วัดใจนายกฯ ทูลเกล้าฯ "บิ๊กโจ๊ก" ให้ออกจากราชการไว้ก่อน

04 มิ.ย. 2567 | 02:54 น.
อัปเดตล่าสุด :04 มิ.ย. 2567 | 04:08 น.

"เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส" ชี้ความเห็นกฤษฎีกาวัดใจนายกฯ ทูลเกล้าฯ "บิ๊กโจ๊ก" พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ให้ออกจากราชการไว้ก่อน ย้ำงานนี้ต้องมีคนรับผิดชอบ ปลดป้าย-ย้ายห้องทำงาน ไม่ได้

จากกรณีสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มีบันทึกความเห็นกรณีการให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ออกจากราชการไว้ก่อน นายกฯ ต้องนำความกราบบังคมทูลให้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พ้นจากตำแหน่ง เพราะไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง ตามมาตรา 140 วรรคหนึ่ง เนื่องจากมิใช่การพ้นจากตำแหน่ง เพราะความตาย เกษียณอายุ หรือพ้นจากราชการเพราะถูกลงโทษ ด้วยเหตุที่การออกจากราชการไว้ก่อนมิใช่โทษทางวินัยตามมาตรา 1156 

และกรณีที่เห็นว่า การสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ออกจากราชการ หากเป็นความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนก็จะชอบด้วยกระบวนการตามกฎหมาย และเป็นธรรมแก่ผู้ถูกสอบสวน และการนำความขึ้นกราบบังคมทูล ตามมาตรา 140 วรรค 1 ย่อมเป็นไปด้วยความชอบธรรม 

พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย และอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ "เข้าเรื่อง" เผยแพร่ทางยูทูปฐานเศรษฐกิจ ว่าสิ่งที่ต้องติดตามต่อจากนี้คือ นายกฯจะกล้าเสนอโปรดเกล้าฯหรือไม่ ซึ่งหากนายกฯมีความคร่ำหวอดกับวงการตำรวจ หรือรู้เรื่องกฎหมายสักหน่อย เรื่องนี้จะไม่ใช่เรื่องยากเลย แต่ที่ยุ่งยากเพราะนายกฯไม่รู้เรื่อง บริหารงานผิดพลาดมาโดยตลอด

 

เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีการตีความและให้ข้อสังเกตมา จะไม่ปฏิบัติก็ได้แต่ผลของการไม่ปฏิบัติจะเป็นอย่างไรก็ต้องรับผลนั้น เพราะผลของการวินิจฉัยครั้งนี้จะต้องมีผู้รับผิดชอบ ซึ่งหากการตั้งคณะกรรมการสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 120 วรรค4 แล้วผู้รับผิดชอบคือ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. รักษาราชการแทน ผบ.ตร.เพียงคนเดียว

แต่หากก.ตร. ยืนยันในความถูกต้องของคำสั่งโดยพล.ต.อ.กิตติ์รัฐ นั่นหมายถึง ก.ตร.ทั้งหมดต้องร่วมรับผิดชอบด้วย และการที่ยังไม่ได้เสนอชื่อโปรดเกล้าฯ ย่อมส่งผลให้ชื่อของพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ยังคงเป็นรอง ผบ.ตร.อยู่ จะไปปลดป้ายชื่อ หรือย้ายห้องทำงานไม่ได้ 

ดังนั้นการที่นายกฯยังไม่ได้เสนอโปรดเกล้านั้นถือเป็นสิ่งที่ดีต่อตัวท่านเอง ฉะนั้นการที่นายกฯไม่แน่ใจแล้วเสนอให้กฤษฎีกาตีความก่อน จึงเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว แม้อาจถามไม่ตรงกับประเด็นหลัก เช่น การที่พล.ต.อ.กิตติ์รัฐตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงนั้นถูกกฎหมายแล้วหรือไม่ เป็นต้น แต่ทางกฤษฎีกาก็ได้ให้ความเห็นครอบคลุมไว้ด้วยแล้ว

พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ  มาตรา 120 วรรค4 ระบุว่า การให้ออกจากราชการไว้ก่อนต้องเป็นความคิดเห็นของพนักงานสอบสวน เพราะผู้ที่รู้ว่ากระบวนการสอบสวนต้องใช้เวลามากน้อยแค่ไหน จะแล้วเสร็จเมื่อไหร่คือพนักงานสอบสวน ซึ่งจะส่งผลต่อความจำเป็นในการให้ออกจากราชการไว้ก่อน

วัดใจนายกฯ ทูลเกล้าฯ \"บิ๊กโจ๊ก\" ให้ออกจากราชการไว้ก่อน

แต่การตั้งคณะกรรมการสอบสวนวันนี้แล้วพรุ่งนี้ให้ออกจากราชการไว้ก่อนโดยอ้างเหตุว่าการสอบสวนไม่สามารถสิ้นสุดได้โดยเร็วนั้นเป็นการคิดเอาเอง รวมถึงการให้เหตุผลว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ถูกดำเนินคดีอาญาจนถูกตั้งกรรมการสอบสวนหากให้ดำรงอยู่ในตำแหน่ง ราชการจะเกิดความเสียหายจึงให้ออกจากราชการไว้ก่อน 

ส่วนตัวมองว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากถือเป็นการคิดเอาเองโดยที่ยังไม่ปรากฏหลักฐานของการกระทำให้ราชการเสียหาย ตามที่กล่าวอ้างจึงถือว่ายังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าว

ซึ่งหากผลการประชุมของก.ตร. ออกมาว่าคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนผู้เสนอต้องเป็นกรรมการสอบสวน พล.ต.อ.กิตติ์รัฐก็ต้องยกเลิกคำสั่ง แต่หากก.ตร.พิจารณาว่าคำสั่งของพล.ต.อ.กิตติ์รัฐถูกต้องแล้ว ก็ขึ้นอยู่ที่นายกรัฐมนตรีว่าจะกล้าเสนอทูลเกล้าฯหรือไม่ 

ซึ่งผู้ที่จะต้องรับผิดชอบในกรณีนี้ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีที่จะกำหนดตัวผู้รับผิดชอบ ว่าเป็นใครบ้าง ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีเองในฐานะประธาน ก.ตร. ,พล.ต.อ.กฤติรัต , ก.ตร.ทั้งคณะ ไปจนถึงคณะพนักงานสอบสวนด้วย ที่ไม่ยอมส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และได้ขอศาลออกหมายจับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ก่อนที่จะส่งเรื่องไปยัง ป.ป.ช. ในวันถัดมา

และหากยังไม่มีการโปรดเกล้าฯให้ออกจากราชการไว้ก่อน นั่นหมายความว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ยังคงมีสิทธิเป็นแคนดิเดตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) อยู่เช่นเดิม และถือเป็นอาวุโสลำดับที่1 แต่ทั้งนี้กฎหมายกำหนดให้ นายกรัฐมนตรี เป็นผู้มีสิทธิเสนอชื่อผู้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. จึงต้องดูต่อไปว่านายกฯ จะเสนอชื่อ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หรือไม่ ซึ่งหากไม่เสนออาวุโสลำดับที่1 ก็ต้องเตรียมถูกฟ้องร้องไว้ด้วยไว้ด้วย

ทั้งนี้ หลังจากการประชุม ก.ตร.ครั้งที่ 4/2567 วันที่ 30 พ.ค.2567  นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. รักษาราชการแทน ผบ.ตร.เป็นผู้ชี้แจง ด้านพล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า การออกคำสั่งให้ออกจากราชการ พิจารณาตามข้อกฎหมาย และพิจารณาตามที่ฝ่ายอำนวยการเสนอขึ้นมา 

ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้อยู่ระหว่างต้องรอผลการพิจารณาจากคณะกรรมการชุดสืบสวน และจากคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) ในการพิจารณาตาม ม.131 เรื่องบทลงโทษ จากนั้นจะมีการพิจารณาตาม ม.140 คือ การทูลเกล้าฯ โดยพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ยังดำรงตำแหน่ง รอง ผบ.ตร.แต่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่เพราะมีคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน