้ยปรับที่สูงเกินไป จะทำให้ผู้รับทุนไม่มีสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของตัวเองได้เพราะจะต้องทำงานในที่ที่กำหนดไปเป็นระยะเวลายาวนานซึ่งอาจดูเกินสมควรไปเหมือนกัน จึงต้องมาถกเถียงกันว่าตัวเลขที่เหมาะสมที่พอจะทำให้ผู้รับทุนสามารถเปลี่ยนชีวิตของตัวเองในกรณีจำเป็นโดยการเลือกที่จะจ่ายเบี้ยปรับได้นั้นคือเท่าใด
เบี้ยปรับ 3 เท่านั้นก็อาจจะสร้างความไม่เท่าเทียมให้แก่ผู้รับทุนเช่นกัน เนื่องจากในสถานที่ที่ผู้รับทุนไปเรียนในแต่ละที่นั้นมีค่าเงินที่ถูกแพงต่างกัน ในบางที่เช่นยุโรป หรืออเมริกาอาจจะใช้เงินเป็นจำนวนมากจนทำให้เบี้ยปรับมีจำนวนมากกว่าของผู้ที่ไปเรียนในประเทศอื่น ๆ จนทำให้ไม่สามารถจ่ายเบี้ยปรับได้ไหวเพราะมีจำนวนมาก
ซึ่งจะเสียเปรียบกว่าผู้ที่ต้องเสียเบี้ยปรับจำนวนน้อยกว่า เพราะมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเองได้มากกว่า แต่ส่วนตัวก็เข้าใจถึงความจำเป็นของรัฐเช่นกันว่าจำเป็นต้องกำหนดเบี้ยปรับที่สูงเพื่อจะต้องรักษาบุคลากรไว้