”เสรีพิศุทธ์“ ฟันธง“ย้ายบิ๊กต่อ-บิ๊กโจ๊ก” แค่ละคร เกี๊ยะเซี้ย

22 มี.ค. 2567 | 11:54 น.
อัปเดตล่าสุด :22 มี.ค. 2567 | 12:37 น.

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย และอดีต ผบ.ตร. ซัดคำสั่งนายกฯ เด้ง บิ๊กต่อ บิ๊กโจ๊ก แค่เล่นละคร เกี๊ยะเซี้ย สุดท้ายเกมเจ๊ากันไป ไร้คนผิด สังคมลืม

คำสั่งนายกรัฐมนตรี 3 ฉบับ ที่ลงนามโดยนายเศรษฐา ทวีสิน เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567 มีผลให้ บิ๊กต่อ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และบิ๊กโจ๊ก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ต้องมาช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรี และให้พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพชร รองผบ. ตร. รักษาการแทนผบ.ตร. รวมทั้งมีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย เพื่อหาข้อเท็จจริงแล้วรายงานนายกรัฐมนตรีภายใน 60 วัน

ฐานเศรษฐกิจ สัมภาษณ์พิเศษ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย และอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ต่อกรณีที่เกิดขึ้น ได้ความเห็นว่า รูปแบบการดำเนินการในลักษณะมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และย้ายคู่พิพาทไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกฯเสียก่อนในเบื้องต้น แต่ผลสรุปของการดำเนินการครั้งนี้เชื่อว่า จะไม่มีคนผิด เจ๊ากันไป เป็นการเกี๊ยเซี้ยกัน

เมื่อคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงทำงานเสร็จเรียบร้อย ผลปรากฎว่าไม่มีใครผิด ทั้งคู่กลับเข้าดำรงตำแหน่งเดิม เมื่อถึง 30 กันยายน พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ก็เกษียณไป  ส่วนพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ก็เตรียมขึ้นตำแหน่ง ผบ.ตร. ขึ้นอยู่กับว่านายกฯ จะเลือกหรือไม่ ส่วนประชาชนก็ถือว่าได้ดูละคร

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ออกคำสั่งเด้งคู่ บิ๊กต่อ บิ๊กโจ๊ก

พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ กล่าวว่า ก่อนที่จะมีคำสั่งนายกรัฐมนตรี ย้ายพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ และพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เข้ามาปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีนั้น เชื่อว่าต้องมีการหารือกันก่อนแล้วว่า จะทำอย่างไรกับข้อขัดแย้งนี้ เพราะต่างก็ใหญ่ด้วยกันทั้งคู่ และหากนายกรัฐมนตรีไม่ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด ก็จะเกิดความเสียหายแก่ตัวนายกฯ เองด้วย 

ส่วนตัวนายกฯ ก็รู้กันอยู่แล้วว่าไม่ได้มีอิสระในการทำงานมากมายนัก การตัดสินใจครั้งนี้จึงย่อมเกิดจากการปรึกษาหารือกับผู้มีอำนาจต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ถือเป็นบุคคลที่มีความไม่ธรรมดา ไม่เช่นนั้นคงไม่สามารถขึ้นมาดำรงตำแหน่งผบ.ตรได้ ทั้งที่มีอาวุโสน้อยที่สุด แต่สามารถก้าวข้ามผู้อื่นได้มาทุกปี จึงถือว่าไม่ธรรมดา 

ซึ่งระยะเวลาสอบสวน 60 วัน ที่สามารถขยายได้นี้ ควรต้องมีผลการสอบสวนออกมาก่อนวันที่ 30 กันยายน เพราะหาก พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ เกษียณไปแล้ว ก็จะไม่สามารถตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยได้หากพบว่ามูลมีการกระทำความผิด 

ในส่วนของการตรวจสอบโดยคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงนั้น ต้องพิจารณาว่า มีการสอบสวนในส่วนใดบ้าง เพราะมีทั้งกรณีที่มีการกล่าวหา พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ว่ากระทำความผิดเกี่ยวข้องกับเว็บพนันออนไลน์ จนกระทั่งส่งเรื่องไปถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ทั้งยังมีการดำเนินคดีโดย สน.เตาปูน จนกระทั่งมีการขอให้ศาลออกหมายจับ แต่ศาลไม่ได้ออกให้ สุดท้ายจึงเป็นการออกหมายเรียกโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติแทน 

บิ๊กโจ๊ก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.

และยังมีประเด็น ที่ลูกน้องของพล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ออกมาแฉกลับ ว่ามีนายพล ต. ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นต่อศักดิ์หรือไม่ มีภรรยา และเครือญาติเข้าไปเอี่ยวกับเว็บพนันออนไลน์ด้วยเช่นเดียวกัน จึงต้องติดตามต่อไปว่า การทำงานของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงนี้ จะอยู่ภายใต้อิทธิพลใครหรือไม่ และจะทำความจริงให้ปรากฏได้หรือไม่

ในส่วนของ  พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ และพล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ก็ได้มีการเจรจากันหลังจากที่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลต่างๆออกมา ในลักษณะต่างฝ่ายต่างต่างกล่าวหากัน ท้ายที่สุดจึงปรากฏเป็นภาพการแถลงข่าวร่วมกัน ว่าไม่มีอะไร ไม่มีการดำเนินคดีใครอีกแล้ว ภาพเหล่านี้ทำให้ประชาชนเกิดความงุนงง

บิ๊กต่อ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ บิ๊กโจ๊ก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.  แถลงข่าวยุติความขัดแย้ง

อย่างไรก็ตามเมื่อมีมูลอยู่แล้ว ควรต้องหาความจริงมาชี้แจงกับประชาชนให้ได้ว่า ใครคือผู้อยู่เบื้องหลังเว็บพนัน มีพยานหลักฐานใดบ้าง และสมควรมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัย หรือดำเนินคดีอาญากับใครบ้าง เว้นเสียแต่ว่าคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงจะถูกกำกับมาแล้ว ว่าให้สอบสวนแค่ไหน แล้วเลิกกันไป ซึ่งไม่ทราบเลยว่าผู้มีอำนาจจะมีการพูดคุยกันไว้แค่ไหน

ในช่วงท้ายของการสนทนา พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ได้กล่าวถึงที่มาของปัญหาความขัดแย้งในสตช. ซึ่งในครั้งนี้ถือว่ารุนแรงมากที่สุดว่า เกิดมาจาก พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565  ที่ทำให้เกิดปัญหาตั้งแต่การตั้งผบ.ตร.คนแรก เพราะไม่ได้ยึดการแต่งตั้งตามลำดับอาวุโส 

ซึ่งหากมีการแต่งตั้ง พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ ซึ่งมีอาวุโสสูงสุด ให้ได้ขึ้นตำแหน่ง ผบ.ตร. ก็จะไม่เกิดปัญหาเช่นทุกวันนี้ เพราะอาวุโสในลำดับถัดๆไป ก็เข้าใจลำดับของการแต่งตั้ง 

แต่เมื่อมีการตั้งอาวุโสลำดับที่ 4 ขึ้นเป็น ผบ.ตร. ได้ ก็ส่งผลให้ผู้ที่มีอาวุโสในลำดับที่น้อยกว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ มีความหวังว่าตนเองก็สามารถขึ้นเป็น ผบ.ตร. ได้เช่นกันโดยไม่ต้องคำนึงถึงลำดับความอาวุโส 

อีกทั้งการกำหนดคุณสมบัติผู้ที่ถูกแต่งตั้งให้เป็น ผบ.ตร. ว่าต้องคำนึงถึง ความอาวุโส และความรู้ความสามารถด้านการสืบสวนสอบสวน ป้องกันปราบปรามอาชญากรรมประกอบการนั้น ถือว่าเป็นการออกกฏหมายที่ไม่ถูกต้อง

ดังนั้นผู้นำจึงต้องบริหารด้วยความรอบคอบ ไม่ใช่ทำตามสั่งอย่างเดียว ส่วนผบ.ตร. ก็ต้องเป็นนักบริหาร ทำหน้าที่หลักเรื่องของการบริหาร ไม่ใช่ลงไปทำงานสืบสวนสอบสวน ปราบปรามโจรผู้ร้าย เพราะงานปราบปรามโจรผู้ร้ายควรเป็นของ ระดับผู้บัญชาการ(ผบช.) ผู้การ และผู้กำกับโรงพักนั้นๆ ลงไป 

ผบ.ตร. ต้องเป็นนักบริหาร ทำอย่างไรให้ตำรวจมีคุณภาพ มีคุณวุฒิสูง มีสวัสดิการที่ดีขึ้น มีเงินเดือนสูงขึ้น มีที่พักที่อยู่อาศัย มีเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยในการทำงาน ควรต้องปรับโครงสร้างให้สอดคล้องกับ ศาล และอัยการด้วย เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ เรียกว่าเป็นการทำหน้าที่ให้ถูกตำแหน่ง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับองค์กร และประชาชน