นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย เปิดเผยว่า ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 นี้ คณะกรรมการเตรียมนัดหารือแนวทางการแก้ปัญหาหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งจะมีการคำนวณภาระหนี้ของลูกหนี้ใหม่ลดลงจากเดิม เพื่อให้เป็นไปพ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ซึ่งมีผลบังคับเมื่อเดือนมีนาคม 2566
“คณะกรรมการจะเร่งรัดการคำนวณภาระหนี้ใหม่ ตามกฎหมายฉบับใหม่กำหนดไว้ โดยจะทำให้ลูกหนี้กยศ. 3.8 ล้านคน รวมทั้งผู้ค้ำประกัน 2.4 ล้านคน ซึ่งมีมูลหนี้ประมาณ 1 ล้านล้านบาท จะได้ประโยชน์ เช่น ถ้าคำนวณตามภาระเดิมอาจจะมีหนี้หลักแสนบาท แต่ถ้าคำนวณใหม่หนี้อาจจะเหลือไม่กี่บาทหรืออาจจะหมดไปแล้วด้วย และน่าจะทำให้มูลหนี้ลดลงกว่าครึ่งด้วย” นายกิตติรัตน์ ระบุ
รัฐบาลเคาะแล้ว ลดหนี้กยศ. คำนวณยอดใหม่ ประเดิม 8.6 หมื่นคน ปี 2566
นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.ฉบับใหม่ มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการคิดอัตราดอกเบี้ยของผู้กู้ต่ำกว่าเดิม พร้อมทั้งให้คำนวณย้อนหลังได้ ซึ่งจะทำให้ลูกหนี้ กยศ.ได้ประโยชน์มากขึ้น โดยจะคิดเฉพาะลูกหนี้ที่ยังมีบัญชีหนี้กับกยศ. อยู่เท่านั้น ดังนั้นเมื่อลูกหนี้บางคนที่มียอดหนี้อยู่หากคำนวณแล้วมีการจ่ายเงินเกินมาก็อาจได้รับเงินคืนด้วย ซึ่งแนวทางทั้งหมดจะเสนอให้กับคณะกรรมการร่วมกันพิจารณา
ขณะเดียวกันคณะกรรมการฯ ยังพร้อมพิจารณาขยายแนวทางการช่วยเหลือให้ครอบคลุมลูกหนี้กลุ่มอื่น นอกเหนือจาก กยศ. เช่น ข้าราชการ ครู และตำรวจ ด้วย
ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ. กยศ. ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2566 เป็นต้นมา มีสาระสำคัญคือ กำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไม่เกิน 1% ต่อปี กรณีผิดนัดชำระลดอัตราเบี้ยปรับเหลือไม่เกิน 0.5% ต่อปี และไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันในทุกกรณี
พร้อมทั้งลำดับการตัดชำระหนี้ใหม่ ซึ่งกำหนดให้นำเงินที่ผู้กู้ยืมเงินชำระไปหักต้นเงินเฉพาะส่วนที่ครบกำหนด ดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่นใด และเงินเพิ่มตามลำดับ ปัจจุบันกองทุนอยู่ระหว่างปรับปรุงระบบการตัดชําระหนี้เพื่อให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
ทั้งนี้ เมื่อระบบเสร็จสมบูรณ์แล้วกองทุนจะนำยอดรับชำระเงินทุกรายการตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2566 มาคำนวณการรับชำระใหม่อีกครั้งและปรับข้อมูลให้ถูกต้อง โดยจะนำเงินที่ได้รับมาหักต้นเงินเฉพาะส่วนที่ครบกำหนด ดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่นใดและเงินเพิ่มตามลำดับ และจะคำนวณเบี้ยปรับใหม่ จากเดิม 7.5% เหลือเพียง 0.5% เท่านั้น