ความเห็น"กฤษฎีกา"ฉบับเต็มตีความคำสั่ง ปลด "บิ๊กโจ๊ก"ออกจากราชการ

28 พ.ค. 2567 | 10:08 น.
อัปเดตล่าสุด :28 พ.ค. 2567 | 10:18 น.

เปิดเผยความเห็นกฤษฎีกาฉบับเต็ม กรณีคำสั่งปลด "บิ๊กโจ๊ก" พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ออกจากราชการไว้ก่อน พร้อมสรุป ขั้นตอน ประเด็นทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

เปิดหนังสือนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ลงนามในบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตอบความเห็น สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีมีหนังสือ หารือคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับการให้ข้าราชการตำรวจออกจากราชการไว้ก่อน กรณีสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีคำสั่งให้ บิ๊กโจ๊ก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ซึ่งตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติออกจากราชการ ไว้ก่อนเพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณาทางวินัย มีรายละเอียด ดังนี้

เรื่องเสร็จที่ 367/2567

บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับการให้ข้าราชการตำรวจออกจากราชการไว้ก่อน

สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีมีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ นร 0403 (กน)/5466 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปความได้ว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีคำสั่งให้ข้าราชการตำรวจตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติออกจากราชการ ไว้ก่อนเพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณาทางวินัย โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 105 มาตรา 108 มาตรา 131 และมาตรา 179 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565

ประกอบกับข้อ 8 แห่งกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการสั่งพักราชการและการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน พ.ศ. 2547 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 และโดยที่ มาตรา 140 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 บัญญัติว่า การพ้น จากตำแหน่งของข้าราชการตำรวจตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จเรตำรวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือตำแหน่งเทียบเท่า ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงมี พระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง เว้นแต่กรณีที่พ้นจากตำแหน่งเพราะความตาย เกษียณอายุ หรือพ้นจากราชการเพราะถูกลงโทษ

ประกอบกับข้อ 11 แห่งกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการสั่งพักราชการ และการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนฯ กำหนดว่า การสั่งให้ข้าราชการตำรวจตำแหน่งรองผู้บัญชาการ ตำรวจแห่งชาติออกจากราชการไว้ก่อน ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้ พ้นจากตำแหน่งตั้งแต่วันออกจากราชการไว้ก่อน

สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีจึงขอหารือว่า นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 140 วรรคหนึ่ง และมาตรา 179 แห่งพระราชบัญญัติ ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ประกอบกับข้อ 11 แห่งกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการสั่งพักราชการและการสั่งให้ ออกจากราชการไว้ก่อนฯ โดยนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้ข้าราชการตำรวจ รายดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งหรือไม่ และจะต้องดำเนินการเมื่อใด

คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) ได้พิจารณาข้อหารือของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีโดยมีผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และสำนักงาน ก.พ.) และผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว

ปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมตามคำชี้แจงของผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า กรณีตามข้อหารือนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้าราชการตำรวจรายดังกล่าวตามมาตรา 105 มาตรา 108 มาตรา 119 และมาตรา 179 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติพ.ศ. 2565 ในวันเดียวกันกับวันที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีคำสั่งให้ข้าราชการตำรวจรายดังกล่าวออกจากราชการไว้ก่อน

นอกจากนี้ ปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมตามคำชี้แจงของผู้แทนสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีว่า ข้าราชการตำรวจรายดังกล่าวได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจแล้ว

คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) พิจารณาข้อหารือและข้อเท็จจริงเพิ่มเติมดังกล่าวแล้วเห็นว่า ข้อหารือนี้มีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า เมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ข้าราชการตำรวจตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติออกจากราชการไว้ก่อน นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้ข้าราชการตำรวจรายดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งตั้งแต่วันออกจากราชการไว้ก่อน ตามมาตรา 140 วรรคหนึ่ง และมาตรา 179 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565

ประกอบกับข้อ 11 แห่งกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการสั่งพักราชการและการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน พ.ศ. 2547 หรือไม่ และจะต้องดำเนินการเมื่อใด ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) เห็นว่า มาตรา 131 วรรคหก แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 บัญญัติให้การสั่งให้ข้าราชการตำรวจซึ่งมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งกรรมการสอบสวน หรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาหรือถูกฟ้องคดีอาญา ออกจากราชการไว้ก่อน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดในกฎ ก.ตร. ซึ่งปัจจุบัน ก.ตร. ยังไม่ได้ออกกฎ ก.ตร.

เมื่อมีการดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการตำรวจซึ่งถูกสั่งพักราชการหรือสั่งให้ออกจากราชการ ไว้ก่อนแล้วเสร็จ ให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา 105 สั่งลงโทษตามความร้ายแรงแห่งกรณี ถ้ามีเหตุอันควรลดหย่อน จะนำมาประกอบการพิจารณาลดโทษก็ได้ และให้มีคำสั่งลงโทษย้อนหลังไปถึงวันที่ถูกสั่งพักราชการหรือถูกสั่ง ให้ออกจากราชการไว้ก่อน

เงินเดือน เงินอื่นที่จ่ายเป็นรายเดือน และเงินช่วยเหลืออย่างอื่น และการจ่ายเงินดังกล่าวของผู้ถูกสั่งพักราชการและผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ให้เป็นไปตามกฎหมายหรือระเบียบว่าด้วยการนั้น หลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการสั่งพักราชการ การสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ระยะเวลาให้พักราชการและให้ออกจากราชการไว้ก่อน ตามมาตรานี้ด้วยโดยอนุโลม แต่ระยะเวลาให้นับแต่วันที่พ้นจากราชการด้วยเหตุอื่นที่มิใช่เหตุการณ์สั่งให้ออกจากราชการ ไว้ก่อนในเรื่องดังกล่าว

แต่มาตรา 139 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ได้บัญญัติรองรับไว้ว่า ในระหว่างที่ยังมิได้ออกกฎ ก.ตร. ให้นำกฎ ก.ตร. ซึ่งใช้อยู่เดิมมาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับ พระราชบัญญัตินี้ ด้วยเหตุนี้ การดำเนินการเกี่ยวกับการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน จึงต้องดำเนินการ ตามกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการสั่งพักราชการและการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน พ.ศ. 2547 ที่ออกโดยอาศัย อำนาจตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 และใช้บังคับอยู่เดิมต่อไป เท่าที่ไม่ขัด หรือแย้งกับพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565

กรณีจึงต้องพิจารณาต่อไปว่า ข้อ 11 แห่งกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการสั่งพักราชการ และการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนฯ ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ในการสั่งให้ข้าราชการตำรวจตำแหน่ง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติออกจากราชการไว้ก่อน ให้ต้องนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงมี พระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่งตั้งแต่วันออกจากราชการไว้ก่อน ขัดหรือแย้งกับ พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 หรือไม่

ซึ่งมีความเห็นว่า เมื่อมาตรา 140 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 บัญญัติหลักการเกี่ยวกับการพ้นจากตำแหน่ง ของข้าราชการตำรวจตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติว่า จะต้องนำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง เว้นแต่กรณีที่พ้นจากตำแหน่งเพราะความตาย เกษียณอายุ หรือพ้นจากราชการเพราะถูกลงโทษ

ซึ่งส่งผลให้การสั่งให้ข้าราชการตำรวจตำแหน่ง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติออกจากราชการไว้ก่อน เพื่อรอผลการสอบสวนพิจารณาทางวินัย ไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง ตามมาตรา 140 วรรคหนึ่ง

เนื่องจากมิใช่การพ้นจากตำแหน่งเพราะความตาย เกษียณอายุ หรือพ้นจาก ราชการเพราะถูกลงโทษ ด้วยเหตุที่การออกจากราชการไว้ก่อนมิใช่โทษทางวินัยตามมาตรา 115 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565

จึงเห็นว่า ข้อ 11 แห่งกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการสั่ง พักราชการและการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนฯ มิได้ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ดังนั้น ในการสั่งให้ข้าราชการตำรวจตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ออกจากราชการไว้ก่อนตามข้อหารือนี้จึงต้องดำเนินการตามข้อ 11 แห่งกฎ ก.ตร. ดังกล่าว

กล่าวคือ นายกรัฐมนตรีจะต้องนำความกราบบังคับทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้ข้าราชการตำรวจ ตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติรายดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งตั้งแต่วันออกจากราชการไว้ก่อน

สำหรับกรอบระยะเวลาที่จะต้องนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการ ให้ข้าราชการตำรวจรายดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งนั้น เมื่อพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ไม่ได้บัญญัติระยะเวลาที่จะต้องดำเนินการในกรณีนี้ไว้ จึงเป็นดุลพินิจของนายกรัฐมนตรีที่จะต้อง พิจารณาดำเนินการด้วยความรอบคอบภายในระยะเวลาอันเหมาะสมตามควรแก่กรณีต่อไป

อนึ่ง คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) มีข้อสังเกตว่า ในการนำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้ข้าราชการตำรวจรายใดพ้นจากตำแหน่งนั้น โดยที่นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ นายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงมีหน้าที่ต้องตรวจสอบ และรับรองความถูกต้องของการสั่งให้ข้าราชการรายดังกล่าวออกจากราชการไว้ก่อนอย่างรอบคอบ ให้เป็นที่ยุติเสียก่อน

เมื่อในกรณีนี้ พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ที่ใช้บังคับในปัจจุบัน มีผลเป็นการปรับปรุงบทบัญญัติขึ้นใหม่จากที่เคยบัญญัติไว้แต่เดิมในพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 หลายประการ โดยมีเจตนารมณ์สำคัญเพื่อให้การจัดระเบียบข้าราชการตำรวจเป็นไปตาม หลักนิติธรรมและเกิดความเป็นธรรม

ดังจะเห็นได้จากคำปรารภของพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 และมาตรา 60 ที่ได้บัญญัติหลักการใหม่ให้การจัดระเบียบข้าราชการตำรวจคำนึงถึง ระบบคุณธรรม มาตรา60 (4) บัญญัติให้การดำเนินการทางวินัยต้องเป็นไปด้วยความยุติธรรม และโดยปราศจากอคติ

รวมทั้งการบัญญัติให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ และคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการพิทักษ์ระบบคุณธรรม และพิจารณาเรื่องร้องเรียน ประกอบกับมาตรา 120 วรรคสี่ ได้เพิ่มหลักการใหม่นอกเหนือจาก มาตรา 131 วรรคหนึ่ง โดยบัญญัติว่า ในระหว่างการสอบสวน จะนำเหตุแห่งการถูกสอบสวน มาเป็นข้ออ้างให้กระทบสิทธิของผู้ถูกสอบสวนไม่ได้

เว้นแต่ผู้บังคับบัญชาจะสั่งพักราชการหรือ สั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสอบสวน ซึ่งในกรณีนี้คำสั่งแต่งตั้ง คณะกรรมการสอบสวนมีขึ้นในวันเดียวกันกับวันที่มีคำสั่งให้ข้าราชการตำรวจออกจากราชการไว้ก่อน และการสอบสวนย่อมเป็นการกระทบสิทธิหลายประการของผู้ถูกสอบสวน

กรณีจึงเห็นได้ว่า การสั่งให้ข้าราชการตำรวจรายนี้ออกจากราชการไว้ก่อน หากเป็นการปฏิบัติตามคำแนะนำของ คณะกรรมการสอบสวนที่ตั้งขึ้นย่อมจะทำให้การพิจารณาเหตุแห่งการกระทบสิทธิของผู้นั้นและ ความจำเป็นที่จะต้องสั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการไว้ก่อนชอบด้วยกระบวนการตามกฎหมายและเป็นธรรมแก่ผู้ถูกสอบสวน และการนำความกราบบังคมทูลตามมาตรา 140 วรรคหนึ่ง ย่อมเป็นไป ด้วยความชอบธรรม

(นายปกรณ์ นิลประพันธ์) เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พฤษภาคม 2567