จากกรณีการขุดและขนย้ายกากแร่ปนเปื้อนสารแคดเมียมจำนวนมากกว่า 1.3 หมื่นตัน มีความเสี่ยงสูงต่อชีวิตของประชาชนและสิ่งแวดล้อม โดยปัจจุบันตรวจพบสารแคดเมียมในร่างกายคนงานและชาวบ้านเกินเกณฑ์มาตรฐานรวมมากกว่า 20 ราย ในขณะที่ยังพบว่ามีสารแคดเมียมปนเปื้อนอยู่ตามพื้นดิน บางส่วนรั่วไหลหรือ ฟุ้งกระจายในระหว่างการขนส่ง และยังอาจแพร่กระจายจากการเก็บสารพิษนี้ตาม “โรงหลอม” ซึ่งสร้าง ความหวาดวิตกว่าจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนอย่างรุนแรงในอนาคต
กรณีดังกล่าวเป็นความผิดทางกฎหมายอย่างน้อย 4 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ. โรงงานฯ พ.ร.บ. แร่ฯ พ.ร.บ. วัตถุอันตรายฯ และการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ภายใต้ พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ ซึ่งอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของหน่วยงานภาครัฐหลายแห่ง เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัด เจ้าหน้าที่ตำรวจ ฯลฯ
อย่างไรก็ดี มาตรการและหรือแนวทางการจัดการเรื่องดังกล่าวของรัฐบาล รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในปัจจุบัน ยังไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนได้อย่างชัดเจนโปร่งใส ทั้งการเปิดเผยข้อเท็จจริงครบถ้วนทุกขั้นตอนและหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในแต่ละขั้นตอนตั้งแต่การออกใบอนุญาตที่เกี่ยวข้อง การทำลายฝังกลบ การขนย้าย รวมถึงส่วนที่อาจมีการกระทำโดยลักลอบ การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายในเหตุการณ์นี้ การจัดการกากแร่ปนเปื้อนสารแคดเมียมอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการบริหารจัดการความเสี่ยงในอนาคตไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ จึงมีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบอย่างเร่งด่วนเป็นรูปธรรมและโปร่งใส ที่ทำให้ประชาชนมั่นใจว่าจะหยุดการแพร่กระจายของสารพิษดังกล่าว และไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก ดังนี้
1. ขอให้นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรที่เกี่ยวข้องและมีหน้าที่รับผิดชอบต่อวิกฤตครั้งนี้ ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ชี้แจงให้ประชาชนทราบถึงสาเหตุและแนวทางแก้ไข พร้อมมาตรการป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต รวมทั้งการนำเข้าขยะที่ก่อมลพิษจากต่างประเทศภายในเดือนพฤษภาคมนี้
2. บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและลงโทษผู้เกี่ยวข้องที่ทำผิดกฎหมายครั้งนี้อย่างเด็ดขาดเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง ทั้งภาครัฐที่ปล่อยปละละเลยให้เกิดเหตุการณ์ครั้งนี้ ภาคเอกชน และชาวต่างชาติที่อาศัย ช่องโหว่ของกฎหมายและอามิสสินจ้างเพื่อประโยชน์ส่วนตน และสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน
3. เร่งรัดพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. การรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ (PRTR)
จดหมายเปิดผนึกระบุอีกว่า โปรดพิจารณาข้อเรียกร้องขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ข้างต้น อันเป็นแนวทาง การจัดการที่สามารถปฏิบัติและดำเนินการได้ทันที และจะนำไปสู่การสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนว่ารัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐมีความมุ่งมั่นในการจัดการเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ ไม่ยอมให้ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งทิ้งขยะของโลกเพียงเพราะเห็นแก่ผลประโยชน์ทางธุรกิจ ภายใต้การคำนึงถึงประโยชน์สุขสูงสุดของประชาชน