ล่าสุดสถานการณ์ความขัดแย้งในวงการสีกากี ดูจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย โดยล่าสุด (25 เม.ย. 2567) "บิ๊กโจ๊ก" พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รองผบ.ตร.) ได้เดินทางไปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนกับ คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ผ่านสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.) ขอให้เพิกถอนคำสั่งให้ออกจากราชการ
เนื่องจากเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พร้อมเปิดเผยผ่านสื่อมวลชนว่า เป็นขบวนการทำให้ตนหลุดจากเก้าอี้ ผบ.ตร. พร้อมเตือนว่าคุกรออยู่แน่นอน ท่านเหลือเวลาอีก 2 ปี ต้องสู้อีกยาวนาน
ฐานเศรษฐกิจ สัมภาษณ์พิเศษ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ อดีตรอง ผบ.ตร. และ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ เสียงเดียวที่ไม่เห็นชอบให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ขึ้นดำรงรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เมื่อถามถึงสาเหตุ พล.ต.อ.เอก เปิดเผยว่า ในหลักการการแต่งตั้งผบ.ตร.นั้น ต้องคำนึงถึงอาวุโสความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ ในงานสืบสวนสอบสวน ป้องกันและปราบปราม ซึ่งในขณะนั้นพล.ต.อ.ต่อศักดิ์เป็นผู้ที่มีอาวุโสต่ำที่สุด ในบรรดาแคนดิเดตทั้ง 4 ท่าน
โดยอายุราชการปกติแล้ว จะดำรงตำแหน่งรองผบ.ตร. แล้วขึ้นสู่แคนดิเดตผบ.ตร.จะอยู่ที่ 35 ปี ในขณะที่อายุราชการของพล.ต.อ.ต่อศักดิ์มีเพียง 21 ปี และยังอยู่ในอาวุโสลำดับสุดท้าย ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลส่วนตัวที่ไม่เห็นด้วยกับการที่นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เสนอชื่อพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ให้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. ในขณะนั้น แต่อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าวได้ผ่านพ้นมาแล้ว และไม่เห็นประโยชน์ที่จะนำมา พิจารณาถึงความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ณขณะนี้
สำหรับข้อวิพากษ์วิจารณ์ถึงปัญหาในการแต่งตั้ง ผบ.ตร. อันนำมาสู่สถานการณ์ในขณะนี้ และควรต้องมีการปฏิรูปตำรวจนั้น พล.ต.อ.เอก ได้กล่าวถึงความพยายามปรับปรุงกระบวนการแต่งตั้งที่ผ่านมาว่า ได้มีความพยายามผลักดัน แก้ไขอำนาจนายกฯ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งผบ.ตร. มาโดยตลอด แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ซึ่งเป็นการลดอำนาจนายกรัฐมนตรีลงจึงไม่ใช่เรื่องง่าย
เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นคือการใช้ดุลยพินิจในการพิจารณา โดยที่ผ่านมาเคยมีแนวความคิดว่าการบริหารงานบุคคลควรต้องปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง ดังนั้นจึงต้องพิจารณาไปที่โครงสร้างคณะกรรมการก.ตร. ซึ่งหากต้องการลดข้อครหาว่าการเมืองเข้ามาแทรกแซง นายกฯจึงควรดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติเพียงตำแหน่งเดียว
ส่วนประธานก.ตร. ซึ่งต้องทำหน้าที่แต่งตั้งผบ.ตร. ควรต้องยึดแนวทางเดียวกันกับหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมอื่นๆเช่นศาล อัยการ คือให้บุคลากรภายในองค์กรเป็นประธานในการแต่งตั้ง ก็จะตอบโจทย์ในข้อห่วงใยเรื่องการเมืองเข้ามาแทรกแซงได้
นอกจากนั้นการคัดเลือกผบ.ตร. มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีข้อมูลตัวบุคคลที่จะขึ้นมาดำรงตำแหน่ง ดังนั้นการให้นายกฯ เป็นผู้ใช้ดุลยพินิจตรงนี้ ก็มีความเสี่ยงที่จะถูกข้อครหาว่ามีการเมืองเข้ามาแทรกแซงการแต่งตั้งผบ.ตร.ได้ ซึ่งสิ่งนี้เป็นข้อกล่าวหามาโดยตลอด และปรากฏข้อเท็จจริงอยู่เป็นระยะๆ
แต่อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าในปัจจุบันได้มีการปฏิรูปตำรวจแล้วบางส่วน โดยผลของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ซึ่งถูกระบุไว้ในมาตรา 258 ข้อ ง) ว่าด้วยขบวนการยุติธรรม ให้ปฏิรูปตำรวจ และได้มีการปฏิรูปตำรวจในพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ 2565 ซึ่งมีการปฏิรูปในส่วนการบริหารงานบุคคลแล้วในระดับหนึ่ง แม้จะยังไม่สามารถตอบโจทย์การแก้ปัญหาตำรวจได้ในทุกมิติ แต่ก็ถือว่าได้มีการปฏิรูปไปบางส่วนแล้ว
ตัวอย่างของการปฏิรูปตำรวจที่เกิดขึ้นแล้วอย่างเป็นรูปธรรม คือ การเพิ่มคณะกรรมการขึ้นมาอีก2 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) และคณะคณะกรรมการพิจารณาพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) จากเดิมที่เคยมีเพียงแค่ คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เท่านั้น
สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกรณีของบิ๊กโจ๊ก และแวดวงตำรวจในขณะนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนให้เกิดการปฏิรูปตำรวจอย่างจริงจัง เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในวงการสีกากีหรือไม่นั้น พล.ต.อ.เอก ให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาเพราะ ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเกิดจากการกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจกระทำความผิด ซึ่งต้องเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีและพิจารณาทางวินัย
แต่ผลของเรื่องที่เกิดขึ้นคือวิกฤติศรัทธาของประชาชนต่อองค์กรตำรวจ เพราะเป็นการกล่าวหาผบ.ตร.และรองผบ. ตร. ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับนายกฯ ในฐานะผู้รับผิดชอบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี ว่าจะมีความคิดความเห็นเพื่อ ปรับปรุงแก้ไขไม่ให้มีปัญหาลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกต่อไปอย่างไร